แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าหุ้นพิพาทเป็นของโจทก์และ ป. ผู้ตายซึ่งใส่ชื่อจำเลยทั้งสองไว้แทน และขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นกลับมาเป็นของโจทก์และผู้ตายเพื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกจะนำไปแบ่งปันให้แก่ทายาทของผู้ตายต่อไป จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า ผู้ตายโอนหุ้นพิพาทให้แก่ ก. ผู้เยาว์ ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของโจทก์กับผู้ตาย โดยฝากไว้ในชื่อของจำเลยทั้งสองจนกว่า ก. จะจบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือบรรลุนิติภาวะ ทั้งโจทก์ให้การสัตยาบันแก่การโอนหุ้นนั้นแล้ว จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนหุ้น ประเด็นหลักในคดีเป็นเรื่องที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองถือหุ้นพิพาทไว้แทนโจทก์กับผู้ตายหรือแทน ก. แม้จำเลยทั้งสองจะให้การต่อสู้เกี่ยวกับการจัดการสินสมรสด้วยว่า โจทก์ให้การสัตยาบันแก่การโอนหุ้นพิพาทนั้นแล้ว ก็เป็นเพียงมูลเหตุแห่งข้อต่อสู้ที่ว่าจำเลยทั้งสองถือหุ้นพิพาทไว้แทน ก. ไม่ได้ถือไว้แทนโจทก์และผู้ตายเท่านั้น กรณีเป็นการโต้แย้งกันในเรื่องตัวการตัวแทนและเป็นปัญหาเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งจะต้องบังคับกันตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 15 และบรรพ 6 ไม่ได้นำ ป.พ.พ. บรรพ 5 มาใช้บังคับโดยตรง จึงไม่เป็นคดีครอบครัวตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าหุ้นบริษัทอาร์ เอ็ม แปซิฟิค พาร์ทเนอร์ส จำกัด จำนวน 2,458 หุ้น (ที่ถูก 2550 หุ้น) และจำนวน 2,550 หุ้น เป็นของโจทก์และนายปีเตอร์ ห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้อง ให้เพิกถอนการโอนหุ้นโดยให้หุ้นดังกล่าวกลับมาเป็นของโจทก์และนายปีเตอร์หากไม่สามารถเพิกถอนได้ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหาย 254,800 บาท และจำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหาย 255,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ปีนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดชี้สองสถานและกำหนดแนวทางในการดำเนินคดี ศาลแพ่งเห็นว่า กรณีมีปัญหาว่า คดีจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่งหรือศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง จึงส่งสำนวนให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11
พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 4 บัญญัติว่า คดีครอบครัว หมายความว่า คดีแพ่งที่ฟ้องหรือร้องขอต่อศาลหรือกระทำการใด ๆ ในทางศาลเกี่ยวกับผู้เยาว์หรือครอบครัว ซึ่งจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับครอบครัว ดังนั้น คดีที่เกี่ยวด้วยการสมรส สิทธิและหน้าที่หรือความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา บิดามารดาและบุตรไม่ว่าในทางใด ซึ่งพิพาทกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ทั้งหมด คดีที่เกี่ยวด้วยสถานะและความสามารถของบุคคลอันเกี่ยวกับครอบครัวหรือส่วนได้ส่วนเสียของผู้เยาว์ซึ่งพิพาทกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในบรรพ 1 มาตรา 21 ถึง 28, 32, 43 และ 44 และในบรรพ 6 มาตรา 1610, 1611, 1687 และ 1692 รวมทั้งกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัวหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับครอบครัว ย่อมถือเป็นคดีครอบครัวทั้งสิ้น คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าหุ้นพิพาทเป็นของโจทก์และนายปีเตอร์ ผู้ตายซึ่งใส่ชื่อจำเลยทั้งสองไว้แทน และขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นกลับมาเป็นของโจทก์และผู้ตายเพื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกจะนำไปแบ่งปันให้แก่ทายาทของผู้ตายต่อไป จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า ผู้ตายโอนหุ้นพิพาทให้แก่เด็กชาย ก. ผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของโจทก์กับผู้ตาย โดยฝากไว้ในชื่อของจำเลยทั้งสองจนกว่าเด็กชาย ก. จะจบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือบรรลุนิติภาวะ ทั้งโจทก์ให้สัตยาบันแก่การโอนหุ้นนั้นแล้ว จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนหุ้น เห็นว่า ประเด็นหลักในคดีเป็นเรื่องที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองถือหุ้นพิพาทไว้แทนโจทก์กับผู้ตายหรือแทนเด็กชาย ก. แม้จำเลยทั้งสองจะให้การต่อสู้เกี่ยวกับการจัดการสินสมรสด้วยว่า โจทก์ให้สัตยาบันแก่การโอนหุ้นพิพาทนั้นแล้ว ก็เป็นเพียงมูลเหตุแห่งข้อต่อสู้ที่ว่าจำเลยทั้งสองถือหุ้นพิพาทไว้แทนเด็กชาย ก. ไม่ได้ถือไว้แทนโจทก์และผู้ตายเท่านั้น กรณีเป็นการโต้แย้งกันในเรื่องตัวการตัวแทนและเป็นปัญหาเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งจะต้องบังคับกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 15 และบรรพ 6 ไม่ได้นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 มาใช้บังคับโดยตรง คดีนี้จึงไม่เป็นคดีครอบครัวตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)
วินิจฉัยว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว
วินิจฉัย ณ วันที่ 12 เดือน กันยายน พุทธศักราช 2559
(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ)
ประธานศาลฎีกา