คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2126/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลย 1 เดือน โดย ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ขอคัดหมายกักขังจำเลย และเป็นผู้ประกันตัวจำเลยไปในระหว่างอุทธรณ์ ผู้ถูกกล่าวหาย่อมทราบดีว่าศาลพิพากษาลงโทษจำเลยในสถานใด การที่ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำร้องขอถอน หลักประกันและรับหลักประกันคืนโดยมิได้นำตัวจำเลยส่งมอบต่อศาล และศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้มีคำพิพากษา อ้างว่าศาลพิพากษาจำคุก 1 ปี โทษจำรอ ผู้ถูกกล่าวหาหมดข้อผูกพันตามสัญญาประกันอันเป็นเท็จ จึงเป็นการประพฤติตน ไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ศาลล่างมิได้อ้างบทกฎหมายที่เป็นบทลงโทษผู้ถูกกล่าวหาศาลฎีกาย่อมปรับบทเสียให้ถูกต้อง.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจกาศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 2 เดือน รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง จำคุก 1 เดือน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน 1 เดือน จำเลยอุทธรณ์ โดยผู้ถูกกล่าวหาทำสัญญาประกันตัวจำเลยไปในระหว่างอุทธรณ์ ในระหว่างคดีอยู่ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำร้องขอถอนหลักประกันและรับหลักประกันคืน โดยอ้างว่า ศาลพิพากษาจำคุก 1 ปี โทษจำรอ ผู้ถูกกล่าวหาจึงหมดข้อผูกพันตามสัญญาประกัน ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่านให้จำเลยฟัง ศาลชั้นต้นรัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 28 มิถุนายน 2532 ในวันนั้น ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องขอถอนหลักประกันของผู้ถูกกล่าวหา เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหายื่นคำร้องเท็จต่อศาล เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอันเป็นการละเมิดอำนาจศาล ลงโทษจำคุก 1 เดือน
ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ถูกกล่าวหาฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ประกันตัวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ และเป็นผู้ขอคัดคำให้การจำเลย บันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาและหมายกักขังจำเลยระหว่างอุทธรณ์ฎีกา ผู้ถูกกล่าวหาย่อมทราบดีว่าศาลพิพากษาลงโทษจำเลยในสถานใด และในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำร้องขอถอนหลักประกันนั้นผู้ถูกกล่าวหาก็มิได้นำตัวจำเลยส่งมอบต่อศาล และศาลอุทธรณ์ยังมิได้มีคำพิพากษาอันจะทำให้ผู้ถูกกล่าวหาพ้นความรับผิดตามสัญญาประกัน ฉะนั้น การที่ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำร้องขอถอนหลักประกันคืน โดยอ้างเหตุขอคืนอันเป็นเท็จซึ่งผู้ถูกกล่าวหาทราบความจริงอยู่แล้ว หาใช่เขียนคำร้องผิดพลาดไปแต่อย่างใดไม่ พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาส่อแสดงเจตนาไม่สุจริตการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และไม่มีเหตุสมควรที่จะลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษได้ ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาฟังไม่ขึ้นแต่ศาลอุทธรณ์มิได้อ้างบทกฎหมายที่เป็นบทลงโทษผู้ถูกกล่าวหา ศาลฎีกาเห็นสมควรปรับบทเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1), 33 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share