คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 921/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์นำสินค้าเข้าโดยเสียภาษีอากรครบถ้วนแล้ว แม้ว่าต่อมาโจทก์จะยื่นคำร้องขอส่งสินค้ากลับออกไปภายในหนึ่งปี นับแต่วันนำเข้า แต่เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้เปิดตรวจสินค้าเพื่อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสำแดงชื่อยี่ห้อสินค้า ปรากฏว่าสินค้าบางส่วนไม่ตรงตามสำแดงอันเป็นความผิดฐานยื่นคำร้องขออันเกี่ยวกับของอันเป็นเท็จมีความผิดตามมาตรา 60,99 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 และไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับคืนเงินอากรโจทก์อุทธรณ์เจ้าพนักงานของจำเลยพิจารณาอุทธรณ์แล้วเห็นว่าการกระทำของโจทก์เป็นความผิดฐานสำแดงเท็จตามมาตรา 99 ให้เปรียบเทียบปรับ 50,000 บาท เพื่อ ระงับคดี และให้แก้ใบขนสินค้าให้ถูกต้องเพื่อผ่านพิธีการศุลกากรไปได้ โจทก์ส่งสินค้ากลับออกไปนอกราชอาณาจักรเมื่อเกินหนึ่งปีนับแต่วันนำเข้า แสดงว่า โจทก์ไม่สามารถส่งสินค้าออกไปได้เนื่องจากเจ้าพนักงานของจำเลยได้กักสินค้าไว้เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย แต่เมื่อการกระทำของโจทก์เป็นการสำแดงเท็จเจ้าพนักงานของจำเลยจึงกักสินค้าไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ต่อมาเจ้าพนักงานของจำเลยจะอนุญาตให้โจทก์ส่งสินค้าดังกล่าวกลับออกไปยังเมืองต่างประเทศก็ตามแต่ก็ด้วยเหตุผลที่ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีเจตนาทุจริตในการขอคืนเงินอากรและเชื่อว่าของที่จะส่งออกทั้งหมดเป็นของรายเดียวกันกับที่นำเข้าดังนั้น การที่โจทก์ไม่สามารถส่งสินค้ากลับออกไปยังเมืองต่างประเทศภายในหนึ่งปี ได้นั้นจึงเป็นความผิดของโจทก์ที่สำแดงใบขนสินค้าอันเป็นเท็จ เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานของจำเลยกักยึดสินค้าของโจทก์ไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอคืนเงินอากรขาเข้าตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9)พ.ศ. 2482 มาตรา 19

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินอากรจำนวน 471,032 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน428,211 บาท นับถัดจากวันฟ้องจรนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินอากรขาเข้าคืนพร้อมดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินอากรขาเข้าให้โจทก์เป็นเงิน 428,211 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 มกราคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องต้องไม่เกิน 42,821 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าแล้วข้อเท็จจริงรับกันว่า เมื่อเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน 2536โจทก์นำสินค้าสายไฟฟ้าสำหรับแผงวงจรไฟฟ้าเข้ามาในราชอาณาจักรตามใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมเอกสารประกอบ โจทก์สำแดงยี่ห้อสินค้าทั้งสามใบขนสินค้าว่า”ทาชิอิ” (TACHII) แต่ตามบัญชีราคาสินค้าและใบรายการบรรจุหีบห่อที่ยื่นประกอบใบขนสินค้าขาเข้าแต่ละฉบับมิได้ระบุยี่ห้อของสินค้า ต่อมาวันที่ 4 และ 7กรกฎาคม 2537 โจทก์ได้ยื่นคำร้องเพื่อขอส่งสินค้าที่นำเข้าดังกล่าวกลับออกไปยังประเทศมาเลเซีในแบบรีเอ็กซ์ปอร์ตและยื่นใบขนสินค้าขาออกพร้อมเอกสารประกอบ กองตรวจสินค้าขาออกได้อนุมัติให้ผ่านพิธีการใบขนสินค้าขาออกไปก่อนได้ส่วนการพิจารณาว่าจะอยู่ในเงื่อนไขของมาตรา 19แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482หรือไม่ และจะมีสิทธิได้รับคืนเงินอากรหรือไม่ให้อยู่ในดุลพินิจของกองคืนอากรภายหลัง วันที่ 12 กรกฎาคม 2537เจ้าพนักงานของจำเลยได้เปิดตรวจปรากฏว่าสินค้าบางส่วนไม่ตรงตามสำแดง เช่น พบสินค้ายี่ห้อ “ฮิตาชิ”ซึ่งใบขนสินค้าขาออกสำแดงเป็นยี่ห้อ “ทาชิอิ”เจ้าพนักงานผู้ตรวจมีความเห็นว่า โจทก์มีความผิดฐานยื่นคำขออันเกี่ยวกับของอันเป็นเท็จ เป็นการทุจริตเพื่อขอคืนเงินอากรขาเข้าตาม มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 อันเป็นความผิดตามมาตรา 60, 99 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469และไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับคืนเงินอากร และได้มีการเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับ วันที่ 24 สิงหาคม 2537 โจทก์ชี้แจงรายละเอียดชนิดของสินค้าโดยแจ้งว่าสินค้าเป็นวัตถุดิบนำเข้าเพื่อผลิตส่งออกแต่ลูกค้ายกเลิกการสั่งซื้อ จำเป็นต้องส่งสินค้าดังกล่าวกลับออกไปแบบรีเอ็กช์ปอร์ต วันที่30 สิงหาคม 2537 เจ้าพนักงานของจำเลยได้สั่งให้ตรวจสอบเพิ่มเติม วันที่ 5 กันยายน 2537 เจ้าพนักงานผู้ตรวจสอบเพิ่มเติมได้บันทึกผลการตรวจสอบว่า สินค้าตามใบขนสินค้าขาออกทั้งสามใบขนไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะขอคืนเงินอากรและเป็นความผิดตามมาตรา 60, 99 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 การสำแดงยี่ห้อของสินค้าเป็น”ทาชิอิ” แต่ตรวจพบเป็น “ฮิตาชิ” ในรุ่นและขนาดต่าง ๆกัน ไม่เป็นเหตุให้ราคาและค่าภาษีอากรเปลี่ยนแปลงวันที่ 21 กันยายน 2537 โจทก์ได้ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมเจ้าพนักงานของจำเลยคงมีความเห็นเช่นเดิม ต่อมาวันที่4 พฤศจิกายน 2537 โจทก์อุทธรณ์ชั้นศุลกากรโดยยื่นต่อกรมศุลกากร และได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมประกอบเข้ามาด้วยเจ้าพนักงานของจำเลยได้ร่วมกับผู้แทนโจทก์ตรวจสอบสินค้าประกอบเอกสารที่ส่งเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2537อันครั้งหนึ่ง ในการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่าการสำแดงยี่ห้อปริมาณ และหน่วยวัดความยาวของสินค้าไม่ถูกต้องแต่ไม่ปรากฏว่ามีเจตนาทุจริตในการขอคืนเงินอากร การกระทำของโจทก์เป็นความผิดฐานสำแดงเท็จตามมาตรา 99ให้เปรียบเทียบปรับ 50,000 บาท เพื่อระงับคดีและให้แก้ใบขนสินค้าให้ถูกต้องเพื่อผ่านพิธีการศุลกากรไปได้ โดยรองอธิบดีกรมศุลกากรปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมศุลกากรมีคำสั่งเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2537 โจทก์ส่งสินค้ากลับออกไปนอกราชอาณาจักรเมื่อเดือนมกราคม 2538 โจทก์ขอคืนอากรเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2538
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับคืนเงินอากรขาเข้าหรือไม่ เห็นว่าตามพระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 19 บัญญัติไว้มีใจความว่าของใดที่พิสูจน์เป็นที่พอใจอธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายว่าเป็นของรายเดียวกันกับที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและเสียอากรแล้ว ถ้าส่งกลับออกไปยังเมืองต่างประเทศหรือส่งกลับไปเป็นของใช้สิ้นเปลืองในเรือเดินทางไปเมืองต่างประเทศให้คืนเงินอากรขาเข้าให้แก่ผู้นำของเข้าเก้าในสิบส่วนภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้ (ค) ของนั้นได้ส่งกลับออกไปภายในหนึ่งปีนับแต่วันนำเข้า และ (ง) ต้องขอคืนเงินอากรภายในหกเดือนนับแต่วันที่ส่งของนั้นกลับออกไป เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์นำสินค้าเข้า 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่8 สิงหาคม 2536 ตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่0106-0086-0757 ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2536ตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 0106-0086-3137 และครั้งที่สามเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2536 ตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่0106-0096-3834 และโจทก์ได้เสียภาษีอากรครบถ้วนแล้วต่อมาวันที่ 4 และ 7 กรกฎาคม 2537 โจทก์ได้ยื่นหนังสือขออนุมัติอธิบดีกรมศุลกากรเพื่อส่งสินค้ากลับคืนออกไป(Re-Export) แม้โจทก์จะยื่นคำร้องขอส่งสินค้ากลับออกไปภายในหนึ่งปี นับแต่วันนำเข้า แต่เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้เปิดตรวจสินค้าเพื่อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสำแดงชื่อยี่ห้อสินค้าเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2537 ปรากฏว่าสินค้าบางส่วนไม่ตรงตามสำแดง เช่นพบสินค้ายี่ห้อฮิตาชิซึ่งใบขนสินค้าขาออกสำแดงเป็นยี่ห้อทาชิอิ อันเป็นความผิดฐานยื่นคำร้องขออันเกี่ยวกับของอันเป็นเท็จ มีความผิดตามมาตรา 60, 99 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469และไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับคืนเงินอากร โจทก์อุทธรณ์ชั้นศุลกากรโดยยื่นคำขอต่อกรมศุลกากรเมื่อวันที่4 พฤศจิกายน 2537 และได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมประกอบในการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่าการสำแดงยี่ห้อปริมาณและหน่วยวัดความยาวของสินค้าไม่ถูกต้อง แต่ไม่ปรากฏว่ามีเจตนาทุจริตในการขอคืนเงินอากร การกระทำของโจทก์เป็นความผิดฐานสำแดงเท็จตามมาตรา 99 ให้เปรียบเทียบปรับ 50,000 บาท เพื่อระงับคดี และให้แก้ใบขนสินค้าให้ถูกต้องเพื่อผ่านพิธีการศุลกากรไปได้ โจทก์ส่งสินค้ากลับออกไปนอกราชอาณาจักรเมื่อเดือนมกราคม 2538แสดงว่า การที่โจทก์ไม่สามารถส่งสินค้าออกไปได้เนื่องจากเจ้าพนักงานของจำเลยได้กักสินค้าไว้เพื่อดำเนินการตามกฎหมายเมื่อการกระทำของโจทก์เป็นการสำแดงเท็จ เจ้าพนักงานของจำเลยจึงกักสินค้าไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ต่อมาเจ้าพนักงานของจำเลยจะอนุญาติให้โจทก์ส่งสินค้าดังกล่าวกลับออกไปยังเมืองต่างประเทศก็ตาม แต่ก็ด้วยเหตุผลที่ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีเจตนาทุจริตในการขอคืนเงินอากรและเชื่อว่าของที่จะส่งออกทั้งหมดเป็นของรายเดียวกันกับที่นำเข้า ตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 9 ถึง 14 ดังนั้น การที่โจทก์ไม่สามารถส่งสินค้ากลับออกไปยังเมืองต่างประเทศภายในหนึ่งปีได้นั้น จึงเป็นความผิดของโจทก์ที่สำแดงใบขนสินค้าอันเป็นเท็จเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานของจำเลยกักยึดสินค้าของโจทก์ไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอคืนเงินอากรขาเข้าตามบทบัญญัติดังกล่าว
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share