แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
อุทธรณ์ของผู้ร้องได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้ว ไม่ได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงอื่นที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น การที่ผู้ร้องได้กล่าวอ้างถึงสำเนาสูติบัตรที่ได้มาภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา มิใช้เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ผู้ร้องอ้างเอกสารเพิ่มเติมเพื่อให้ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้เท่านั้น อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 แล้ว
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240 (2) ใช้เฉพาะกรณีที่ผู้อุทธรณ์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ผู้ร้องขอพิสูจน์สัญชาติและอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยอ้างว่าเอกสารท้ายคำร้องเป็นเอกสารที่ผู้ร้องติดตามได้มาภายหลังศาลชั้นต้นพิพากษาคดี และเป็นเอกสารสำคัญที่จะพิสูจน์ได้ว่าผู้ร้องเกิดในประเทศไทยเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง แต่การที่ผู้ร้องอ้างเอกสารเพิ่มเติม จะต้องทำเป็นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเช่นว่านั้นพร้อมกับบัญชีระบุพยานและสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าวตามมาตรา 88 วรรคสาม ศาลจึงจะวินิจฉัยได้ว่าสมควรอนุญาตหรือไม่ เมื่อผู้ร้องเพียงอ้างในอุทธรณ์ว่ามีสำเนาสูติบัตรเอกสารท้ายอุทธรณ์ ขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาเอกสารดังกล่าวและพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานดังกล่าวและบัญชีระบุพยานพร้อมสำเนา ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจอนุญาตให้ผู้ร้องอ้างพยานเพิ่มเติมในชั้นอุทธรณ์ได้ ทำให้คดีไม่มีพยานหลักฐานใหม่ จึงไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ตามมาตรา 240 (2)
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเกิดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2483 ที่บ้านเลขที่ 43 แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ผู้ร้องเป็นบุตรคนเดียวของนายบู๋เจียง แซ่โง้ว กับนางซิ้งจวง แซ่ฉั่ว แต่ภายหลังบิดามารดาได้หย่าขาดจากกันแล้วบิดามีภรรยาใหม่เป็นคนสัญชาติไทย ชื่อนางอิ่ม แซ่แต้ มีบุตรด้วยกันอีก 2 คน ชื่อเด็กชายซ้งเพ้ง แซ่โง้ว และเด็กชายนิตย์ แซ่โง้ว เมื่อปี 2494 บิดาได้พาผู้ร้องและนางอิ่ม แซ่แต้ พร้อมบุตรอีก 2 คน เดินทางโดยทางเรือไปเมืองซัวเถา ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ขณะนั้นผู้ร้องอายุ 12 ปี อยู่ระหว่างเรียนหนังสือชั้นประถมปีที่ 4 โรงเรียนเลิศประสาทวิชา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ระหว่างอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีนผู้ร้องเรียนสำเร็จชั้นมัธยมปลายแล้วไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ เพราะรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนห้ามประชาชนเดินทางออกนอกประเทศ ครั้นบิดาและมารดาเลี้ยงเสียชีวิตที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้ร้องได้เดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2540 และได้ยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติไทยเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2540 แต่พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง ขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นคนมีสัญชาติไทย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องเป็นคนต่างด้าว มีชื่อว่านายวู ซังกวน เชื้อชาติจีน สัญชาติจีน เกิดที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรหลายครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี 2533 ครั้งที่สองเมื่อปี 2539 และในปี 2540 ได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรอีก 2 ครั้ง โดยถือเอกสารหนังสือเดินทางประเภทผู้อยู่อาศัยชั่วคราวซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองอนุญาตให้ผู้ร้องอยู่ในราชอาณาจักรในฐานะคนอยู่ชั่วคราวแต่ละครั้งภายในระยะเวลาที่กำหนด ก่อนครบกำหนดผู้ร้องมีเจตนาจะไม่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอพิสูจน์สัญชาติ ผู้ร้องมิใช่คนไทยเนื่องจากเคยยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2540 สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแจ้งผลการขอพิสูจน์สัญชาติ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2540 ว่าผู้ร้องมิใช่คนไทยเนื่องจากพยานหลักฐานและการสอบพยานบุคคลยังไม่พอรับฟังได้ว่าผู้ร้องชื่อนายช้งจั้ว แซ่โง้ว หรือโง้ว ซ้งจั้ว บุตรนายบู๋เจียง แซ่โง้ว และนางซิ้งจวง แซ่ฉั่ว และผู้ร้องมิได้เกิดในราชอาณาจักรไทยที่บ้านเลขที่ 43 ตรอกวังกรมราชศักดิ์ ตำบลเสาชิงช้า อำเภอพระนคร ผู้ร้องอ้างว่าเป็นบุตรของนายบู๋เจียง แซ่โง้ว และนางซิ้งจวง แซ่ฉั่ว โดยมีเพียงหนังสือรับรองของสำนักงานเขตพระนคร แต่มิได้กล่าวถึงที่มาของฐานข้อมูลและยังมีความขัดแย้งกับทะเบียนสำมะโนครัวของสำนักงานทะเบียนท้องถิ่นแขวงพระนคร ซึ่งระบุว่านางอิ่ม แซ่แต้ เป็นภรรยาของนายบู๋เจียง แซ่โง้ว ผู้ร้องกล่าวอ้างต่อไปว่า เมื่อปี 2495 บิดาผู้ร้องได้พาผู้ร้องและนางอิ่ม แซ่แต้ พร้อมบุตรอีก 2 คน เดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยทางเรือไปที่เมืองซัวเถา ก็ไม่ปรากฏหลักฐานการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร นอกจากนี้ผู้ร้องได้เดินทางเข้าออกในราชอาณาจักรหลายครั้ง แต่ไม่เคยยื่นคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติแต่อย่างใด การยื่นคำร้องดังกล่าวมีลักษณะเป็นการขอให้ผู้ร้องเป็นคนมีสัญชาติไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการแรกว่า อุทธรณ์ของผู้ร้องเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องยกอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ซึ่งในปัญหาข้อนี้ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวเสียก่อน โดยผู้คัดค้านยื่นคำแก้อุทธรณ์ปัญหาดังกล่าวว่า ผู้ร้องเพิ่งยกข้อเท็จจริงขึ้นมากล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ โดยแสดงหลักฐานสำเนาสูติบัตรเอกสารท้ายอุทธรณ์ 1 ฉบับ ซึ่งไม่ได้อ้างและนำสืบพยานในศาลชั้นต้น จึงเป็นอุทธรณ์ที่ศาลมิอาจรับวินิจฉัยให้ได้ เห็นว่าอุทธรณ์ของผู้ร้องได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัย ไม่ได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงอื่นที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ส่วนที่ผู้ร้องได้กล่าวอ้างสำเนาสูติบัตรที่ได้มาภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษามิใช่เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ผู้ร้องอ้างเอกสารเพิ่มเติมขอให้ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องชอบแล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการที่สองมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ผู้ร้องอ้างเอกสารเพิ่มเติมในชั้นอุทธรณ์และให้ศาลชั้นต้นสืบพยานผู้ร้องและผู้คัดค้านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเอกสารดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240 (2) (3) ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240 (2) บัญญัติว่า ถ้าศาลอุทธรณ์ยังไม่เป็นที่พอใจในการพิจารณาฟ้องอุทธรณ์คำแก้อุทธรณ์และพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนภายใต้บังคับแห่งมาตรา 238 และเฉพาะในปัญหาที่อุทธรณ์ ให้ศาลมีอำนาจที่จะกำหนดประเด็นทำการสืบพยานที่สืบมาแล้ว หรือพยานที่เห็นสมควรสืบต่อไป และพิจารณาคดีโดยทั่วๆ ไป ดั่งที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้สำหรับการพิจารณาในศาลชั้นต้นและให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการพิจารณาในศาลชั้นต้นมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม ตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีที่ผู้อุทธรณ์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง คดีนี้ ผู้ร้องขอพิสูจน์สัญชาติและอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาดังกล่าวโดยผู้ร้องอ้างไว้ในอุทธรณ์ว่าเอกสารท้ายคำร้องเป็นเอกสารที่ผู้ร้องติดตามได้มาภายหลังศาลชั้นต้นพิพากษาคดี และเป็นเอกสารสำคัญที่จะพิสูจน์ได้ว่าผู้ร้องเกิดในประเทศไทยจึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง อย่างไรก็ดีการที่ผู้ร้องอ้างเอกสารเพิ่มเติมโดยอ้างว่าเพิ่งค้นพบภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วจะต้องเป็นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเช่นว่านั้นต่อศาลพร้อมกับบัญชีระบุพยานและสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสาม ศาลจึงจะวินิจฉัยได้ว่าสมควรอนุญาตตามคำร้องหรือไม่ แต่คดีนี้ ผู้ร้องเพียงอ้างระบุในอุทธรณ์ว่ามีสำเนาสูติบัตรเอกสารท้ายอุทธรณ์หมายเลข 1 ขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาเอกสารดังกล่าวและมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานดังกล่าวและมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานพร้อมสำเนา ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจอนุญาตให้ผู้ร้องอ้างพยานเพิ่มเติมในชั้นอุทธรณ์ได้ ทำให้คดีไม่มีพยานหลักฐานใหม่ ไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240 (2) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ