คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4590/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การแสดงหรือบันทึกการแสดงของนักแสดงที่ได้จัดทำขึ้นก่อนการใช้บังคับของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ไม่ได้รับความคุ้มครอง การที่โจทก์รับจ้างขับร้องเพลงโดยบันทึกเสียงในห้องบันทึกระหว่างปี 2496 – 2510 ไม่ว่าจะมีสิทธิของนักแสดงหรือไม่ก็ตาม ย่อมไม่อยู่ภายในขอบเขตการคุ้มครองของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 44, 45, 49, 50, 52, 53, 69, 74, 76, 78, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 และขอให้สั่งจ่ายเงินค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิของนักแสดง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ จำเลยที่ 1 กับที่ 2 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า การแสดงหรือบันทึกการแสดงของนักแสดงที่ได้จัดทำขึ้นก่อนการใช้บังคับของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จะได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 78 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 หรือไม่ ในปัญหานี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้วินิจฉัยว่าสิทธิของนักแสดงที่เกิดขึ้นก่อนการใช้บังคับของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 78 วรรคสอง แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ว่าสิทธิของนักแสดงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าว เห็นว่า มาตรา 78 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เป็นบทเฉพาะกาลที่บัญญัติขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์แก่งานที่ได้จัดทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ใช้บังคับ และไม่มีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 และพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 แต่เป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จึงให้ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ซึ่งเห็นได้ว่า มาตรา 78 ทั้งวรรคหนึ่งและวรรคสองเป็นเรื่องเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ แต่สิทธิของนักแสดงเป็นสิทธิข้างเคียง (Related Rights หรือ Neighboring Rights) ของลิขสิทธิ์ แม้จะอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์เช่นกัน แต่ก็ไม่ใช่สิทธิอย่างเดียวกันกับลิขสิทธิ์ นอกจากนี้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ยังได้บัญญัติแยกลิขสิทธิ์ไว้ในหมวด 1 และสิทธิของนักแสดงไว้ในหมวด 2 ทั้งเมื่อพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ประสงค์ให้ใช้บังคับบทบัญญัติใดแก่ทั้งลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดงก็จะบัญญัติไว้ชัดเจน เช่น มาตรา 61 ในหมวด 5 ว่าด้วยลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดงระหว่างประเทศและมาตรา 62 – 66 ในหมวด 6 ว่าด้วยคดีเกี่ยวกับลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดง นอกจากนี้ในหมวด 2 ว่าด้วยสิทธิของนักแสดง ก็มีบทบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับประเภทของสิทธิของนักแสดง เงื่อนไขแห่งการได้มาซึ่งสิทธิ อายุแห่งการคุ้มครอง การโอนสิทธิ การละเมิดสิทธิของนักแสดง และข้อยกเว้นการละเมิดสิทธิตามมาตรา 44 ถึงมาตรา 52 แม้กฎหมายจะบัญญัติให้นำบทบัญญัติข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์มาใช้บังคับแก่สิทธิของนักแสดงโดยอนุโลมตามมาตรา 53 ก็ตาม ฉะนั้น การแสดงหรือบันทึกการแสดงของนักแสดงที่ได้จัดทำขึ้นก่อนการใช้บังคับของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จึงไม่ได้รับความคุ้มครอง การที่โจทก์รับจ้างขับร้องเพลงโดยบันทึกเสียงในห้องบันทึกระหว่างปี 2496 – 2510 ไม่ว่าจะมีสิทธิของนักแสดงหรือไม่ก็ตาม ย่อมไม่อยู่ภายในขอบเขตการคุ้มครองของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น…
พิพากษายืน.

Share