คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2710/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การกำหนดเงินค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนนั้นจะต้องกำหนดโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21(1) ถึง (5) บัญญัติไว้ประกอบกัน การที่ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยเพิ่มเงินค่าทดแทน ให้แก่โจทก์โดยอาศัยราคาประเมินจากสำนักงานกลางประเมินการจัดหาที่ดินเพื่อกิจการของรัฐ กรมที่ดิน และอาศัยราคาซื้อขายที่ดินข้างเคียงที่อยู่ตรงกันข้ามกับที่ดินของโจทก์ที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดขณะนั้นมาเป็นเกณฑ์พิจารณา นับว่าได้นำหลักฐานทั้ง 5 ประการตามมาตรา 21(1) ถึง (5) มาพิจารณาประกอบแล้วจึงเป็นราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์ โจทก์มิได้อุทธรณ์ขอค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลงและค่าทดแทนความเสียหายที่ต้อง ขาดประโยชน์ในที่ดินที่ต้องเวนคืนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการ เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 25 บัญญัติบังคับไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องเรียกค่าทดแทนทั้งสองจำนวนดังกล่าวเอาแก่จำเลย โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 7 เป็นเจ้าของ กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่จะต้องเวนคืนโดยมิได้มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัด โจทก์ทุกคนจึงมีส่วนเป็นเจ้าของทุกส่วนรวมกัน เมื่อโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 7ใช้สิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องเวนคืนมาจำนวนเดียวกัน โดยมิได้แบ่งแยกว่าแต่ละคนมีสิทธิได้เงินจำนวนเท่าใด อันเป็นการใช้สิทธิร่วมกันมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะตัว จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลรวมกันในอัตราสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อมีการเก็บค่าขึ้นศาลเกินกว่าฝ่ายโจทก์จะต้องเสีย จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในส่วนที่เรียกเก็บเกินให้แก่ฝ่ายโจทก์ตามส่วนที่โจทก์แต่ละคนเสียเกินมา

ย่อยาว

โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 7เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1785 เนื้อที่ 1 งาน28 ตารางวา โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่ 1787, 1801 และ 1802 เนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน60 ตารางวา, 3 งาน 60 ตารางวา และ 1 ไร่ 3 งาน 48 ตารางวาตามลำดับ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2534 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2534 เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ ทำให้ที่ดินทั้งสี่แปลงของโจทก์ทั้งเจ็ดถูกเวนคืนบางส่วน จำเลยทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้ตารางวาละ 50,000 บาท สำหรับโฉนดเลขที่ 1787 เนื้อที่ 2 ไร่43 ตารางวา และโฉนดเลขที่ 1802 เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 37 ตารางวาเป็นเงินจำนวน 42,150,000 บาท และ 31,850,000 บาท ตามลำดับให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 1785 ของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 7 และที่ดินโฉนดเลขที่ 1801ของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ถูกเวนคืนทั้งหมดเป็นเงินค่าทดแทนจำนวน 6,400,000 บาท และ 18,000,000 บาท ตามลำดับโจทก์ทั้งเจ็ดเห็นว่าการกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดทั้งสี่แปลงของจำเลยทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมจึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดทั้งสี่แปลงเป็นที่ดินผืนใหญ่มีเนื้อที่ที่ติดต่อกันมีถนนเข้าออกได้ทุกแปลง โจทก์ทั้งเจ็ดได้ร่วมกันทำประโยชน์เป็นตลาดสดและกลุ่มอาคารพาณิชย์เพื่อประกอบการค้าและพักอาศัยเป็นย่านพาณิชยกรรมในกลางเมือง ดังนั้นที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดจึงควรได้รับค่าทดแทนเพิ่ม นอกจากนี้โจทก์ทั้งเจ็ดยังขาดประโยชน์จากการที่จะนำที่ดินทั้งสี่แปลงไปทำเป็นตลาดสดและปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 1787 และ 1802 แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 เพิ่มขึ้น 133,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 18,418,600 บาท รวมเป็นเงิน 151,618,600 บาท ค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 1785แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 7 เพิ่มขึ้น 11,520,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,328,480 บาท รวมเป็นเงิน12,848,480 บาท ค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 1801 แก่โจทก์ที่ 1ถึงที่ 6 เพิ่มขึ้น 32,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง3,736,350 บาท รวมเป็นเงิน 36,136,350 บาท และค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 1787 และ 1802 ส่วนที่เหลือราคาลดลงเป็นเงิน13,680,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 214,283,430 บาทกับให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการขาดประโยชน์ในที่ดินที่ต้องเวนคืนทั้งสี่แปลงให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นเงิน12,000,000 บาท และให้จำเลยทั้งสองใช้ดอกเบี้ยอัตราสูงสุดประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน อัตราร้อยละ 9.5 ต่อปีของเงินต้นจำนวน 202,800,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งเจ็ดด้วย
จำเลยทั้งสองให้การว่า เจ้าหน้าที่เวนคืนได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินแก่โจทก์ทั้งเจ็ดชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแล้ว โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองเพราะจำเลยทั้งสองไม่เคยผิดนัด หากโจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิได้รับค่าเสียหายหรือดอกเบี้ยก็มีสิทธิได้ดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายเงิน ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 6.5 ต่อปีเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินค่าทดแทนจำนวน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งเจ็ด แต่ทั้งนี้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว
โจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 7 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 1785เนื้อที่ 1 งาน 28 ตารางวา โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 1787, 1801 และ 1802 เนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 60 ตารางวา, 3 งาน 60 ตารางวาและ 1 ไร่ 3 งาน 48 ตารางวา ตามลำดับ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม2534 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนพ.ศ. 2534 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 31 ธันวาคม 2534มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2535 ที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดส่วนมากอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดค่าทดแทนของที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดที่จะต้องเวนคืนจำนวน 1,968 ตารางวา ราคาตารางวาละ 50,000 บาท รวมเป็นค่าทดแทน 98,400,000 บาทโจทก์ทั้งเจ็ดไม่พอใจจึงอุทธรณ์ขอค่าทดแทนเพิ่มต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หลังจากฟ้องคดีนี้แล้วคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงพิจารณาให้ค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งเจ็ดตารางวาละ 110,000 บาท เพิ่มขึ้นตารางวาละ 60,000 บาท เป็นเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นอีก 118,080,000 บาท ส่วนค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ทั้งเจ็ดได้รับค่าทดแทนไปเหมาะสมแล้วจึงไม่พิจารณาเพิ่มให้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งเจ็ดประการแรกว่า การกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งเจ็ดแล้วหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จะกำหนดเงินค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งเจ็ดนั้นจะต้องกำหนดโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 บัญญัติไว้ประกอบกัน คือ
1. ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6
2. ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่
3. ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
4. สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น
5. เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน
ฉะนั้น การที่โจทก์ทั้งเจ็ดอ้างว่าที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดที่ถูกเวนคืนมีราคาตารางวาละ 140,000 บาท เพราะที่ดินข้างเคียงกับที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดที่จะต้องเวนคืน ธนาคารไทยทนุ จำกัดจดทะเบียนรับจำนองไว้ตารางวาละ 120,000 บาท และบริษัทไทยประกันราคา จำกัด ประเมินราคาที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดที่จะต้องเวนคืนไว้ตารางวาละ 140,000 บาท แต่ความปรากฏว่าธนาคารไทยทนุ จำกัด จดทะเบียนรับจำนองที่ดินข้างเคียงกับที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2535 และบริษัทไทยประเมินราคา จำกัด ประเมินราคาที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดไว้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2536 หลังจากวันใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2534 แล้วตามเอกสารหมาย จ.49 และ จ.43 ราคาการจดทะเบียนรับจำนองของธนาคารไทยทนุ จำกัด กับราคาประเมินของบริษัทไทยประเมินราคาจำกัด จึงไม่ใช่ราคาที่ดินที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในวันใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนพ.ศ. 2534 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 21(1) แต่อย่างไรก็ดี การที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดราคาตารางวาละ 50,000 บาท เป็นการกำหนดโดยอาศัยราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535มาเป็นเกณฑ์เพียงประการเดียวนับว่ายังไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งเจ็ดเพราะคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ จะต้องอาศัยหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 21(1) ถึง (5) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ประกอบกันทั้งหมดแต่ก็ปรากฏว่าหลังจากโจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องคดีแล้วคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยเพิ่มเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดอีกตารางวาละ 60,000 บาท เป็นตารางวาละ 110,000 บาทรวมเป็นเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นอีก 118,080,000 บาทซึ่งนับได้ว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้นำหลักเกณฑ์ทั้งห้าประการดังกล่าวมาพิจารณาประกอบแล้ว ดังนั้นแม้ทั้งสองฝ่ายนำสืบไม่ได้ว่าในวันที่ 1 มกราคม 2535 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2534 มีผลบังคับที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดราคาตารางวาละเท่าไรก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงทำเลที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งอยู่ในตรอกวัดสามง่ามที่กว้างเพียง 6 เมตรห่างจากถนนพระรามที่ 6 ที่เป็นถนนสาธารณะสายใหญ่ 20 เมตรและมีตึกแถวบังอยู่แล้ว ไม่น่าเชื่อว่าที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดที่จะต้องเวนคืนจะมีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดขณะนั้นสูงถึงตารางวาละ 140,000 บาท ดังที่โจทก์ทั้งเจ็ดกล่าวอ้างฉะนั้น การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดอีกตารางวาละ 60,000 บาท รวมกับค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้ตารางวาละ 50,000 บาท เป็นราคาตารางวาละ 110,000 บาท โดยอาศัยราคาประเมินจากสำนักงานกลางประเมินการจัดหาที่ดินเพื่อกิจการของรัฐกรมที่ดิน และอาศัยราคาซื้อขายที่ดินของนายแดงซึ่งเป็นราคาที่ดินข้างเคียงที่อยู่ตรงกันข้ามกับที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดขณะนั้นตารางวาละ 110,000 บาท มาเป็นเกณฑ์พิจารณา นับว่าเป็นราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งเจ็ดแล้วไม่มีเหตุที่จะให้ค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มแก่โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นตารางวาละ 140,000 บาท ดังที่โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกาขอมาที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดตารางวาละ 110,000 บาท เท่ากับค่าทดแทนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กำหนดให้นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งเจ็ดในปัญหานี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งเจ็ดประการต่อมาคือปัญหาที่ว่าโจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิเรียกค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 1787 และ 1802ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลงได้หรือไม่เพียงใด กับปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งเจ็ดและของจำเลยทั้งสองเรื่องเงินค่าทดแทนความเสียหายอันเนื่องมาจากการขาดประโยชน์ในที่ดินที่จะต้องเวนคืนว่าโจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิได้รับหรือไม่เพียงใด ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาเรื่องค่าทดแทนตามฎีกาของโจทก์ทั้งเจ็ดและของจำเลยทั้งสองไปในคราวเดียวกัน โดยเห็นว่า ปัญหาเรื่องค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 1787 และ 1802 ของโจทก์ทั้งเจ็ดที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลงก็ดี และปัญหาเรื่องค่าทดแทนความเสียหายอันเนื่องมาจากการขาดประโยชน์ในที่ดินที่ต้องเวนคืนก็ดีโจทก์ทั้งเจ็ดมิได้อุทธรณ์ขอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 25 บัญญัติบังคับไว้ก่อน หนังสืออุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเจ็ดต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามเอกสารหมาย จ.39, จ.40และ จ.41 ล้วนเป็นการอุทธรณ์ขอค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ต้องเวนคืนเพิ่มจากราคาที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้เพื่อให้ได้ค่าทดแทนสูงขึ้นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยมิได้อุทธรณ์ขอค่าทดแทนจากการเวนคืนมีราคาลดลงหรือขอค่าทดแทนความเสียหายอันเนื่องมาจากการขาดประโยชน์ในที่ดินที่ต้องเวนคืนแต่อย่างใดเมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดมิได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขอค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนว่ามีราคาลดลงและมิได้อุทธรณ์ขอค่าทดแทนความเสียหายอันเนื่องมาจากการขาดประโยชน์ในที่ดินที่ต้องเวนคืนเสียก่อน โจทก์ทั้งเจ็ดก็ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องเรียกค่าทดแทนทั้งสองจำนวนดังกล่าวเอาแก่จำเลยทั้งสองจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นผู้อยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขายหรือประกอบการงานอันชอบด้วยกฎหมายในที่ดินที่ต้องเวนคืนนั้นไปดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินค่าทดแทนความเสียหายอันเนื่องมาจากการขาดประโยชน์ในที่ดินที่ต้องเวนคืนให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นเงิน 3,000,000 บาท นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองในปัญหาเรื่องดอกเบี้ยอีกต่อไป ฎีกาของโจทก์ทั้งเจ็ดฟังไม่ขึ้นส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
อนึ่ง โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 7 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1785 ที่จะต้องเวนคืนโดยมิได้มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัด โจทก์ทุกคนจึงมีส่วนเป็นเจ้าของทุกส่วนรวมกัน เมื่อโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 7ใช้สิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 1785 ที่จะต้องเวนคืนมาจำนวนเดียวกันโดยมิได้แบ่งแยกว่าแต่ละคนมีสิทธิได้เงินจำนวนเท่าใด อันเป็นการใช้สิทธิร่วมกันมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะตัว จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลรวมกันสำหรับการฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 1785 ในอัตราสูงสุดไม่เกินศาลละ 200,000 บาท โดยในศาลชั้นต้นโจทก์ที่ 1 ที่ 2ที่ 4 และที่ 7 ขอเงินค่าทดแทนที่ดินแปลงนี้ในส่วนที่จะต้องเวนคืนเพิ่มขึ้น 11,520,000 บาท จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลอัตราสูงสุด200,000 บาท ส่วนในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาโจทก์ที่ 1 ที่ 2ที่ 4 และที่ 7 ขอเงินค่าทดแทนที่ดินแปลงนี้ในส่วนที่จะต้องเวนคืนเพิ่มเพียง 3,840,000 บาท กับค่าทดแทนความเสียหายอันเนื่องมาจากการขาดประโยชน์ในที่ดินที่ถูกเวนคืนทั้งสี่แปลงเนื้อที่ 1,968 ตารางวา โดยในชั้นอุทธรณ์ขอจำนวน 12,000,000 บาทเมื่อเฉลี่ยแล้วเท่ากับขอค่าทดแทนความเสียหายในส่วนนี้สำหรับที่ดินแปลงนี้เป็นเงิน 780,487.79 บาท ในชั้นฎีกาขอจำนวน9,000,000 บาท เมื่อเฉลี่ยแล้วเท่ากับขอค่าทดแทนความเสียหายในส่วนนี้สำหรับที่ดินแปลงนี้ 585,365.84 บาท รวมแล้วทุนทรัพย์ในกรณีที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 7 ฟ้องเรียกค่าทดแทนสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 1785 ในชั้นอุทธรณ์เป็นจำนวน 4,620,487.79บาท ต้องเสียค่าขึ้นศาลเป็นเงิน 115,512 บาท และในชั้นฎีกาเป็นจำนวน 4,425,365.84 บาท ต้องเสียค่าขึ้นศาล 110,634 บาทและในทำนองเดียวกันโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1787, 1801 และ 1802 ขอเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสามแปลงเพิ่มขึ้นในแต่ละชั้นศาลรวมกันเกินกว่า 8,000,000 บาทจึงต้องร่วมกันเสียค่าขึ้นศาลสำหรับการฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 1787, 1801 และ 1802 ในอัตราสูงสุดทุกชั้นศาลคือศาลละ 200,000 บาท เนื่องจากมีการเรียกเก็บค่าขึ้นศาลทั้งสามศาลเกินกว่าที่ฝ่ายโจทก์จะต้องเสียดังกล่าว จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลทั้งสามศาลในส่วนที่เรียกเก็บเกินให้แก่ฝ่ายโจทก์ตามส่วนที่โจทก์แต่ละคนเสียเกินมา”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้อง แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลทั้งสามศาลสำหรับการฟ้องขอค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 1785 ให้แก่โจทก์ที่ 1ที่ 2 ที่ 4 และที่ 7 ในส่วนที่เสียรวมกันทั้งสามศาลแล้วเกินกว่า426,146 บาท (200,000+115,512+110,634) ตามส่วนที่โจทก์แต่ละคนเสียเกินมา และให้คืนค่าขึ้นศาลทั้งสามศาลสำหรับการฟ้องขอค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 1787, 1801 และ 1802 ให้แก่โจทก์ที่ 1ถึงที่ 6 ในส่วนที่เสียรวมกันทั้งสามศาลแล้วเกินกว่า 600,000 บาทตามส่วนที่โจทก์แต่ละคนเสียเกินมา

Share