คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4008/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาผิดสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันจนเสร็จการถึงแม้ว่าผู้รับมอบอำนาจจะเคยฟ้องจำเลยในข้อหาผิดสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันมาครั้งหนึ่งแล้วแต่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะโจทก์ขาดนัดพิจารณา จึงยังไม่เสร็จการตามที่ได้มอบอำนาจไว้ดังนั้น ผู้รับมอบอำนาจจึงอาศัยหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมาฟ้องจำเลยใหม่ในมูลหนี้รายเดียวกันได้ ไม่จำต้องทำหนังสือมอบอำนาจใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2534 จำเลยที่ 1ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ จากโจทก์ในราคา577,632 บาทตกลงชำระเป็นรายเดือน รวม 48 งวด งวดละ 12,034 บาทโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาตั้งแต่งวดที่ 3 ซึ่งต้องชำระในวันที่3 พฤษภาคม 2534 สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน โจทก์ได้รถยนต์คืนเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2534 ในสภาพชำรุดทรุดโทรมโจทก์เสียหายขาดประโยชน์ที่จะได้ใช้รถยนต์พิพาท คิดเป็นค่าเช่าเดือนละ 6,000 บาท จนถึงวันยึดรถยนต์คืนเป็นเงิน49,400 บาทโจทก์นำรถยนต์ออกประมูลขายได้เงิน 276,000 บาทราคายังขาดอยู่อีก 277,564 บาท รวมเป็นเงิน 326,964 บาทและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันยึดรถยนต์คืนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 75,201 บาท รวม 402,165 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 402,165 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ในต้นเงิน 326,964 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้นางสาวทิพวรรณ บุรินทราภิบาล นางสาวอรุณี ไพรอร่ามคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีนี้แทน เพราะหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ได้นำไปใช้ในการดำเนินคดีระหว่างโจทก์และจำเลยนี้มาครั้งหนึ่งแล้วและคดีดังกล่าวได้ถึงที่สุดไปแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 165,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาในข้อกฎหมายว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่มาฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้ได้เคยฟ้องจำเลยที่ 2 ในมูลหนี้รายเดียวกันกับคดีนี้มาครั้งหนึ่งแล้วในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4025/2536ของศาลชั้นต้น โดยในการฟ้องคดีดังกล่าวผู้รับมอบอำนาจได้อาศัยหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งเป็นหนังสือมอบอำนาจเฉพาะคดีฟ้องจำเลยที่ 2 ไปแล้ว ผู้รับมอบอำนาจจึงไม่สามารถนำมาใช้ฟ้องคดีนี้ได้อีก นอกเสียจากจะได้รับมอบอำนาจใหม่เท่านั้น จำเลยที่ 2 ได้ให้การต่อสู้มาและยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องดังกล่าวซึ่งเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นตั้งเป็นประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยให้จึงเป็นการไม่ชอบ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 2 ได้ยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องตามที่ฎีกามาซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้อุทธรณ์โดยตรงแต่ได้ยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์คดีจึงมีประเด็นตามคำแก้อุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัยให้เมื่อศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยประเด็นข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปทีเดียว ปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2ว่าโจทก์มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจทั้งสองฟ้องจำเลยในข้อหาผิดสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน ตั้งแต่วันที่18 พฤศจิกายน 2535 เป็นต้นไปจนเสร็จการ ซึ่งถึงแม้ว่าผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสองจะเคยฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาผิดสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4025/2536 ของศาลชั้นต้นมาครั้งหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ในคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะโจทก์ขาดนัดพิจารณา กรณีจึงยังไม่เสร็จการตามที่ได้มอบอำนาจไว้ ดังนั้นการที่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสองได้อาศัยหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวที่เคยฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4025/2536 ของศาลชั้นต้นมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ใหม่ภายในกำหนดอายุความ ในข้อหาผิดสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันอันเป็นมูลหนี้รายเดียวกันย่อมเป็นการฟ้องตามข้อกำหนดของหนังสือมอบอำนาจ ไม่จำต้องทำหนังสือมอบอำนาจใหม่โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง”
พิพากษายืน

Share