คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3780/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีโจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 15 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่5 เมษายน 2532 อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์มีกำหนด3 วัน หากโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลชั้นต้น โจทก์ต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันอ่านคำสั่งให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ฟังตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 วรรคแรก ซึ่งใช้บังคับในขณะโจทก์ยื่นฎีกาคือภายในวันที่ 20 เมษายน 2532 โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวในวันที่ 26 เมษายน 2532 จึงพ้นกำหนดระยะเวลาที่จะอุทธรณ์ได้แล้ว ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ในวันที่5 เมษายน 2532 ซึ่งอยู่ในระหว่างระยะเวลายื่นอุทธรณ์ โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีกมีกำหนด 15 วัน ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งในวันนั้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์3 วัน โดยให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 7 เมษายน 2532 โจทก์ยื่นอุทธรณ์วันที่ 11 เมษายน 2532 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันนั้นว่า คดีนี้ศาลอนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 7 เมษายน2532 แต่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ในวันนี้ พ้นกำหนดเวลาที่ศาลอนุญาตจึงไม่รับอุทธรณ์
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์และคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ในวันที่ 26 เมษายน 2532
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 15 วัน และศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 5 เมษายน 2532 อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์มีกำหนด3 วัน หากโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลชั้นต้น โจทก์ก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวภายในกำหนดสิบห้าวันอ่านคำสั่งให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา198 วรรคแรก (ซึ่งใช้บังคับในขณะโจทก์ยื่นฎีกา) คือภายในวันที่20 เมษายน 2532 โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวในวันที่ 26 เมษายน2532 จึงพ้นกำหนดระยะเวลาที่จะอุทธรณ์ได้แล้ว ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และยกฎีกาโจทก์.

Share