แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ล่วงพ้นกำหนด15วันนับจากวันที่ส่งคำบังคับแม้จะอ้างว่าจำเลยได้ย้ายไปเสียจากภูมิลำเนาตามฟ้องไปอยู่ที่อื่นก่อนฟ้องแล้วจำเลยไม่ทราบว่าถูกฟ้องอันเป็นพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้แต่จำเลยไม่ได้กล่าวว่าจำเลยได้ทราบคำบังคับตั้งแต่เมื่อใดเพื่อให้ทราบว่าพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้นั้นสิ้นสุดลงเมื่อใดทำให้ไม่อาจเริ่มต้นนับกำหนด15วันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา208ได้ถือได้ว่าจำเลยมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งถึงกรณียื่นคำขอล่าช้าและเหตุแห่งการที่ล่าช้านั้นจึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบ
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ราคารถยนต์ จำนวน 659,025 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2537 เป็นต้นไปและให้จำเลยส่งมอบโทรศัพท์มือถือคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 39,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ จำเลยขาดนัดและขาดนัดพิจารณาศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระราคารถยนต์หมายเลขทะเบียน 5 ฮ-7244 กรุงเทพมหานคร ส่วนที่เหลือจำนวน659,025 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแล้วให้จำเลยส่งมอบโทรศัพท์มือถือคืนให้แก่โจทก์ หากส่งมอบคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 39,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้อง เพราะโจทก์ได้ส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกไปให้จำเลย ณ บ้านเลขที่ 10แขวงสำราษราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ตามภูมิลำเนาในทะเบียนบ้าน ความจริงจำเลยได้ย้ายไปอยู่บ้านเลขที่203/747 หมู่ 1 ตำบลบางเสาธง กิ่งอำเภออบางเสาธงจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อประมาณปี 2529 เพื่อไปปกครองดูแลบุตรผู้เยาว์ ซึ่งโจทก์ทราบที่อยู่ของจำเลยดี และที่ทำงานของจำเลยก็อยู่ที่ตำบลบางเสาธง กิ่งอำเภอบางเสาธงจังหวัดสมุทรปราการ จำเลยจึงไม่ได้กลับมาบ้านที่อยู่ตามฟ้องโจทก์เลย การที่โจทก์ฟ้องจำเลยโดยส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกไปให้จำเลยตามภูมิลำเนาที่ปรากฏในทะเบียนบ้านเพื่อต้องการมิให้จำเลยทราบ จึงเป็นการไม่สุจริต หากจำเลยได้ทราบคำฟ้องและต่อสู้คดีแล้ว โจทก์ต้องแพ้คดีแก่จำเลยแน่นอนเพราะความจริงรถยนต์และโทรศัพท์มือถือเป็นค่าตอบแทนที่โจทก์ต้องซื้อให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย มิใช่เป็นของโจทก์จำเลยมีหลักฐานประกอบมากมาย หากมีการพิจารณาใหม่ศาลแรงงานกลางจะต้องมีคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปจากคำพิพากษาเดิมและจำเลยสามารถชนะคดีโจทก์ได้
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับ(24 พฤษภาคม 2538) แล้ว ให้ยกคำร้อง
จำเลย อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า จำเลยจะยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้หรือไม่เห็นว่า ตามมาตรา 208 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งประกอบมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 คำขอให้พิจารณาใหม่นั้นให้ยื่นต่อศาลภายใน 15 วันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลย ถ้าคู่ความที่ขาดนัดไม่สามารถยื่นคำขอภายในระยะเวลาดังกล่าวโดยพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ คู่ความฝ่ายนั้นอาจยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในกำหนด 15 วันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง แต่ในกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้าต้องกล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งถึงเหตุแห่งการที่ล่าช้านั้นด้วย คดีนี้ปรากฏว่าพนักงานเดินหมายนำคำบังคับไปส่งให้จำเลยโดยวิธีปิดคำบังคับไว้ ณ ภูมิลำเนาของจำเลยตามฟ้องตามคำสั่งศาลซึ่งให้มีผลบังคับทันทีในวันที่ 29 พฤษภาคม 2538จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่วันที่ 26 กันยายน 2538 จึงเป็นการล่วงพ้นกำหนดเวลา 15 วันนับจากวันที่ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาให้แก่จำเลยแล้ว แม้จำเลยจะอ้างในคำขอพิจารณาใหม่ว่าจำเลยได้ย้ายไปเสียจากภูมิลำเนาตามฟ้องไปอยู่ที่อื่นตั้งแต่ปี 2529 แล้วก่อนฟ้องซึ่งโจทก์ทราบดีโดยจำเลยไม่ทราบว่าถูกฟ้องเป็นคดีนี้ อันแสดงว่าจำเลยได้อ้างเหตุที่ไม่อาจยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในกำหนด 15 วันนับแต่วันส่งคำบังคับให้จำเลยเป็นเพราะมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ แม้เหตุที่ยื่นคำขอล่าช้าจะได้กล่าวไว้ในคำขอให้พิจารณาใหม่แล้ว แต่จำเลยหาได้กล่าวไว้ว่าจำเลยได้ทราบคำบังคับตั้งแต่เมื่อใดเพื่อให้ทราบว่าพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้นั้นได้สิ้นสุดลงเมื่อใดจึงไม่อาจเริ่มต้นนับกำหนด 15 วันตามบทบัญญัติข้างต้นได้ถือว่าจำเลยมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งถึงกรณียื่นคำขอล่าช้าและเหตุแห่งการที่ล่าช้านั้นไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยชอบแล้ว”
พิพากษายืน