แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอฟ้องอุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลย จำเลยอาจอุทธรณ์คำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์โดยยื่นคำขอเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันมีคำสั่ง ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคท้าย แต่จำเลยกลับยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเมื่อเกินกำหนดระยะเวลา7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว
ย่อยาว
กรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ถ้าไม่ชำระให้ยึดทรัพย์ที่จำนองที่ดินโฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ พร้อมกับยื่นคำร้องขอฟ้องอุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งว่า จำเลยยังพอมีเงินเสียค่าธรรมเนียมศาลได้ คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยยากจนให้ยกคำร้อง หากจำเลยประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์มาวางศาลภายใน 15 วัน
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเกินกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156วรรคท้าย จึงให้ยกคำร้องของจำเลย หากจำเลยประสงค์จะอุทธรณ์ให้นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลชั้นต้นภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงปรากฎว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอฟ้องอุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2539 ในกรณีที่เป็นการฟ้องในชั้นอุทธรณ์เช่นนี้ จำเลยอาจอุทธรณ์คำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์โดยยื่นคำขอเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันมีคำสั่ง ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 156 วรรคท้าย ดังนั้นจำเลยจึงมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นภายในวันที่ 6 กันยายน 2539 แต่จำเลยกลับยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2539เกินกำหนดระยะเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว
พิพากษายืน