แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ฉ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2543 มาตรา 8 บัญญัติว่า ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินอากรของพนักงานเจ้าหน้าที่ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามแบบที่อธิบดีกำหนดได้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับการแจ้งการประเมิน โจทก์ได้รับแจ้งการประเมินเมื่อมาตรา 112 ฉ มีผลใช้บังคับแล้วแต่โจทก์ฟ้องคดีนี้สำหรับใบขนสินค้าขาเข้าดังกล่าวโดยมิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินอากรต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 112 ฉ แห่งพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2543 มาตรา 8 โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลาง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (1) , 8 ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยตามฟ้องของโจทก์เป็นการไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ที่โจทก์นำเข้าตามฟ้องและให้จำเลยคืนเงิน 811,611.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 671,166.50 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มเลขที่ 0101-01022400-2 เลขที่ 0101-01123698-5 เลขที่ 0105-00321401-1 เลขที่ 0105-00822567-1 เลขที่ 0105-00920562-3 และเลขที่ 0105-01120067-5 เฉพาะที่เกี่ยวกับอากรขาเข้า ให้จำเลยคืนเงิน 489,176.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 0.625 ต่อเดือน แต่ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 121,069.41 บาท นับแต่วันที่ 25 เมษายน 2543 จากต้นเงิน 61,710.76 บาท นับแต่วันที่ 25 เมษายน 2543 จากต้นเงิน 92,080.27 บาท นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2543 จากต้นเงิน 57,639.20 นับแต่วันที่ 27 เมษายน 2544 จากต้นเงิน 116,805.62 บาท นับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2544 และจากต้นเงิน 39,871.41 บาท นับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2544 จนกว่าจะมีการอนุมัติการจ่ายคืน เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 4,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยรับผิดตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า กรณีใบขนสินค้าขาเข้ารายพิพาทเที่ยวที่ 13 ถึง 18 นั้น โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศุลากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ฉ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 17 ) พ.ศ.2543 มาตรา 8 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543 เป็นต้นไป บัญญัติว่า “ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินอากรของพนักงานเจ้าหน้าที่ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามแบบที่อธิบดีกำหนดได้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน” ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินราคาสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าในเที่ยวที่ 13 และ 14 เพิ่มขึ้น โดยแจ้งจำนวนค่าอากรที่โจทก์ต้องชำระเพิ่มเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 และวันที่ 13 มีนาคม 2543 ตามลำดับ ตามหนังสือแจ้งการประเมินสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าเที่ยวที่ 15 แจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2543 และใบขนสินค้าขาเข้าเที่ยวที่ 16 ถึง 18 แจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2544 ดังนั้นอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าเที่ยวที่ 13 ถึง 18 รายพิพาทจึงเป็นกรณีที่พระราชบัญญัติศุลกากรที่แก้ไขเพิ่มเติมบัญญัติให้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้สำหรับใบขนสินค้าขาเข้าดังกล่าวข้างต้นโดยมิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินอากรต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 112 ฉ แห่งพระราชบัญญัติศุลากร พ.ศ.2469 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2543 มาตรา 8 โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (1) และมาตรา 8 ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยปัญหานี้ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการไม่ชอบ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ประเด็นอื่นของจำเลย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.