แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การประกอบกิจการรับฝากเงินซึ่งต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม โดยให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ฝากเป็นดอกเบี้ย และใช้ประโยชน์เงินฝากนั้นในการให้พ่อค้าและผู้รู้จักชอบพอกู้ยืมโดยเรียกค่านายหน้าค่ารางวัล และดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมมีจำนวนสูงกว่าดอกเบี้ยที่จะจ่ายแก่ผู้ฝาก หากกระทำเป็นปกติธุระย่อมเป็นการประกอบการธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมาย
การใดอันมีวัตถุที่ประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายซึ่งตกเป็นโมฆะกรรมนั้น ในสัญญาซึ่งเป็นนิติกรรมทำโดยบุคคลสองฝ่าย ประโยชน์อันเป็นผลสุดท้ายที่ทั้งสองฝ่ายต้องการ คู่กรณีทั้งสองฝ่ายจะต้องร่วมรู้กัน จึงจะเป็นวัตถุที่ประสงค์ของนิติกรรมสัญญานั้น ถ้าคู่สัญญาแต่ฝ่ายเดียวรู้ถึงการกระทำของตนว่าเป็นการต้องห้ามโดยกฎหมาย โดยอีกฝ่ายมิได้ร่วมรู้ด้วย จะถือว่านิติกรรมสัญญานั้นมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยกฎหมายหาได้ไม่
แม้ผู้รับฝากเงินจะประกอบการธนาคารพาณิชย์โดยมิได้รับอนุญาต แต่ผู้ฝากมิได้ร่วมรู้ในการกระทำของผู้รับฝากซึ่งมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยกฎหมาย ดังนี้ นิติกรรมรับฝากเงินระหว่างผู้ฝากกับผู้รับฝากย่อมไม่เป็นโมฆะ ผู้ฝากมีสิทธิเรียกเงินฝากคืนจากผู้รับฝากได้
คดีล้มละลายที่ได้ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2511 ใช้บังคับ และยังค้างพิจารณาอยู่ในศาลหรืออยู่ในระหว่างปฏิบัติการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แม้จะมีการอุทธรณ์ฎีกา คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลหลังจากใช้บังคับพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้ว ค่าธรรมเนียมในการอุทธรณ์ฎีกาก็ยังคงเสียตามอัตราเดิมที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
ย่อยาว
กรณีสืบเนื่องจากจำเลยถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย นายเล็ก กรเณศ เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้อ้างว่าจำเลยลูกหนี้เป็นหนี้ค่ารับฝากเงินและดอกเบี้ยตนอยู่ ๘๙,๗๗๒ บาท ร้อยโทนฤดล เดชประติยุทธ เจ้าหนี้คัดค้านว่า เป็นหนี้เกิดจากการรับฝากเงินหาผลประโยชน์อันผิดกฎหมายด้วยการธนาคารพาณิชย์ เป็นโมฆะ ทั้งหลักฐานการรับฝากเงินก็ไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ กรณีอาจเป็นการสมยอมขอให้ยกคำขอ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเสนอความเห็นต่อศาลแพ่งว่า ควรยกคำขอรับชำระหนี้รายนี้ ศาลแพ่งสั่งเห็นชอบด้วย
ผู้ขอรับชำระหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ขอรับชำระหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าผู้ขอรับชำระหนี้มีเงินฝากลูกหนี้ซึ่งยังไม่ได้รับคืนอยู่ ๖๑,๕๕๖.๑๐ บาท ไม่ใช่หนี้สมยอม การฝากเงินนี้ผู้ขอรับชำระหนี้จะถอนคืนต้องบอกล่วงหน้า ๑ เดือน ลูกหนี้ให้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยร้อยละ ๓ ต่อเดือน โดยทบต้น ลูกหนี้เอาเงินที่รับฝากไปหาผลประโยชน์ให้พ่อค้าและเพื่อน ๆ ที่รู้จักชอบพอกันกู้ยืม โดยลูกหนี้เรียกค่านายหน้า ค่ารางวัล ค่าดอกเบี้ยจากผู้ที่กู้ยืมมีจำนวนสูงกว่าจำนวนดอกเบี้ยที่จะจ่ายให้แก่ผู้ฝาก การกระทำของลูกหนี้เป็นปกติธุระ ดังนั้น การกระทำของลูกหนี้จึงเป็นการประกอบการธนาคารพาณิชย์ ดังบัญญัติในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕
มีปัญหาว่า การกระทำของลูกหนี้ในกิจการธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวมานี้จะเป็นโมฆะหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ในกรณีเช่นนี้ต้องถือหลักตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๑๓ ว่า การใดมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย การนั้นจึงจะตกเป็นโมฆะ ในสัญญาซึ่งเป็นนิติกรรมทำโดยบุคคลสองฝ่าย ประโยชน์อันเป็นผลสุดท้ายที่ทั้งสองฝ่ายต้องการ คู่กรณีทั้งสองฝ่ายจะต้องร่วมรู้กันจึงจะเป็นวัตถุที่ประสงค์ของนิติกรรมสัญญานั้น ถ้าคู่สัญญาแต่ฝ่ายเดียวรู้ถึงการกระทำของตนว่าเป็นการฝ่าฝืนต้องห้ามโดยกฎหมาย โดยอีกฝ่ายมิได้ร่วมรู้ด้วยนั้น จะว่านิติกรรมสัญญานั้นมีวัตถุประสงค์เป็นการฝ่าฝืนต้องห้ามโดยกฎหมายไม่ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ขอรับชำระหนี้ไม่ทราบว่ากิจการที่ลูกหนี้เอาเงินที่รับฝากไปหาประโยชน์เป็นการธนาคารพาณิชย์ ผู้ขอรับชำระหนี้มิได้ร่วมรู้ในการกระทำของลูกหนี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยกฎหมาย ดังนั้น นิติกรรมรับฝากเงินระหว่างผู้ขอรับชำระหนี้กับลูกหนี้จึงไม่เป็นโมฆะ ผู้ขอรับชำระหนี้มีสิทธิเรียกเงินฝากนี้คืนได้ ส่วนปัญหาดอกเบี้ยร้อยละ ๓ ต่อเดือนนั้น ในชั้นฎีกา ผู้ขอรับชำระหนี้ไม่ติดใจเรียกร้อง ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัย
คดีนี้ ในชั้นอุทธรณ์ฎีกา ผู้ขอรับชำระหนี้ผู้อุทธรณ์ฎีกาได้เสียค่าขึ้นศาลมาศาลละ ๒๐๐ บาท ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๑ แต่พระราชบัญญัติฉบับนี้มาตรา ๑๒ บัญญัติว่า บรรดาคดีล้มละลายที่ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ ซึ่งยังคงค้างพิจารณาอยู่ในศาลหรืออยู่ในระหว่างปฏิบัติการของเจ้าพนักงานพิทักทรัพย์ ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการล้มละลายซึ่งใช้อยู่ก่อน คดีนี้เป็นคดีที่เกิดก่อนจึงต้องใช้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ บังคับ มาตรา ๑๗๙ บัญญัติกำหนดค่าธรรมเนียมคดีล้มละลาย ค่าคำขอรับชำระหนี้ไว้ ถ้าหนี้สินเกินหนึ่งหมื่นบาทขึ้นไปให้เสียค่าขึ้นศาลยี่สิบบาท ดังนั้น ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลเกินมาในฟ้องอุทธรณ์ฎีกาศาลละ ๑๘๐ บาท ให้คืนแก่ผู้ขอรับชำระหนี้ไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้ขอรับชำระหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้เงินที่ฝากลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ เป็นจำนวนเงิน ๖๑,๕๕๖.๑๐ บาท