คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7633/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 บัญญัติให้ในการริบทรัพย์สินนอกจากศาลจะมีอำนาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้อีกด้วย คือ(2) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยได้กระทำความผิดอีกด้วยดังนี้ แม้วันเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้และยึดได้เงินสดจำนวน 960 บาท ซึ่งปะปนอยู่กับเงินจำนวนอื่นที่สายลับนำไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย และจำเลยรับว่า เงินสดจำนวน 960 บาท ของกลาง จำเลยได้มาจากการขาย เมทแอมเฟตามีนจำนวนอื่น ก่อนหน้าที่เจ้าพนักงานจะเข้าจับ จำเลยเป็นคดีนี้ ดังนั้น เงินสดจำนวน 960 บาท ของกลางจึง เป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้มาโดยการกระทำความผิด เพราะการขาย เมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย คดีนี้โจทก์ ได้ฟ้องจำเลยในข้อหาขายเมทแอมเฟตามีนและมีเมทแอมเฟตามีน ไว้ในครอบครองเพื่อขาย แม้ศาลจะไม่มีอำนาจสั่งริบเงินสด จำนวน 960 บาท ของกลาง ตามมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติ วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นบทเฉพาะ ก็ตามแต่ศาลก็มีอำนาจริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2539 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 5 เม็ด น้ำหนักรวม0.40 กรัม แล้วจำเลยได้ขายเมทแอมเฟตามีนที่มีไว้ในครอบครองดังกล่าวจำนวน 2 เม็ด น้ำหนักไม่ปรากฏชัดให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อไปในราคา 240 บาท โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยธนบัตรฉบับละ 100 บาท จำนวน 2 ฉบับ และธนบัตรฉบับละ20 บาท จำนวน 2 ฉบับ รวมเป็นเงิน 240 บาท ที่จำเลยได้มาจากการขายวัตถุออกฤทธิ์ข้างต้น กับวัตถุออกฤทธิ์จำนวน 2 เม็ด ที่จำเลยขายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ และวัตถุออกฤทธิ์อีกจำนวน3 เม็ด ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อขาย รวมทั้งกระดาษตะกั่วที่จำเลยมีไว้เพื่อใช้ห่อวัตถุออกฤทธิ์จำนวน 7 แผ่น และเงินสดจำนวน 960 บาท ซึ่งจำเลยได้มาจากการขายวัตถุออกฤทธิ์จำนวนอื่นไปก่อนหน้านั้นเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 13 ทวิ,62, 89, 106, 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 ริบวัตถุออกฤทธิ์ของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข ริบกระดาษตะกั่วและเงินสดของกลางจำนวน 960 บาท และคืนธนบัตรที่ใช้ในการล่อซื้อจำนวน 240 บาท แก่เจ้าพนักงาน
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิวรรคหนึ่ง, 89, 116 จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ริบวัตถุออกฤทธิ์ของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข ริบกระดาษตะกั่วของกลางคืนธนบัตรของกลางทั้งหมดแก่เจ้าของ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ริบของกลางเงินสดจำนวน 960 บาท
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในชั้นนี้ว่าเงินสดของกลางจำนวน 960 บาท เป็นทรัพย์สินที่ศาลมีอำนาจสั่งริบได้หรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33บัญญัติว่า “ในการริบทรัพย์สิน นอกจากศาลจะมีอำนาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้อีกด้วย คือ (2) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยได้กระทำความผิด” ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า วันเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ และยึดได้เงินสดจำนวน 960 บาทซึ่งปะปนอยู่กับเงินจำนวน 240 บาท ที่สายลับนำไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย จำเลยรับว่าเงินสดจำนวน 960 บาท ของกลางจำเลยได้มาจากการขายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 8 เม็ด ก่อนหน้าที่เจ้าพนักงานจะเข้าจับจำเลย ดังนี้ ฟังได้ว่าเงินสดจำนวน 960 บาท ของกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้มาโดยการกระทำความผิด เพราะการขายเมทแอมเฟตามีนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทั้งคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยในข้อหาขายเมทแอมเฟตามีนและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขาย แม้ศาลจะไม่มีอำนาจสั่งริบเงินสดจำนวน960 บาท ของกลางตามมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นบทเฉพาะก็ตาม แต่เงินสดของกลางดังกล่าวจำเลยก็ได้มาโดยการขายเมทแอมเฟตามีนแม้จะไม่ได้มาโดยการขายเมทแอมเฟตามีนในคดีนี้โดยตรงก็ตาม ศาลก็มีอำนาจริบเงินสดจำนวน 960 บาท ของกลางได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33(2) ดังกล่าวข้างต้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบเงินสดจำนวน 960 บาท ของกลางด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share