แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยนำสืบและฎีกาว่า อ. น้องภริยาจำเลยต้องการตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยจึงตกลงให้ใช้ชื่อจำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ใช้บ้าน อ. เป็นที่ตั้งห้างฯอ. บริหารกิจการเอง จำเลยเพียงแต่ลงชื่อในเอกสารต่าง ๆของห้างฯ รวมทั้งเช็ค 3 ฉบับ เพื่อให้ อ. นำไปใช้ในกิจการของห้างฯ โดยยังไม่ได้ประทับตราของห้างฯ และกรอกข้อความนั้น ถือว่าจำเลยเป็นผู้ที่แสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นหุ้นส่วนอยู่ในห้างหุ้นส่วน จึงต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้สินของห้างนั้นเสมอเป็นหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1054 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เช็คที่จำเลยในฐานะผู้จัดการห้างหุ้นส่วนลงชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายและประทับตราของห้างฯ เป็นเช็คของห้างหุ้นส่วนจำกัด ค. ซึ่งจำเลยได้ลงชื่อสั่งจ่ายเช็คทั้งสามฉบับดังกล่าวให้ อ. นำไปใช้ในกิจการของห้างฯ เมื่อโจทก์เป็นบุคคลภายนอกไม่ทราบการปฏิบัติระหว่าง อ. กับจำเลย ดังนั้น ในระหว่างคนทั้งสองใครจะเป็นผู้ประทับตราของห้างฯ และกรอกข้อความลงในเช็คทั้งสามฉบับจึงไม่ใช่สาระสำคัญ เช็คทั้งสามฉบับจึงไม่ใช่เช็คปลอม และต้องถือว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ค. ออกเช็คทั้งสามฉบับแลกเงินสดจากโจทก์ เช็คทั้งสามฉบับจึงมูลหนี้จำเลยในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้ตามเช็คทั้งสามฉบับ คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยใช้หนี้เงินกู้แก่โจทก์ตามสัญญากู้ฉบับพิพาทซึ่งได้ระบุจำนวนเงินกู้ 690,000 บาท เท่ากับเงินตามเช็คทั้งสามฉบับและมีข้อความกล่าวถึงเช็คทั้งสามฉบับว่า หากเช็คดังกล่าวสามารถเรียกเก็บเงินได้ครบถ้วนแล้วให้ถือว่าหนี้ตามสัญญากู้เป็นอันระงับในทันที ดังนี้มูลหนี้ตามสัญญากู้ฉบับพิพาทจึงสืบเนื่องมาจากมูลหนี้ตามเช็คซึ่งจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัวและแม้จำเลยได้ลงชื่อในสัญญากู้โดยไม่ได้ประทับตราของห้างฯ ก็ถือได้ว่าจำเลยได้ทำสัญญากู้กับโจทก์แทนห้างหุ้นส่วนจำกัด ค.จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินจำนวน 690,000 บาท แก่โจทก์ตามสัญญากู้ที่โจทก์ฟ้องพร้อมดอกเบี้ย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2533 จำเลยกู้เงินโจทก์จำนวน 690,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระต้นเงินคืนภายในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2534 แล้วจำเลยสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ให้ 3 ฉบับ ๆ ละ 230,000 บาท แต่โจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย นับแต่วันกู้ถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 340,686 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,030,686 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 690,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้เงินโจทก์ตามฟ้องสัญญากู้ยืมที่โจทก์ฟ้องเป็นสัญญาปลอมโดยมีผู้กรอกข้อความเพิ่มเติมเอง จำเลยไม่เคยสั่งจ่ายเช็คทั้งสามฉบับตามฟ้องชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ เช็คทั้งสามฉบับเป็นเช็คปลอมเพราะมีผู้กรอกข้อความลงในเช็คโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยโจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คตามกฎหมาย ไม่มีสิทธินำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 690,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 ธันวาคม2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาในชั้นนี้ว่า จำเลยต้องรับผิดใช้เงินตามสัญญากู้ที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยลงชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 จำนวนเงิน 690,000 บาท และลงชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คทั้ง 3 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.2 (ล.17) จ.4 (ล.18) จ.6 (ล.19) ซึ่งเป็นเช็คผู้ถือ สั่งจ่ายเงินฉบับละ 230,000 บาท ที่จำเลยนำสืบและฎีกาว่า นายอนุสรณ์ เจริญธนจินดา น้อยภริยาจำเลยต้องการตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดขึ้นเพื่อจำหน่ายสินค้าแข่งกับบริษัทที่นายอนุสรณ์เป็นลูกจ้างอยู่ จำเลยจึงตกลงจดทะเบียนตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด เค.เอช.อินเตอร์เนชั่นแนล โดยใช้ชื่อจำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนเอกสารหมายล.9 และใช้บ้านของนายอนุสรณ์เป็นสถานที่ตั้งห้าง และนายอนุสรณ์เป็นผู้บริหารกิจการเอง จำเลยเพียงแต่ลงชื่อในเอกสารต่าง ๆ ของห้างฯ รวมทั้งเช็คตามฟ้องทั้ง 3 ฉบับ เพื่อให้นายอนุสรณ์นำไปใช้ในกิจการของห้างฯ โดยยังไม่ได้ประทับตราห้างฯ โดยยังไม่ได้ประทับตราห้างฯ และกรอกข้อความนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1054 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าบุคคลใดแสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนด้วยวาจาก็ดี ด้วยลายลักษณ์อักษรก็ดี ด้วยกริยาก็ดี ด้วยยินยอมให้เขาใช้ชื่อตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือรู้แล้วไม่คัดค้านปล่อยให้เขาแสดงว่าตนเป็นหุ้นส่วนก็ดี ท่านว่าบุคคลนั้นย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนเสมือนเป็นหุ้นส่วน ซึ่งมีความหมายว่า ผู้ที่แสดงให้ผู้อื่นให้เข้าใจว่าตนเป็นหุ้นส่วนอยู่ในห้างหุ้นส่วนใดต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้สินของห้างนั้นเสมอเป็นหุ้นส่วน ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่622/2474 ระหว่างนายเซียตี้ เจ้าของยี่ห้อฮั่งหลงเสงโจทก์ นายจงเอี่ยม ที่ 1 กับพวก จำเลย ดังนั้น หากห้างหุ้นส่วนจำกัดเค.เอช.อินเตอร์เนชั่นแนล ไปก่อหนี้กับบุคคลใด จำเลยก็ต้องรับผิดต่อบุคคลนั้นในบรรดาหนี้ของห้างฯเสมือนเป็นหุ้นส่วนตามตัวบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์จำเลยรับกันว่าเช็คทั้งสามฉบับตามเอกสารหมาย จ.2 (ล.17) จ.4 (ล.18) จ.6 (ล.19) เป็นเช็คที่จำเลยในฐานะผู้จัดการห้างหุ้นส่วนลงชื่อเป็นสั่งจ่ายและประทับตราของห้างฯ จึงเป็นเช็คของห้างหุ้นส่วนจำกัดเค.เอช.อินเตอร์เนชั้นแนล ซึ่งจำเลยเบิกความรับว่า ได้ลงชื่อสั่งจ่ายเช็คทั้งสามฉบับให้นายอนุสรณ์นำไปใช้ในกิจการของห้างฯ โดยยังไม่ได้ประทับตราห้างฯ และกรอกข้อความ และโจทก์มีนายอนุสรณ์เบิกความว่า พยานเป็นผู้นำเช็คทั้งสามฉบับไปแลกเงินสดจากโจทก์เห็นว่า โจทก์เป็นบุคคลภายนอกจึงน่าจะไม่ทราบการปฏิบัติระหว่างนายอนุสรณ์กับจำเลย ดังนั้นในระหว่างคนทั้งสองใครจะเป็นผู้ประทับตราของห้างฯ และกรอกข้อความลงในเช็คทั้งสามฉบับจึงไม่ใช่สาระสำคัญ เช็คทั้งสามฉบับจึงไม่ใช่เช็คปลอม ต้องถือว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดเค.เอช.อินเตอร์เนชั่นแนล ออกเช็คทั้งสามฉบับแลกเงินสดจากโจทก์ เช็คทั้งสามฉบับจึงมีมูลหนี้ จำเลยในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้ตามเช็คทั้งสามฉบับ
คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยใช้หนี้เงินกู้แก่โจทก์ตามสัญญากู้หมาย จ.1 (ล.8) โดยนำสืบว่า มูลหนี้ตามสัญญากู้สืบเนื่องมาจากหนี้ตามเช็คทั้งสามฉบับจำเลยให้การและนำสืบเบี่ยงบ่ายไปว่า จำเลยเคยออกเช็คส่วนตัวให้นายอนุสรณ์นำไปแลกเงินสดจากผู้อื่น ต่อมามีการคิดบัญชีกันปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้นายอนุสรณ์จำนวนเงินตามเอกสารหมาย ล.4 จำเลยยังไม่ได้ชำระหนี้ แต่จำเลยได้ลงชื่อในสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1(ล.8) ให้นายอนุสรณ์ไปโดยไม่ได้กรอกข้อความจำเลยไม่เคยทำสัญญากู้กับโจทก์ แต่นายอนุสรณ์เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่ามูลหนี้ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 (ล.8) เกิดจากการที่พยานนำเช็คทั้งสามฉบับไปแลกเงินสดจากโจทก์ โจทก์เห็นว่าเงินมีจำนวนมากจึงให้จำเลยทำสัญญากู้ไว้ด้วยโดยพยานเป็นคนกรอกข้อความลงในสัญญานำไปให้จำเลยลงชื่อในช่องผู้กู้แล้วนำมามอบให้โจทก์เห็นว่า สัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 (ล.8) ได้ระบุจำนวนเงินกู้690,000 บาท เท่ากับเงินตามเช็คทั้งสามฉบับและมีข้อความในข้อ 4 กล่าวถึงเช็คทั้งสามฉบับว่า หากเช็คดังกล่าวสามารถเรียกเก็บเงินได้ครบถ้วนแล้วให้ถือว่าหนี้ตามสัญญากู้เป็นอันระงับในทันที จึงฟังได้ว่ามูลหนี้ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 (ล.8)สืบเนื่องมาจากมูลหนี้ตามเช็คเอกสารหมาย จ.2 (ล.17) จ.4(ล.18) จ.6 (ล.19) ซึ่งจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัวดังวินิจฉัยข้างต้น แม้จำเลยได้ลงชื่อในสัญญากู้โดยไม่ได้ประทับตราของห้างฯ ก็ถือได้ว่าจำเลยได้ทำสัญญากู้กับโจทก์แทนห้างหุ้นส่วนจำกัด เค.เอช.อินเตอร์เนชั่นแนล จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินจำนวน 690,000 บาท แก่โจทก์ตามสัญญากู้ที่โจทก์ฟ้องพร้อมดอกเบี้ย
พิพากษายืน