คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7041/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อ กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกัน ร่วมกันชำระค่าเสียหายเนื่องจากรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อจากโจทก์สูญหายไป จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้และอ้างเหตุว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อได้ประกันภัยไว้กับบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ขอให้เรียกบริษัทสินมั่นคงประกันภัยจำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นจำเลยร่วม อันเป็นการร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) ศาลชั้นต้นอนุญาต จำเลยร่วมให้การปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัยจำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน คำให้การของจำเลยร่วมจึงเป็นปฏิปักษ์ต่อจำเลยทั้งสาม เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ และยกฟ้องสำหรับจำเลยร่วม โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายเพิ่มขึ้น ส่วนจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ขอชำระค่าเสียหายน้อยลง และขอให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยด้วย เช่นนี้ต้องถือว่าจำเลยร่วมยังเป็นคู่ความในชั้นอุทธรณ์ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามและจัดส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามให้เฉพาะโจทก์โดยไม่ได้ มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามให้แก่จำเลยร่วมเพื่อแก้อุทธรณ์ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 235 และการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยทั้งสามพร้อมสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณา และที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาไปโดยมิได้มีคำสั่งให้แก้ไขเกี่ยวกับกระบวนพิจารณา ดังกล่าวเสียก่อน กับที่ศาลชั้นต้นไม่นัดให้จำเลยร่วมมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีไปโดยมิชอบ เมื่อคดีปรากฏเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา จึงต้องยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (2) ประกอบด้วยมาตรา 247 และต้องถือว่าข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสามฎีกาต่อมายังมิได้ผ่านการพิจารณาและพิพากษาของศาลอุทธรณ์ จำเลยทั้งสามจึงยังไม่มีสิทธิที่จะฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ส่งสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการจัดส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามให้แก่จำเลยร่วม แล้วส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาและพิพากษาใหม่ ตามรูปคดีและยกฎีกาของจำเลยทั้งสาม คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้จำเลยทั้งสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 298,890.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 215,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 7 สิงหาคม 2539) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ยกฟ้องสำหรับจำเลยร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อ กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันร่วมกันชำระค่าเสียหายเนื่องจากรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อจากโจทก์สูญหายไป จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้และอ้างเหตุว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อได้ประกันภัยไว้กับบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ขอให้เรียกบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นจำเลยร่วม อันเป็นการร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ศาลชั้นต้นอนุญาต จำเลยร่วมให้การปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน คำให้การของจำเลยร่วมจึงเป็นปฏิปักษ์ต่อจำเลยทั้งสาม เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ และยกฟ้องสำหรับจำเลยร่วม โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายเพิ่มขึ้น ส่วนจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ขอชำระค่าเสียหายน้อยลง และขอให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยด้วย เช่นนี้ต้องถือว่าจำเลยร่วมยังเป็นคู่ความในชั้นอุทธรณ์ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสาม และจัดส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามให้เฉพาะโจทก์โดยไม่ได้มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามให้แก่จำเลยร่วมเพื่อแก้อุทธรณ์ จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 235 และการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยทั้งสามพร้อมสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณา และที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาไปโดยมิได้มีคำสั่งให้แก้ไขเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาดังกล่าวเสียก่อน กับที่ศาลชั้นต้นไม่นัดให้จำเลยร่วมมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีไปโดยมิชอบ เมื่อคดีปรากฏเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา จึงต้องยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบด้วยมาตรา 247 และต้องถือว่าข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสามฎีกาต่อมายังมิได้ผ่านการพิจารณาและพิพากษาของศาลอุทธรณ์ จำเลยทั้งสามจึงยังไม่มีสิทธิที่จะฎีกา
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ส่งสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการจัดส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามให้แก่จำเลยร่วม แล้วส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี และยกฎีกาของจำเลยทั้งสาม คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้จำเลยทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ.

Share