คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5798/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลย มิใช่ฟ้องเรียกค่าเสียหาย โจทก์ไม่จำต้องบรรยายฟ้องเกี่ยวกับจำนวนภาษีต่าง ๆ คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายชัดแจ้งแล้วว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ของมูลค่างานที่มีการชำระภายหลังจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 มีผลใช้บังคับ คำฟ้องโจทก์ ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม กรณีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/4 นั้น ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30)พ.ศ. 2534 มาตรา 7 ได้บัญญัติให้ยกเลิกภาษีการค้าและมาตรา 8 ประกอบด้วยมาตรา 2(2) บัญญัติให้นำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้แทนภาษีการค้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 เป็นต้นไปแต่ในกรณีที่สินค้าได้ขายเสร็จเด็ดขาดหรือการให้บริการได้สิ้นสุดลงก่อนวันที่ 1 มกราคม 2535 มาตรา 24 บัญญัติให้ผู้ขายหรือให้บริการยังคงเสียภาษีการค้าต่อไป ดังนั้น กรณีที่มีการขายสินค้าหรือให้บริการแก่คู่สัญญาก่อนวันที่ 1 มกราคม 2535 และการขายมิได้เสร็จเด็ดขาดหรือการให้บริการมิได้สิ้นสุดลงก่อนวันดังกล่าว ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าหรือให้บริการจึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีการค้าต่อไปแต่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมาตรา 82/4แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 มีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราดังกล่าวจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น แม้ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 30)ฯ มาตรา 22 จะบัญญัติว่า “เพื่อเป็นการ บรรเทาภาระภาษีให้กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งประกอบกิจการให้บริการตามสัญญาที่มีข้อกำหนดให้ชำระค่าตอบแทนตามส่วนของบริการที่ทำ โดยได้ทำสัญญาไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัติฯ มีผลใช้บังคับ ถ้ากรณีเข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธิขอยกเว้นการเรียกเก็บภาษีขายจากผู้ว่าจ้างตามมาตรา 82/4 วรรคหนึ่งแห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติฯ นี้ และขอเสียภาษีการค้าตามหมวด 4 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากรก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติฯ นี้ต่อไป”บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการให้สิทธิผู้ประกอบการที่จะเลือกเสียภาษีการค้าตามกฎหมายเก่าหรือเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายใหม่ก็ได้ หากกรณีเข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดการที่โจทก์เลือกเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายใหม่จึงเป็นการใช้สิทธิตามปกติ หาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตโจทก์จึงมีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีขาย)อัตราร้อยละ 7 จากจำเลย ตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากรได้ ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าได้นำภาษีมูลค่าเพิ่มมารวมไว้กับราคาค่าจ้างจำนวนเงินภาษีที่ปรากฏในใบระบุราคาก่อสร้างก็มิได้ระบุชัดเจนว่าเป็นภาษีประเภทใดและไม่อาจฟังว่าภาษีดังกล่าวเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะในขณะทำสัญญาจ้างและใบสรุปราคานั้นเป็นเวลาก่อนมีการใช้กฎหมายเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มและยังไม่ทราบว่าจะมีภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่มีอัตราภาษีมากน้อยเพียงใดจึงเป็นไปไม่ได้ว่าจะมีการนำภาษีมูลค่าเพิ่มมารวมไว้กับค่าจ้าง ทั้งค่าภาษีตามใบสรุปราคาหากหมายถึงภาษีที่จะมีการบังคับใช้ภายหลังการทำสัญญาก็น่าจะระบุให้ชัดแจ้งไว้ในสัญญาจ้างว่าโจทก์จะเป็นผู้รับผิดชอบชำระภาษีอากรทุกประเภทรวมทั้งภาษีที่จะมีการนำมาใช้บังคับภายหลังด้วย แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อความเช่นว่านั้นในสัญญา กรณีจึงไม่อาจฟังได้ว่ามีสัญญาให้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในใบค่าจ้างแล้วด้วย โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเป็นผู้มีหน้าที่ชำระภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นในการคิดราคาค่าบริการผู้ให้บริการย่อมกำหนดราคาค่าบริการโดยคำนวณรวมภาษีดังกล่าวไว้โดยเฉพาะใบสรุปราคาค่าก่อสร้าง รวมทั้งหนังสือแจ้งการเรียกเก็บเงินค่างวดงานและเอกสารรายละเอียดของมูลค่างานก็ระบุว่า ค่าจ้างดังกล่าวมีภาษีรวมอยู่ด้วยจึงฟังได้ว่าค่าจ้างตามสัญญาได้รวมภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นไว้ด้วย แต่ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 79ฐานภาษีสำหรับการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือให้บริการรวมทั้งภาษีสรรพสามิตถ้าหากมีด้วย เมื่อโจทก์ได้รับค่าจ้างซึ่งมีภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นรวมอยู่ด้วยการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 จึงต้องคำนวณจากค่าจ้างซึ่งมีภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นรวมอยู่ด้วย แม้จำเลยจะไม่ยื่นคำแถลงเรื่องการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ภายหลังสิ้นระยะเวลาที่ศาลกำหนดให้จำเลยแล้ว ซึ่งเป็นกรณีที่ถือได้ว่าจำเลยทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบมาตรา 246 ศาลชั้นต้นมีอำนาจจำหน่ายคดีเสียจาก สารบบความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132(1)และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 13 แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 ไม่ได้บังคับว่าศาลต้องจำหน่ายคดีเสมอไป เป็นแต่ให้ศาลใช้ดุลพินิจการที่จำเลยมายื่นคำแถลงขอให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ใหม่เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งเกินกำหนดตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่จะยื่นได้เพียงวันเดียว แสดงว่าจำเลยประสงค์จะให้ดำเนินคดีต่อไป ทั้งศาลภาษีอากรกลางก็ยัง มิได้มีคำสั่งจำหน่ายคดี ดังนั้น การที่ศาลภาษีอากรกลางสั่งว่าการกระทำของจำเลยยังไม่เป็นการทิ้งอุทธรณ์จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารสำนักงาน และอาคารจอดรถยนต์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานครกำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 21 ตุลาคม 2536 แต่ต่อมาโจทก์และจำเลยตกลงไม่ถือเอากำหนดเวลาแล้วเสร็จของงานเป็นสาระสำคัญเนื่องจากจำเลยได้ขอเปลี่ยนแบบการก่อสร้างหลายครั้ง ทำให้ต้องขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไป สัญญาจ้างก่อสร้างดังกล่าวมิได้ระบุให้ภาษีที่เกิดตามสัญญาไม่ว่าในรูปแบบใด ๆ รวมหรือถือว่ารวมอยู่ในราคาค่าจ้าง ในระหว่างอายุของสัญญาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 ออกมาใช้บังคับโดยยกเลิกระบบภาษีการค้า และนำระบบภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะมาใช้แทน โจทก์ในฐานะผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง (ผู้ให้บริการ) มาก่อนวันที่ 1 มกราคม 2535และมีรายรับเกินกว่า 1,200,000 บาท ต่อปีขึ้นไป ได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7คำนวณภาษีโดยนำภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ จึงมีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลยในฐานะผู้รับบริการในอัตราร้อยละ 7ของเงินค่าจ้างตามสัญญาสำหรับงวดงานที่โจทก์ได้รับชำระค่าจ้างจากจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 เป็นต้นไป โจทก์จึงเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีขาย) ในส่วนของสัญญาที่มีผลต่อเนื่องมาถึงช่วงเวลาที่ภาษีมูลค่าเพิ่มมีผลใช้บังคับคือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2538 สำหรับค่าจ้างในงานงวดที่ 9 ถึง 42 โดยหักค่าจ้างที่จ่ายล่วงหน้าตามสัญญา และหักภาษีการค้า (รวมภาษีท้องถิ่น) อัตราร้อยละ 3.3แล้วคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7 ซึ่งความจริงในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวโจทก์ไม่จำเป็นต้องหักภาษีการค้าให้จำเลย แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้โจทก์อีกทั้งจำเลยไม่ยอมรับภาษีการค้า โจทก์จึงมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บโดยไม่หักภาษีการค้าแต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดอันทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงขอเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีขาย)ของค่าจ้างในสัญญางวดที่ 9 ถึง 42 (หลังค่าจ้างตามมูลค่างานหักคืนเงินที่จ่ายล่วงหน้าแล้ว) นับตั้งแต่วันที่โจทก์ได้รับชำระเงินค่าจ้างดังกล่าวเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จคิดถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 6,805,971.78 บาท เมื่อรวมกับเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม(ภาษีขาย) ของค่าจ้างตามงวดงานในสัญญางวดที่ 9 ถึง 42(หลังค่าจ้างตามมูลค่างานหักเงินคืนที่จ่ายล่วงหน้าแล้ว) เป็นเงิน17,396,007.79 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 24,201,979.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า ขณะโจทก์ทำสัญญารับจ้างจำเลยเป็นที่เข้าใจกันดีอยู่แล้วว่าโจทก์จะต้องเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 3.3 เมื่อกฎหมายเปลี่ยนมาใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มแทน โจทก์จึงยังคงต้องเป็นผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์มีสิทธิที่จะขอยกเว้นการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มโดยขอเสียภาษีการค้าแทนตามมาตรา 22แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30)พ.ศ. 2534 การที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิดังกล่าวจึงเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้จำเลยเสียหาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นอัตราที่สูงเกินกว่าเหตุ และการคำนวณดอกเบี้ยหรือค่าเสียหายของโจทก์ไม่ถูกต้องฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 16,821,939.60 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 3 กันยายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกมีว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย โจทก์จึงต้องบรรยายฟ้องให้เห็นชัดเจนว่า โจทก์ได้เสียหายไปเท่าใด ความเสียหายของโจทก์ก็คือผลต่างระหว่างภาษีที่โจทก์อ้างว่ามีสิทธิจะเรียกเก็บจากจำเลยและภาษีซื้อที่โจทก์เสียไป นอกจากนี้โจทก์จะต้องบรรยายฟ้องต่อไปว่าเมื่อเปลี่ยนมาเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 แล้ว โจทก์ไม่มีหน้าที่จะต้องเสียภาษีการค้า ภาระในการเสียภาษีการค้านี้เป็นเงินเท่าใดจะต้องนำมาหักจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์จะต้องเสีย เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องตามข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงถือว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลย มิใช่ฟ้องเรียกค่าเสียหาย โจทก์ไม่จำเป็นต้องบรรยายฟ้องเกี่ยวกับจำนวนภาษีต่าง ๆ ดังที่จำเลยกล่าวอ้าง คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายชัดแจ้งแล้วว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ของมูลค่างานที่มีการชำระภายหลังจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 มีผลใช้บังคับ คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากร จำนวน 16,840,276.55 บาทแต่โจทก์เรียกภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลย 17,396,007.79 บาท จำเลยยังไม่ทราบว่าโจทก์ฟ้องเรียกเงินจำนวนเท่าใด ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า ข้อความดังกล่าวจำเลยมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างไว้ในคำให้การจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยข้อต่อไปมีว่า โจทก์ฟ้องเรียกภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลยเป็นการเรียกเงินที่เกิดขึ้นอันเกี่ยวกับสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีอายุความ 2 ปีฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องเรียกสินจ้างหรือค่าการงานที่ได้ทำตามสัญญาจ้างก่อสร้างระหว่างโจทก์และจำเลยอันจะมีกำหนดอายุความ 2 ปี แต่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/4ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อนับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของค่างานงวดที่ 9 ถึง 42 ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมาจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกินสิบปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยข้อต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใดเห็นว่า พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30)พ.ศ. 2534 มาตรา 7 ได้บัญญัติให้ยกเลิกภาษีการค้า และมาตรา 8ประกอบด้วยมาตรา 2(2) บัญญัติให้นำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้แทนภาษีการค้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 เป็นต้นไป อย่างไรก็ดีกรณีที่สินค้าได้ขายเสร็จเด็ดขาดหรือการให้บริการได้สิ้นสุดลงก่อนวันที่ 1 มกราคม 2535 มาตรา 24 ได้บัญญัติให้ผู้ขายหรือให้บริการยังคงเสียภาษีการค้าต่อไป ดังนั้นกรณีที่มีการขายสินค้าหรือให้บริการแก่คู่สัญญาก่อนวันที่ 1 มกราคม 2535และการขายมิได้เสร็จเด็ดขาดหรือการให้บริการมิได้สิ้นสุดลงก่อนวันดังกล่าว ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าหรือให้บริการจึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีการค้าต่อไป แต่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7มีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราดังกล่าวจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น แม้ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 มาตรา 22จะบัญญัติว่า “เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งประกอบกิจการให้บริการตามสัญญาที่มีข้อกำหนดให้ชำระค่าตอบแทนตามส่วนของบริการที่ทำโดยได้ทำสัญญาไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัติฯ มีผลใช้บังคับ ถ้ากรณีเข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธิขอยกเว้นการเรียกเก็บภาษีขายจากผู้ว่าจ้างตามมาตรา 82/4 วรรคหนึ่งแห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ นี้และขอเสียภาษีการค้าตามหมวด 4 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากรก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ นี้ต่อไป”บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการให้สิทธิผู้ประกอบการที่จะเลือกเสียภาษีการค้าตามกฎหมายเก่าหรือเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายใหม่ก็ได้หากกรณีเข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด การที่โจทก์เลือกเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายใหม่จึงเป็นการใช้สิทธิตามปกติหาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีขาย) อัตราร้อยละ 7 จากจำเลยตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยข้อต่อไปมีว่า เงินค่าจ้างจำนวน 460,366,286 บาท ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 ได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ด้วยหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลย ไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าได้นำภาษีมูลค่าเพิ่มมารวมไว้กับราคาค่าจ้างจำนวนเงินภาษีที่ปรากฏในใบระบุราคาก่อสร้างก็มิได้ระบุชัดเจนว่าเป็นภาษีประเภทใดและไม่อาจฟังว่าภาษีดังกล่าวเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะในขณะทำสัญญาจ้างและใบสรุปราคานั้นเป็นเวลาก่อนมีการใช้กฎหมายเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มและยังไม่ทราบว่าจะมีภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่มี อัตราภาษีมากน้อยเพียงใดจึงเป็นไปไม่ได้ว่าจะมีการนำภาษีมูลค่าเพิ่มมารวมไว้กับค่าจ้างดังที่จำเลยกล่าวอ้าง อนึ่งค่าภาษีตามใบสรุปราคาหากหมายถึงภาษีที่จะมีการบังคับใช้ภายหลังการทำสัญญาก็น่าจะระบุไว้ให้ชัดแจ้งไว้ในสัญญาจ้างว่าโจทก์จะเป็นผู้รับผิดชอบชำระภาษีอากรทุกประเภทรวมทั้งภาษีที่จะมีการนำมาใช้บังคับภายหลังด้วย แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อความเช่นว่านั้นในสัญญาจึงไม่อาจฟังได้ว่ามีสัญญาให้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในใบค่าจ้างแล้ว สำหรับเอกสารหมาย ล.8 และ ล.9 ที่จำเลยอ้างว่าเป็นหลักฐานให้รับฟังได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในค่าจ้างนั้น ก็ไม่มีข้อความใดให้ฟังได้ ดังที่จำเลยอ้างคดีฟังไม่ได้ว่าเงินค่าจ้างจำนวน 460,366,286 บาท ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 ได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ด้วย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปมีว่า ค่าจ้างตามสัญญาดังกล่าวรวมภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นอัตราร้อยละ 3.3ซึ่งเป็นภาษีที่ใช้บังคับอยู่ในขณะทำสัญญาไว้ด้วยหรือไม่ เห็นว่าในขณะนั้นโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเป็นผู้มีหน้าที่ชำระภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นในการคิดราคาค่าบริการ ผู้ให้บริการย่อมกำหนดราคาค่าบริการโดยคำนวณรวมภาษีดังกล่าวไว้โดยเฉพาะใบสรุปราคาค่าก่อสร้างตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 1 รวมทั้งหนังสือแจ้งการเรียกเก็บเงินค่างวดงานและเอกสารรายละเอียดของมูลค่างานหมาย ล.8 และ ล.9 ก็ระบุว่า ค่าจ้างดังกล่าวมีภาษีรวมอยู่ด้วย จึงฟังได้ว่าค่าจ้างตามสัญญาได้รวมภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นไว้ด้วย แต่ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 79ฐานภาษีสำหรับการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้แก่มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือให้บริการรวมทั้งภาษีสรรพสามิตถ้าหากมีด้วย เมื่อโจทก์ได้รับค่าจ้างซึ่งมีภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นรวมอยู่ด้วย การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 จึงต้องคำนวณจากค่าจ้างซึ่งมีภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นรวมอยู่ด้วย ฉะนั้นที่ศาลภาษีอากรกลางให้นำภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นมาหักออกจากค่าจ้างก่อนที่จะคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจึงไม่ชอบ ดังนั้นภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7 ของเงินค่าจ้างงวดงานที่ 9 ถึง 42หลังจากหักค่าจ้างล่วงหน้าออกแล้วจำนวน 248,514,398 บาทเป็นค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 17,396,007.86 บาท ทั้งนี้โดยไม่ต้องหักภาษีซื้อค่าวัสดุที่โจทก์ได้รับคืนออกก่อนเพราะภาษีซื้อนั้นโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีสิทธิได้รับคืนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 82/3แห่งประมวลรัษฎากรอยู่แล้ว อย่างไรก็ดีเมื่อค่าจ้างดังกล่าวมีภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นอัตราร้อยละ 3.3 รวมอยู่ด้วยทั้งโจทก์มีสิทธิได้รับคืนภาษีดังกล่าวนี้จากกรมสรรพากรเพื่อความเป็นธรรมจึงให้นำภาษีดังกล่าวมาหักออกจากภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7 คงให้จำเลยรับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 3.7 ของยอดเงินค่าจ้างดังกล่าวเป็นเงิน 9,195,032.73 บาท
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อสุดท้ายว่าจำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่าเมื่อหนี้ที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์เป็นหนี้เงินโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง และโจทก์นำสืบว่าโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 25 สิงหาคม 2538 ทวงถามให้จำเลยชำระภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 5 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือตามเอกสารหมาย จ.6 แผ่นที่ 5 จำเลยได้รับหนังสือทวงถามดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2538 ปรากฏตามใบตอบรับเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 10 จึงครบกำหนดชำระหนี้ในวันที่ 2 กันยายน 2538เมื่อจำเลยไม่ชำระจึงได้ชื่อว่าตกเป็นผู้ผิดนัดโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 9,195,032.73 บาทนับตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2538 เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ
ส่วนที่โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า คดีนี้ศาลขยายเวลาให้จำเลยยื่นคำแถลงเรื่องการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ภายหลังที่สิ้นระยะเวลาที่ศาลกำหนดให้จำเลยแล้วและถือว่าจำเลยมิได้ทิ้งอุทธรณ์เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า แม้จำเลยจะไม่ยื่นคำแถลงเรื่องการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ภายหลังสิ้นระยะเวลาที่ศาลกำหนดให้จำเลยแล้วซึ่งเป็นกรณีที่ถือได้ว่าจำเลยทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 174(2) ประกอบมาตรา 246 ศาลชั้นต้นมีอำนาจจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 132(1) และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 13 แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 ไม่ได้บังคับว่า ศาลต้องจำหน่ายคดีเสมอไป เป็นแต่ให้ศาลใช้ดุลพินิจ การที่จำเลยมายื่นคำแถลงขอให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ใหม่เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2540ซึ่งเกินกำหนดตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่จะยื่นได้เพียงวันเดียวแสดงว่าจำเลยประสงค์จะให้ดำเนินคดีต่อไป ทั้งศาลภาษีอากรกลางก็ยังมิได้มีคำสั่งจำหน่ายคดี ดังนั้นการที่ศาลภาษีอากรกลางสั่งว่าการกระทำของจำเลยยังไม่เป็นการทิ้งอุทธรณ์จึงชอบแล้วที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาทั้งหมด อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 9,195,032.73 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 3กันยายน 2538 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share