คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16070-16072/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ผู้ใดเพียงแต่รู้ว่าเจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ แล้วย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใด แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริง ก็ถือว่าเป็นความผิดตามมาตราดังกล่าวแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในเรื่องผิดสัญญาและเรียกค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดพอชำระหนี้แก่โจทก์ ขณะที่คดีแพ่งดังกล่าวอยู่ระหว่างบังคับคดีตามคำพิพากษา จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดิน 3 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา แม้คดีแพ่งดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องแย้ง และผลคดีอาจจะเปลี่ยนแปลงโดยศาลฎีกาอาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชนะคดีตามฟ้องแย้ง ซึ่งไม่แน่ว่าโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในชั้นที่สุดหรือไม่ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้แล้ว ไม่จำต้องถือเอาคำพิพากษาของศาลที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดในทางแพ่งมาเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานดังกล่าว

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวน ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสามสำนวนว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องจำเลยทั้งสองรวมสามสำนวนความว่า ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 92, 350 และขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนโอนเปลี่ยนชื่อจากจำเลยที่ 2 มาเป็นของจำเลยที่ 1 หากไม่สามารถทำการโอนได้ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง และให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3337/2547 ของศาลชั้นต้น และในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1/2547 ของศาลจังหวัดขอนแก่น
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งสามสำนวนยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเฉพาะคำขอบังคับในคำขอท้ายฟ้องในสำนวนทั้งสามสำนวน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นทั้งสามสำนวนไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองทั้งสามสำนวนให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำนวน
โจทก์ทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 เดือน รวม 2 กระทง รวมจำคุก 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของจำเลยที่ 2 และนายกัน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 5 คน นายกันถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2538 มีทรัพย์มรดกคือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 145, 222 และ 572 ตำบลโนนคอม อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2539 ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งนายวิญญูเป็นผู้จัดการมรดกของนายกัน เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2539 นายวิญญูในฐานะผู้จัดการมรดกของนายกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 145 และ 222 ให้แก่จำเลยที่ 1 และเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2540 จดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 572 ให้แก่บุตรทั้งห้าคนของนายกันซึ่งรวมจำเลยที่ 1 ด้วย ต่อมาที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 222 เปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 3592 ตำบลนาฝาย อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น และแบ่งแยกออกเป็นโฉนดเลขที่ 4993 อีก 1 โฉนด เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2540 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งที่ศาลจังหวัดขอนแก่น เรื่องผิดสัญญาและเรียกค่าเสียหาย ศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 2,976,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกา คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2544 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 145 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา และเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2545 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 3592 และ 4993 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา ซึ่งที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวคือที่ดินอันเป็นมูลเหตุแห่งคดีนี้
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ทั้งสามสำนวนเป็นความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยหรือไม่ โจทก์มีนายคุ้มพงษ์ ทนายโจทก์และนายชลวิทย์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความได้ใจความว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาในคดีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในเรื่องผิดสัญญาและเรียกค่าเสียหาย เป็นเงินประมาณ 2,900,000 บาท ขณะคดีอยู่ระหว่างการบังคับคดีตามคำพิพากษา จำเลยที่ 1 ได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนตามโฉนดเลขที่ 3592 และ 4993 ตำบลนาฝาย อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น และโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 145 ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นมารดาโดยจำเลยที่ 2 พักอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จะต้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและต้องชำระหนี้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำโดยเจตนาที่จะมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษา ส่วนจำเลยที่ 1 มีจำเลยทั้งสองและนายวิญญูเบิกความสรุปได้ว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 145 เป็นที่ตั้งของบ้านเลขที่ 77 หมู่ที่ 3 ตำบลนาฝาย อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น ส่วนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 222 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 3592 และแยกออกเป็นโฉนดเลขที่ 4993 อีกโฉนดหนึ่งนั้นเป็นที่สวนมะม่วงและขนุน ที่ดินข้างต้นเป็นทรัพย์ของนายกัน และยังมีที่ดินของนายกันอีกแปลงหนึ่งคือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 572 เนื้อที่ประมาณ 34 ไร่ เมื่อนายกันถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ต้องการที่บ้านและที่สวนไว้เป็นหลักประกันยามชราแต่เจ็บป่วยจึงให้นายวิญญู ผู้จัดการมรดกโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 145 และ 222 ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ไว้ก่อน และให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินทั้งสองแปลงคืนแก่จำเลยที่ 2 ในภายหลัง ส่วนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 572 ให้ใส่ชื่อห้าพี่น้องบุตรของนายกัน ต่อมาที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 222 เปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 3592 และจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวเป็นอีกแปลงหนึ่งเลขที่ 4993 เมื่อจำเลยที่ 2 หายป่วยแล้ว จำเลยที่ 1 จึงจดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสามแปลงข้างต้นคืนให้แก่จำเลยที่ 2 ตามที่ตกลงกันไว้แต่เดิม และจำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์สินอื่นอีกคือหุ้นในบริษัทสิทธิ์ช่วยเจียม จำกัด ทั้งยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 572 คิดเป็นเนื้อที่ 7 ไร่เศษ เห็นว่า หากทายาทของนายกันตกลงที่จะยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 145 และ 222 ให้แก่จำเลยที่ 2 และยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 572 ให้แก่บุตรทั้งห้าคนของนายกัน เหตุใดจึงต้องไปจดทะเบียนโอนคนละคราวโดยไปโอนที่ดิน 2 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2539 และโอนที่ดินอีก 1 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 1 และพี่น้องอีก 4 คน เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2540 ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าจำเลยที่ 2 ป่วย จึงให้ผู้จัดการมรดกโอนที่ดินซึ่งเป็นที่บ้านและที่สวนให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อน แล้วให้จำเลยที่ 1 โอนคืนให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น ก็ฟังเป็นพิรุธ เพราะได้ความว่าจำเลยที่ 2 ป่วยแบบเป็น ๆ หาย ๆ มิได้ป่วยหนักจนกระทำการอันใดมิได้ และเป็นเพียงการรับโอนมรดกโดยไม่มีเหตุเร่งด่วนพิเศษเช่นจำเลยที่ 2 จะต้องนำที่ดินไปจำนอง โอนขายหรือนำไปทำธุรกรรมอื่น ๆ ซึ่งจะต้องรับโอนที่ดินดังกล่าวเป็นชื่อของจำเลยที่ 2 โดยเร็ว หรือหากจะฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ป่วยมากก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 ก็ไม่จำเป็นต้องไปดำเนินการโอนทางทะเบียนด้วยตนเองโดยสามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปดำเนินการแทนก็ได้ ข้ออ้างดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 รับโอนมรดกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 145 และ 222 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 3592 และ 4993 ไว้เป็นทรัพย์ของตนเอง สำหรับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 572 นั้น จำเลยที่ 1 มีสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวเพียง 1 ใน 5 ส่วน ทั้งยังได้ความจากจำเลยที่ 1 เองว่า บริษัทดังกล่าวมิได้ดำเนินกิจการแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่า คดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 ได้ฟ้องแย้งและผลคดีอาจจะเปลี่ยนแปลงโดยศาลฎีกาอาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชนะคดีตามฟ้องแย้ง ยังไม่แน่ว่าโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในชั้นที่สุดหรือไม่นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษ…” ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ชัดเจนว่าเพียงแต่รู้ว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลแล้วกระทำการดังกล่าว ก็ถือว่าเป็นความผิดแล้วหาจำต้องถือเอาคำพิพากษาของศาลให้รับผิดในทางแพ่งมาเป็นองค์ประกอบความผิดฐานนี้ไม่ เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาโอนทรัพย์สินเพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้หากจำเลยที่ 1 ต่างแพ้คดีในที่สุด ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้และให้จำคุกจำเลยที่ 1 กรรมละ 3 เดือน รวม 2 กรรม นั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 2,000 บาท เป็นเงิน 4,000 บาท อีกสถานหนึ่ง รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share