คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3267/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รถหุ้มเกราะของโจทก์ประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำแต่สามารถกู้ขึ้นมาไว้บนถนนได้ โจทก์ไปขอความร่วมมือจากจำเลยที่ 3 ขอนำรถบรรทุกสิบล้อไปลากจูงรถหุ้มเกราะกลับที่ตั้ง โดยมีจำเลยที่ 4 เป็นคนขับรถบรรทุกสินล้อวิธีการลากจูง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ลวดสลิงผูกกับส่วนหน้าของรถหุ้มเกราะแล้วนำไปผูกแขวนไว้กับท้ายรถบรรทุกสิบล้อให้ล้อหน้าของรถหุ้มเกราะลอยสูงขึ้นจากพื้นถนนแล้วให้รถบรรทุกสิบล้อลากจูงไป แม้ปรากฏว่าขณะลากจูงไปได้ไม่ไกล ลวดสลิงขาดและรถหุ้มเกราะเสียหลักล้ำไปทางขวามือเป็นเหตุให้ชนกับรถเก๋งที่แล่นสวนทางมารถเก๋งเสียหายหมดทั้งคันก็ตาม เมื่อการผูกล้อหน้าของรถหุ้มเกราะให้แขวนลอยอยู่ข้างท้ายรถบรรทุกสิบล้อจะช่วยให้กระชับมั่นสะดวกรวดเร็ว และง่ายแก่การลากจูง โดยไม่ต้องใช้คนขับบังคับรถหุ้มเกราะนอกจากนี้ยังปรากฏว่าไฮดรอลิกเสียทำให้ล้อหน้า 2 ล้อ ของรถหุ้มเกราะไม่หมุน จึงต้องลากจูงโดยให้ล้อหน้าลอยขึ้น เมื่อกรณีเป็นความจำเป็น จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2และที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ลวดสลิงที่ใช้ประจำอยู่กับรถบรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุ ซึ่งเป็นรถวินที่ใช้สำหรับชักลากไม้ซุงที่มีน้ำหนักมาก โดยจำเลยที่ 4 ยืนยันต่อจำเลยที่ 2ใช้ลากจูงได้ ประกอบกับในบริเวณที่เกิดเหตุหากมืดค่ำแล้วอันตรายเคยมีผู้ก่อการร้ายลอบยิง หากไม่ลากรถหุ้มเกราะออกจากที่เกิดเหตุผู้ก่อการร้ายอาจเข้าโจมตีเผารถหุ้มเกราะจะเสียหายแก่ทางราชการ ดังนี้ จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จำเลยที่ 1และที่ 2 จะเลือกปฏิบัติเป็นอย่างอื่น นอกจากจะต้อง ลากจูงรถหุ้มเกราะไป ดีกว่าจะปล่อยไว้ที่นั่นให้เสี่ยงอันตรายและเสี่ยงต่อความบกพร่องในหน้าที่ ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประมาทเลินเล่อในเหตุนี้ การลากจูงรถหุ้มเกราะในคดีนี้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น และจำเลยที่ 4 ได้ถูกเจ้าของรถเก๋งที่ถูกรถหุ้มเกราะ ชนฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 3 และโจทก์ฐานละเมิด ศาลพิพากษาถึงที่สุดโดยวินิจฉัยว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 4กับเจ้าพนักงานตำรวจในสังกัดของโจทก์ และฟังว่าจำเลยที่ 3เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4ด้วย ดังนี้ แม้โจทก์ผู้เดียวชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของรถเก๋งไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อการจัดการผูกลวดสลิงเข้ากับรถหุ้มเกราะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลสั่งการและดำเนินการโดยเจ้าพนักงานตำรวจในสังกัดของโจทก์ แม้จะเป็นลวดสลิงเก่าและมีรอยชำรุดเป็นบางส่วนหรือเป็นลวดเส้นเล็กแต่ถ้าหากผูกหลายทบเจ้าด้วยกันก็เป็นลวดเส้นใหญ่และจะช่วยไม่ให้ขาดได้ และกรณีไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจในสังกัดของโจทก์ไม่สามารถดำเนินการเช่นนี้ได้ กรณีต้องถือว่าความเสียหายเกิดจากความผิดของโจทก์เอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226,227,432 วรรคสาม

ย่อยาว

คดีนี้ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาพิพากษากับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1624/2536 ของศาลชั้นต้น ซึ่งยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3คงมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3ขับรถบรรทุกสิบล้อของจำเลยที่ 3 ลากจูงรถหุ้มเกราะของโจทก์เพื่อนำไปซ่อมที่จังหวัดสงขลา จำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นข้าราชการตำรวจในสังกัดของโจทก์มีหน้าที่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 4 กระทำการโดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้รถหุ้มเกราะพลิกคว่ำไปทับรถเก๋งของนายสัมพันธ์ เศรษฐ์วรพันธ์ที่แล่นส่วนทางมาเสียหายหมดทั้งคัน และนายกิ้มเส้ง แซ่เบ้คนขับรถเก๋งถึงแก่ความตาย นายชัยยศ ชัยรัตน์มงคลผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บสาหัส นายสัมพันธ์ฟ้องโจทก์กับจำเลยที่ 3และที่ 4 ให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย และโจทก์ได้ชำระค่าเสียหายให้นายสัมพันธ์ตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวรวม 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2525 ชำระ 611,042.52 บาทต่อมาวันที่ 8 กันยายน 2529 ชำระอีก 1,453,673.34 บาทรวมเป็นเงิน 2,064,715.86 บาท โจทก์ชอบที่จะได้รับชดใช้เงินดังกล่าวจากจำเลยทั้งสี่ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงิน 2,064,715.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากจำนวนเงิน 611,042.52 บาท ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2525 และจากจำนวนเงิน 1,453,673.34 บาทตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2529 จนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ลวดสลิงขาดเป็นเหตุสุดวิสัยโจทก์ชำระค่าเสียหายไปตามอำเภอใจ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ชดใช้เงินคนละ688,238.60 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 203,680.83 บาท นับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2525และจากต้นเงิน 484,557.78 บาท นับแต่วันที่ 8 กันยายน 2529จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3และที่ 4 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสี่จะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า รถหุ้มเกราะคันหมายเลข 0115 ของโจทก์ ขณะแล่นลาดตะเวนรักษาความสงบเรียบร้อยได้ประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำแต่สามารถกู้ขึ้นมาไว้บนถนนได้ เจ้าพนักงานตำรวจในสังกัดของโจทก์ไปขอความร่วมมือจากจำเลยที่ 3 ขอนำรถบรรทุกสิบล้อไปลากจูงรถหุ้มเกราะกลับที่ตั้ง โดยมีจำเลยที่ 4 เป็นคนขับรถบรรทุกสิบล้อ วิธีการลากจูงใช้ลวดสลิงผูกกันส่วนหน้าของรถหุ้มเกราะแล้วนำไปผูกแขวนไว้กับท้ายรถบรรทุกสิบล้อ ให้ล้อหน้าของรถหุ้มเกราะลอยสูงขึ้นจากพื้นถนน แล้วให้รถบรรทุกสิบล้อลากจูงไป ปรากฏว่าลากจูงไปได้ไม่ไกลลวดสลิงขาด รถหุ้มเกราะเสียหลักล้ำไปทางขวามือ เป็นเหตุให้ชนกับรถเก๋งที่แล่นสวนทางมา รถเก๋งเสียหายหมดทั้งคัน เจ้าของรถเก๋งฟ้องเรียกค่าเสียหายโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายไปแล้วจึงมาฟ้องไล่เบี้ยเป็นคดีนี้
ในปัญหาที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2ประมาทเลินเล่อคือ แทนที่จะลากจูงให้รถหุ้มเกราะแล่นไปทั้ง4 ล้อ ก็กลับผูกล้อหน้าของรถหุ้มเกราะให้แขวนลอยอยู่ข้างท้ายรถบรรทุกสิบล้อ แล้วลากจูงไปโดยเหลือล้อหลังของรถหุ้มเกราะแล่นไปเพียง 2 ล้อ ในข้อนี้เห็นได้ว่า การผูกล้อหน้าของรถหุ้มเกราะให้แขวนลอยอยู่ข้างท้ายรถบรรทุกสิบล้อจะช่วยให้กระชับมั่น สะดวกรวดเร็วและง่ายแก่การลากจูงโดยไม่ต้องใช้คนขับบังคับรถหุ้มเกราะ นอกจากนี้พันตำรวจโทเกียรติ วัฒนะพงศ์พันธุ์ ผู้มีหน้าที่ซ่อมบำรุงรักษารถในราชการของโจทก์เป็นพยานโจทก์เบิกความว่า เนื่องจากไฮดรอลิกเสียทำให้ล้อหน้า 2 ล้อ ของรถหุ้มเกราะไม่หมุนจึงต้องลากจูงโดยให้ล้อหน้าลอย ดังนี้ เห็นได้ว่าเป็นความจำเป็นที่ไม่อาจถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1และที่ 2 ข้อที่โจทก์อ้างว่าใช้ลวดสลิงที่เป็นของเก่าชำรุดและมีขนาดเล็ก ในข้อนี้ปรากฏว่าเป็นลวดสลิงที่ใช้ประจำอยู่กับรถบรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุ ซึ่งเป็นรถวินที่ใช้สำหรับชักลากไม้ซุงที่มีน้ำหนักมาก จำเลยที่ 2 เบิกความว่าจำเลยที่ 4 ยืนยันต่อพยานว่าใช้ลากจูงได้นายอนันต์ เนตยสุภา ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 3เบิกความว่าในบริเวณที่เกิดเหตุหากมืดค่ำแล้วอันตรายเคยมีผู้ก่อการร้ายลอบยิง หากไม่ลากรถหุ้มเกราะออกจากที่เกิดเหตุผู้ก่อการร้ายอาจเข้าโจมตีเผารถหุ้มเกราะจะเสียหายแก่ทางราชการ ดังนี้ จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จำเลยที่ 1 และที่ 2จะเลือกปฏิบัติเป็นอย่างอื่น นอกจากจะต้องลากจูงรถหุ้มเกราะไปดีกว่าจะปล่อยไว้ที่นั่นให้เสี่ยงอันตราย และเสี่ยงต่อความบกพร่องในหน้าที่ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประมาทเลินเล่อในเหตุนี้
สำหรับจำเลยที่ 4 ได้ถูกเจ้าของรถเก๋งฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 3 และโจทก์ฐานละเมิด รายละเอียดปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 397/2525 ของศาลจังหวัดพัทลุง ซึ่งศาลพิพากษาถึงที่สุดโดยวินิจฉัยว่าเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 4กับเจ้าพนักงานตำรวจในสังกัดของโจทก์ และฟังว่าจำเลยที่ 3เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ด้วยเหตุละเมิดในคดีดังกล่าวเป็นเหตุเดียวกับเหตุละเมิดในคดีนี้ ดังนั้น จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องถูกผูกพันตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าว โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 จะต้องรับผิดร่วมกับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เจ้าของรถเก๋ง แต่เมื่อโจทก์ผู้เดียวชดใช้ค่าเสียหายไปแล้วจะมีสิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยที่ 3และที่ 4 ได้หรือไม่ นั้น ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าการจัดการผูกลวดสลิงเข้ากับรถหุ้มเกราะนั้น อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลสั่งการและดำเนินการโดยเจ้าพนักงานตำรวจในสังกัดของโจทก์แม้จะเป็นลวดสลิงเก่าและมีรอบชำรุดเป็นบางส่วนหรือเป็นลวดเส้นเล็ก แต่ถ้าหากผูกหลายทบเข้าด้วยกันก็กลายเป็นลวดเส้นใหญ่และจะช่วยไม่ให้ขาดได้ ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจในสังกัดของโจทก์ไม่สามารถดำเนินการเช่นนี้ได้กรณีต้องถือว่าความเสียหายเกิดจากความผิดของโจทก์เองโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226, 227, 432 วรรคสามอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246, 247
พิพากษายืน

Share