คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2573/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามขู่ให้โจทก์ร่วมนำเงินมามอบให้โดยอ้างว่าเพื่อลบชื่อโจทก์ร่วมออกจากบัญชีผู้ค้ายาเสพติดของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเพื่อที่จะไม่จับกุมโจทก์ร่วม จึงเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจและจูงใจเพื่อให้โจทก์ร่วมมอบให้ซึ่งทรัพย์สินแก่ตนเอง แต่การที่โจทก์ร่วมนำเงินไปมอบให้แก่จำเลยก็เพื่อที่จะให้เจ้าพนักงานจับกุม แสดงว่าโจทก์ร่วมไม่ได้กลัวคำขู่ของจำเลย ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยข่มขืนใจโจทก์ร่วมจนโจทก์ร่วมยอมเช่นว่านั้น การกระทำของจำเลยเป็นเพียงความผิดฐานพยายามกรรโชก แม้จำเลยจะไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157, 337 คืนของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายนฤพนธ์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และ 337 วรรคสอง เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 148 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 12 ปี คืนของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ….ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิดนั้น โดยอ้างว่าโจทก์ร่วมมีชื่อในบัญชีผู้ค้ายาเสพติดของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และขู่ให้โจทก์ร่วมนำเงินมามอบให้ 30,000 บาท ถึง 40,000 บาท เพื่อลบชื่อโจทก์ร่วมออกจากบัญชีผู้ค้ายาเสพติดและจะไม่จับกุมโจทก์ร่วม และจำเลยโทรศัพท์ถึงโจทก์ร่วมระหว่างวันที่ 14 ถึง 16 กรกฎาคม 2540 หลายครั้ง ขู่ให้นำเงินไปให้ จนในที่สุดโจทก์ร่วมวางแผนจับจำเลยโดยนำธนบัตรไปถ่ายสำเนาไว้แล้วนัดให้จำเลยไปรับเงินที่ลานจอดรถบริเวณอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี โดยมีเจ้าพนักงานตำรวจไปซุ่มดูเหตุการณ์เพื่อจับจำเลย เมื่อจำเลยไปรับเงินตามเวลาและสถานที่ที่นัดหมาย พันตำรวจโทปิยวัชร์กับพวกเข้าจับจำเลยได้พร้อมธนบัตรของกลาง นอกจากนี้โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีร้อยตำรวจเอกสุรศักดิ์ มาเบิกความว่า ก่อนจำเลยถูกจับ โจทก์ร่วมมาขอให้ลงบันทึกในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีที่ถูกคนร้ายขู่เรียกเงินไว้เป็นหลักฐานก่อน ร้อยตำรวจเอกสุรศักดิ์ได้ลงบันทึกประจำวัน ร้อยตำรวจเอกธวัช พนักงานสอบสวนมาเบิกความว่า โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์เรื่องที่ถูกจำเลยขู่ให้มอบทรัพย์ให้ ร้อยตำรวจเอกธวัชรู้เรื่องที่โจทก์ร่วมและเจ้าพนักงานตำรวจวางแผนจับจำเลย กับมีพันตำรวจโทปิยวัชร์มาเบิกความว่า โจทก์ร่วมนำธนบัตรไปถ่ายสำเนาเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการจับจำเลย แล้วนำสำเนาธนบัตรพร้อมทั้งธนบัตรมาให้ดู พันตำรวจโทปิยวัชร์วางแผนร่วมกับโจทก์ร่วมและจับจำเลยได้ตามแผนพร้อมธนบัตรของกลาง ศาลฎีกาเห็นว่า พยานโจทก์และโจทก์ร่วม นอกจากโจทก์ร่วมและนายชำนาญซึ่งเป็นราษฎรมาเบิกความยืนยันการกระทำผิดของจำเลยแล้ว พยานโจทก์ปากอื่น คือ ร้อยตำรวจเอกสุรศักดิ์ ร้อยตำรวจเอกธวัช และพันตำรวจโทปิยวัชร์ต่างเป็นเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ เบิกความสอดคล้องตรงกัน และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย คำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีน้ำหนัก ไม่มีข้อต้องระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งใส่ร้ายจำเลยแต่อย่างใด โดยเฉพาะพันตำรวจโทปิยวัชร์เคยเป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยมาก่อน หากจำเลยไม่ได้กระทำผิด เชื่อว่าจะต้องไม่ยอมเบิกความว่าจำเลยเป็นคนร้าย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลย เช่น ฎีกาว่าผิดวิสัยของคนร้ายที่ไปรับเงินที่ขู่กรรโชกจากบุคคลที่ไม่เคยรู้จักโดยไม่กลัวอันตราย ไม่น่าเชื่อว่าคนร้ายจะไม่มีอาวุธ การที่ไม่พบอาวุธที่จำเลยแสดงว่าจำเลยไม่ใช่คนร้าย หรือฎีกาว่าเมื่อจำเลยถูกจับจำเลยไม่แสดงอาการพิรุธกลับแสดงอาการมึน แสดงว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิดนั้น เป็นฎีกาที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามขู่ให้โจทก์ร่วมนำเงินมามอบให้โดยอ้างว่าเพื่อลบชื่อโจทก์ร่วมออกจากบัญชีผู้ค้ายาเสพติดของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเพื่อที่จะไม่จับกุมโจทก์ร่วม พยานหลักฐานจำเลยไม่พอฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วม ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจและจูงใจเพื่อให้โจทก์ร่วมมอบให้ซึ่งทรัพย์สินแก่ตนเองนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่การที่โจทก์ร่วมนำเงินไปมอบให้แก่จำเลยก็เพื่อที่จะให้เจ้าพนักงานจับกุม แสดงว่าโจทก์ร่วมไม่ได้กลัวคำขู่ของจำเลย ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยข่มขืนใจโจทก์ร่วมจนโจทก์ร่วมยอมเช่นว่านั้น การกระทำของจำเลยเป็นเพียงความผิดฐานพยายามกรรโชก ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานกรรโชกอันเป็นความผิดสำเร็จนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แม้จำเลยไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และมีความผิดตามมาตรา 337 วรรคสอง (1) ประกอบมาตรา 80 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 148 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share