คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 718-723/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา25วรรคสองและมาตรา26วรรคหนึ่งในกรณีที่รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์เสร็จสิ้นภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่่ได้รับคำอุทธรณ์ผู้อุทธรณ์มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดหกสิบแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์หรือวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวผู้อุทธรณ์มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันทีพ้นกำหนดหกสืบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ดังนั้นกรณีคดีนี้เมื่อจำเลยที่2ซึ่งเป็นรัฐมนตรีฯมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์โจทก์ต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสิบเอ็ดขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าทดแทนการเวนคืนที่ดินเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นเงิน2,207,638 บาท ชำระแก่โจทก์ที่ 7 เป็นเงิน 3,357,166 บาท ชำระแก่โจทก์ที่ 8 เป็นเงิน 3,624,083 บาท ชำระแก่โจทก์ที่ 9 เป็นเงิน3,354,371.50 บาท ชำระแก่โจทก์ที่ 10 เป็นเงิน 1,814,156 บาท และชำระแก่โจทก์ที่ 11 เป็นเงิน 1,816,951 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองทั้งหกสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสิบเอ็ดขาดอายุความ เพราะไม่ฟ้องคดีภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 หรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่ วันที่จำเลยที่ 2 ได้รับคำอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดเหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองทั้งหกสำนวนยื่นคำร้องว่า คดีโจทก์ทั้งสิบเอ็ดขาดอายุความ ขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์ทั้งสิบเอ็ดและจำเลยทั้งสองแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสิบเอ็ดฟ้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้ง สิบเอ็ด อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ทั้ง สิบเอ็ด ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่1483 โจทก์ที่ 7 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที 32717 โจทก์ที่ 8เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 32719 โจทก์ที่ 10 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 32715 และโจทก์ที่ 11 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่32718 ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองสามประเวศ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานครที่ดินทั้งเจ็ดแปลงดังกล่าวอยู่ในเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2534 โจทก์ทั้งสิบเอ็ดรับเงินค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 แต่ไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนด จึงยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด จำเลยที่ 2 ได้รับคำอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1ถึงที่ 6 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2536 รับคำอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 7และที่ 9 ถึงที่ 11 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2536 รับคำอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 8 เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2536 ต่อมาจำเลยที่ 2 แจ้งคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ว่า ราคาค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้นั้นเหมาะสมแล้ว เห็นควรยืนราคาโดยโจทก์ที่ 1ถึงที่ 8 และที่ 10 ได้รับแจ้งเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2536 โจทก์ที่9 และที่ 11 ได้รับแจ้งเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2536 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดว่า โจทก์ทั้งสิบเอ็ดฟ้องคดีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในรัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์” และมาตรา 26 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แล้วแต่กรณี” จากบทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่าในกรณีที่รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์เสร็จสิ้นภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์หรือวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวผู้อุทธรณ์มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ ดังนั้น กรณีคดีนี้เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีฯ มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ โจทก์ทั้งสิบเอ็ดต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ กล่าวคือ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2537 โจทก์ที่ 7 และที่ 9ถึงที่ 11 ต้องฟ้องภายในวันที่ 27 มีนาคม 2537 และโจทก์ที่ 8ต้องฟ้องภายในวันที่ 19 เมษายน 2537 แต่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดฟ้องเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2537 เป็นการฟ้องเมื่อล่วงพ้นกำหนดหนึ่งปีแล้วจึงเกินกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดให้นำคดีมาฟ้องศาลพิพากษายืน

Share