คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9264/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าพื้นที่ห้องชุด มีข้อความระบุไว้โดยแจ้งชัดว่าบริษัท บ. จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่า แม้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 จะลงชื่อในสัญญาเช่าโดยไม่ได้ประทับตราของจำเลยที่ 1 ตามข้อบังคับก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็ยอมรับเอาผลของสัญญาเช่าดังกล่าวโดยยินยอมให้บริษัท ซ. ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการเข้าไปครอบครองใช้พื้นที่ที่เช่าจากโจทก์แล้ว ทั้ง ๆ ที่บริษัท ซ. มิได้เป็นคู่สัญญาเช่ากับโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำของจำเลยที่ 2 และเข้าไปครอบครองใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่เช่าจากโจทก์แล้ว สัญญาเช่าพื้นที่ห้องชุดดังกล่าวจึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 371,760 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 18,588 บาท นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะขนย้ายและส่งมอบห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์ ให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากห้องเช่าพร้อมส่งมอบให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ทำสัญญาเช่าห้องชุดกับโจทก์และมิได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำสัญญาเช่าห้องชุดตามฟ้อง ไม่เคยเข้าครอบครองห้องชุดที่เช่า และในหนังสือสัญญาเช่าไม่มีตราประทับของบริษัทจำเลยที่ 1 จึงถือว่ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือ ฟ้องร้องบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ จำเลยที่ 2 ทำการในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองไม่เคยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาจากโจทก์ ค่าขาดประโยชน์ของโจทก์ที่เรียกร้องสูงเกินความจริง หากมีค่าเสียหายก็ไม่เกินเดือนละ 5,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากห้องชุดเลขที่ 218/20 ชั้นที่ 1 – 2 ชื่ออาคารชุดเลควิวคอนโดมิเนียม อาคารเจนีวา ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 163297 และให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 371,760 บาท ให้โจทก์ และอีกเดือนละ 5,000 บาท นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2540 จนกว่าจำเลยที่ 1 และบริวารจะขนย้ายและส่งมอบห้องชุดคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะที่ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นไป แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าพื้นที่ห้องชุดจากโจทก์หรือไม่ และได้เข้าครอบครองทำประโยชน์แล้วหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความประกอบสัญญาเช่าพื้นที่ห้องชุดเอกสารหมาย จ. 3 ว่า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2538 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาเช่าพื้นที่ห้องชุดเลขที่ 218/20 ชั้นที่ 1 – 2 ในอาคารเจนีวา เนื้อที่ประมาณ 92 – 94 ตารางเมตร จากโจทก์ มีกำหนด 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2538 ถึงวันที่ 6 พฤษภาคม 2541 อัตราค่าเช่าเดือนละ 18,588 บาท ฝ่ายจำเลยมีนายประเวชน์และนางเอมอรเบิกความเป็นพยาน โดยนายประเวชน์เบิกความว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาเช่าพื้นที่ห้องชุดจากโจทก์และลงชื่อในสัญญาในฐานะผู้เช่า ส่วนนางเอมอรเบิกความว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขอเช่าพื้นที่ห้องชุดจากโจทก์ โดยนางเอมอรให้จำเลยที่ 1 ไปร่างสัญญาเช่าแล้วนำไปให้โจทก์ลงชื่อในฐานะผู้ให้เช่าก่อน ขณะนางเอมอรเตรียมนำสัญญาเช่าไปให้จำเลยที่ 2 ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ลงชื่อ จำเลยที่ 1 แจ้งว่าบริษัทซิตี้เชน (ประเทศไทย) จำกัด ได้ติดต่อขอเช่าพื้นที่ห้องชุดของโจทก์เช่นกัน เห็นว่า สัญญาเช่าพื้นที่ห้องชุด เอกสารหมาย จ. 3 มีข้อความระบุไว้โดยแจ้งชัดว่าบริษัทบางกอกแลนด์เอเจนซี่ จำกัด จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่า แม้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 จะลงชื่อในสัญญาเช่าโดยไม่ได้ประทับตราของจำเลยที่ 1 ตามข้อบังคับในหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ. 2 ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็ยอมรับเอาผลของสัญญาเช่าดังกล่าวโดยยินยอมให้บริษัทซิติ้เชน (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ. 8 เข้าไปครอบครองใช้พื้นที่ที่เช่าจากโจทก์แล้วตามภาพถ่ายหมาย จ. 4 ทั้ง ๆ ที่บริษัทซิตี้เชน (ประเทศไทย) จำกัด มิได้เป็นคู่สัญญาเช่ากับโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำของจำเลยที่ 2 และเข้าไปครอบครองใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่เช่าจากโจทก์แล้ว สัญญาเช่าพื้นที่ห้องชุดดังกล่าวจึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่า
พิพากษายืน.

Share