คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7125/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) หรือไม่นั้นเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเมื่อศาลเห็นสมควรก็ยกขึ้นวินิจฉัยตัดสินคดีได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ถึงแม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ในปัญหาข้อนี้ไว้ แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นยกปัญหาเรื่องฟ้องซ้อนขึ้นวินิจฉัยโดยอาศัยข้อเท็จจริงตามคำร้อง ของ จำเลยประกอบข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการวินิจฉัยตัดสินคดีโดยชอบ ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยชอบด้วยกระบวนพิจารณาหาใช่เป็นข้อเท็จจริงนอกสำนวน นอกเรื่องนอกประเด็นไม่ ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องแย้งในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 23053/2531 ของศาลชั้นต้นโดยกรณีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในคดีนี้กับที่โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยคดีก่อน ฟ้องแย้งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์คดีก่อนรับผิดเป็นเรื่องเดียวกัน คือเป็นเรื่องรับช่วงสิทธิจากธนาคาร ท. ตามสัญญาค้ำประกันฉบับเดียวกันและจำนวนเงินที่ให้รับผิดก็เป็นจำนวนเดียวกัน ถึงแม้โจทก์คดีนี้จะฟ้องขอให้บังคับจำนองตามสัญญาจำนองซึ่งจำเลยที่ 1 ทำไว้กับธนาคาร ท. มาด้วยก็ตาม แต่มูลคดีที่โจทก์ฟ้องก็คงเป็นเรื่องเดียวกันเพราะมีประเด็นเกี่ยวข้องกันโดยตรง ฟ้องโจทก์ในส่วนที่ขอให้บังคับจำนองจึงเป็นฟ้องซ้อนต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) ด้วย กรณีที่บุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันคือหนี้ตามหนังสือค้ำประกันที่ธนาคาร ท.ได้ออกให้แก่บริษัท พ.เพื่อค้ำประกันการซื้อรถขุดไฮดรอลิกของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 จะเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามมูลหนี้อย่างอื่นของจำเลยที่ 1 ต่อธนาคาร ท. นอกเหนือจากหนี้ตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวด้วย และวงเงินที่ค้ำประกันจะมีจำนวนไม่เท่ากัน ก็หาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 เปลี่ยนแปลงไปไม่ โจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 จะต้องมีความรับผิดต่อธนาคาร ท.อย่างลูกหนี้ร่วม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 682 วรรคสอง โจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ต้องรับผิดต่อธนาคาร ท.ผู้เป็นเจ้าหนี้อย่างลูกหนี้ร่วม และโจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แทนจำเลยที่ 1 ไปแล้วย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 ถึง 11 ได้ตามส่วนเท่า ๆ กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229(3) และมาตรา 296 เมื่อไม่มีการตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยไว้ จึงไม่มีเหตุอื่นอันชอบด้วยกฎหมายที่โจทก์จะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่าร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 และแม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226จะบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการรับช่วงสิทธิไว้ว่า บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่ในมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง แต่จากหลักที่ว่าผู้รับช่วงสิทธิใช้สิทธิในนามของตนเอง จึงมีผลว่าผู้รับช่วงสิทธิชำระหนี้ไปเท่าใดก็คงรับช่วงสิทธิหรืออาจใช้สิทธิของเจ้าหนี้เพียงเท่าที่อาจอ้างได้ว่าเป็นสิทธิของตนหรือตามส่วนที่ตนมีสิทธิเท่านั้น หาใช่รับช่วงสิทธิทั้งหมดเท่ากับที่เจ้าหนี้มีสิทธิไม่ ดังนั้นโจทก์คงเรียกได้เพียงอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี แม้ประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11กับโจทก์ว่าเป็นลูกหนี้ร่วมกันหรือไม่ จะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กันหรือไม่ และประเด็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยดอกเบี้ยว่าโจทก์มีสิทธิเรียกจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 เพียงไรจะไม่ใช่ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีโดยตรง แต่ก็เป็นประเด็นที่เกี่ยวพันกับประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีที่ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11จะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด ฉะนั้นศาลจึงมีอำนาจหยิบยกประเด็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้หาเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใดไม่ คดีนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ได้ขอเลื่อนการนัดสืบพยานจำเลยถึง 2 ครั้ง โดยอ้างเหตุอย่างเดียวกันว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ป่วยกะทันหันด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ทั้ง ๆ ที่ การนัดสืบพยานจำเลยครั้งแรกและครั้งหลังห่างกันเกือบ 2 เดือน และในการเลื่อนการนัดสืบพยานจำเลยครั้งแรกศาลได้กำชับไว้แล้วว่า คราวต่อไปให้เตรียมพยานให้มาให้พร้อมจะไม่ให้เลื่อนคดีอีก แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ไม่นำพาต่อคำสั่งดังกล่าว กลับขอเลื่อนคดีด้วยเหตุอย่างเดียวกันอีกและไม่ได้เตรียมพยานอื่นมา โดยเฉพาะนัดหลังนี้จำเลยที่ 1ถึงที่ 9 ก็แถลงต่อศาลด้วยว่า ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 3ป่วยอยู่ที่ใด แสดงว่าไม่ต้องการให้ศาลมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานไปทำการตรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 41 พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ส่อชัดว่าประสงค์จะประวิงคดี คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2ถึงที่ 9 เลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยนั้นชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบเอ็ดร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,848,671.82 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี ในต้นเงิน 1,800,978.81 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่น ๆของจำเลยทั้งสิบเอ็ด ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ให้การต่อสู้คดี ขอให้พิพากษายกฟ้อง
จำเลยที่ 10 และที่ 11 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 แต่ละคนชำระเงินจำนวน 211,347.71 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 162202พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ชำระหนี้จนครบให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
โจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11แต่ละคนชำระเงินจำนวน 211,347.71 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 163,725.35 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 162202 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามส่วนที่จำเลยที่ 8 จะต้องรับผิด หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 8 มาชำระจนครบ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 และที่ 11 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับฎีกาของโจทก์มีปัญหาวินิจฉัยประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องแย้งในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 23053/2531 ของศาลชั้นต้นนั้นเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดีตามข้อหาในคำฟ้องอุทธรณ์อันเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141(5), 142 ประกอบด้วยมาตรา 246 หรือไม่ ศาลฎีกาพิจารณาคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว โจทก์อุทธรณ์ว่าข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นยกขึ้นวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงนอกสำนวนนอกเรื่องนอกประเด็น ไม่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความจะต้องนำสืบหรือมีกฎหมายบังคับให้ต้องแสดงจึงเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 จะรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวินิจฉัยเป็นปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ไม่ได้ กรณีตามอุทธรณ์ของโจทก์จะเห็นได้ว่าเป็นคนละประเด็นกับที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดีอันเป็นการไม่ชอบดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ถือว่าศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย อย่างไรก็ดี เพื่อให้คดีเสร็จสิ้นไปโดยรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์เสียเลย โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) หรือไม่นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเมื่อศาลเห็นสมควรก็ยกขึ้นวินิจฉัยตัดสินคดีได้ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ถึงแม้จำเลยที่ 1ถึงที่ 9 จะมิได้ให้การต่อสู้ในปัญหาข้อนี้ไว้ แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ได้ยื่นคำร้องลงวันที่8 มีนาคม 2534 ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นยกปัญหาเรื่องฟ้องซ้อนขึ้นวินิจฉัยโดยอาศัยข้อเท็จจริงตามคำร้อง ของ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ประกอบกับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการวินิจฉัยตัดสินคดีโดยชอบข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยชอบด้วยกระบวนพิจารณา หาใช่เป็นข้อเท็จจริงนอกสำนวน นอกเรื่องนอกประเด็นดังที่โจทก์กล่าวอ้างไม่
ปัญหาประการต่อมามีว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนที่ขอให้บังคับจำนองเป็นฟ้องซ้อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1)ด้วยหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อคดีฟังยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1เป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องแย้งในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 23053/2531ของศาลชั้นต้น โดยกรณีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในคดีนี้กับที่โจทก์ (จำเลยคดีก่อน) ฟ้องแย้งให้จำเลยที่ 1 (โจทก์คดีก่อน)รับผิดเป็นเรื่องเดียวกัน กล่าวคือ เป็นเรื่องรับช่วงสิทธิจากธนาคารทหารไทย จำกัด ตามสัญญาค้ำประกันฉบับเดียวกันและจำนวนเงินที่ให้รับผิดก็เป็นจำนวนเดียวกัน ถึงแม้โจทก์คดีนี้จะฟ้องขอให้บังคับจำนองตามสัญญาจำนองซึ่งจำเลยที่ 1 ทำไว้กับธนาคารทหารไทย จำกัด ด้วยก็ตาม แต่มูลคดีที่โจทก์ฟ้องก็คงเป็นเรื่องเดียวกันเพราะมีประเด็นเกี่ยวข้องกันโดยตรงฉะนั้น ฟ้องโจทก์ในส่วนที่ขอให้บังคับจำนองจึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) ด้วย
เกี่ยวกับปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11จะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใดนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้ต่อธนาคารทหารไทย จำกัด ว่า ถ้าหากธนาคารได้จ่ายเงินแทนจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ไปตามหนังสือค้ำประกันหรือต้องได้รับความเสียหายเนื่องแต่การค้ำประกัน โจทก์จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 จะชำระเงินตามจำนวนที่กำหนดไว้รวมทั้งดอกเบี้ยค่าสินไหมทดแทนและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ให้แก่ธนาคารอย่างครบถ้วนทันทีที่ได้รับแจ้งตามเอกสารหมาย จ.53 ถึง จ.55หรือ จ.3 ถึง จ.5 เพื่อเป็นการค้ำประกันหนี้ทุกชนิดที่จำเลยที่ 1มีต่อธนาคารทหารไทย จำกัด จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันให้ไว้แก่ธนาคารดังกล่าวรวม 11 ครั้งตามเอกสารหมาย จ.56 ถึง จ.66 ถึง จ.6 ถึง จ.16 นอกจากนี้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 8 ยังได้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่ธนาคารทหารไทย จำกัด เพื่อประกันหนี้สินทุกประเภทซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ธนาคารอยู่ก่อนหรือในเวลาที่ทำสัญญาหรือจะเป็นหนี้ต่อไปภายหน้า รวมทั้งหนี้สินจากการที่ธนาคารค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อบุคคลภายนอกด้วย ตามเอกสารหมาย จ.71ถึง จ.74 หรือ จ.17 ถึง จ.18 ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า เป็นกรณีที่บุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกัน คือหนี้ตามหนังสือค้ำประกันที่ธนาคารทหารไทยจำกัด ได้ออกให้แก่บริษัทพรชัยอีควิปเม้นท์ จำกัด เพื่อค้ำประกันการซื้อรถขุดไฮดรอลิก ของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11จะเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามมูลหนี้อย่างอื่นของจำเลยที่ 1ต่อธนาคารทหารไทย จำกัด นอกเหนือจากหนี้ตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวด้วย และวงเงินที่ค้ำประกันจะมีจำนวนไม่เท่ากันก็ตามแต่ก็หาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11เปลี่ยนแปลงไปไม่ โจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 จะต้องมีความรับผิดต่อธนาคารทหารไทย จำกัด อย่างลูกหนี้ร่วมทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 682 วรรคสอง
เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ต้องรับผิดต่อธนาคารทหารไทย จำกัด ผู้เป็นเจ้าหนี้อย่างลูกหนี้ร่วมและโจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แทนจำเลยที่ 1 ไปแล้ว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 ถึง 11ได้ตามส่วนเท่า ๆ กัน ทั้งนี้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229(3) และมาตรา 296 สำหรับหนี้เงินที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 จะรับผิดต่อไปนับจากวันที่โจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ไปนั้นเมื่อไม่มีการตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยไว้จึงไม่มีเหตุอื่นอันชอบด้วย กฎหมายที่โจทก์จะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่าร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 ที่โจทก์อ้างว่า เนื่องจากธนาคารทหารไทย จำกัดมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีและจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ได้ในอัตราร้อยละ 15 ถึง 19 ต่อปีโจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ถึงแม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 226 จะบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการรับช่วงสิทธิไว้ว่า”บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่ในมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง” แต่จากหลักที่ว่าผู้รับช่วงสิทธิใช้สิทธิในนามของตนเอง จึงมีผลว่าผู้รับช่วงสิทธิชำระหนี้ไปเท่าใดก็คงรับช่วงสิทธิหรืออาจใช้สิทธิของเจ้าหนี้เพียงเท่าที่อาจอ้างได้ว่าเป็นสิทธิของตน หรือตามส่วนที่ตนมีสิทธิเท่านั้น หาใช่รับช่วงสิทธิทั้งหมดเท่ากับที่เจ้าหนี้มีสิทธิไม่ ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ในอัตราเดียวกันกับที่ธนาคารทหารไทย จำกัด ผู้เป็นเจ้าหนี้เดิมมีสิทธิเรียกคงเรียกได้เพียงอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีดังวินิจฉัยไว้แล้ว
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์อีกประการหนึ่งก็คือ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 เป็นลูกหนี้ร่วมกับโจทก์จึงต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 296 และโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11เพียงร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่าถึงแม้ประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 2ถึงที่ 11 กับโจทก์ว่าเป็นลูกหนี้ร่วมกันหรือไม่ จะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กันหรือไม่ และประเด็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยว่าโจทก์มีสิทธิเรียกจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 เพียงไร จะไม่ใช่ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีโดยตรงแต่ประเด็นดังกล่าวก็เป็นประเด็นที่เกี่ยวพันกับประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี กล่าวคือเกี่ยวพันกับประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 จะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด ฉะนั้นศาลจึงมีอำนาจหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้หาเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใดไม่
ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 และที่ 11 มีปัญหาวินิจฉัยว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9เลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยนั้นเป็นคำสั่งที่ชอบหรือไม่ศาลฎีกาพิจารณาข้อเท็จจริงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 20 มีนาคม 2534 และลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2534 แล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ได้ขอเลื่อนการนัดสืบพยานจำเลยถึง 2 ครั้ง โดยอ้างเหตุอย่างเดียวกันว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ป่วยกะทันหันด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ทั้ง ๆ ที่การนัดสืบพยานจำเลยครั้งแรกและครั้งหลังห่างกันเกือบ 2 เดือนและในการเลื่อนการนัดสืบพยานจำเลยครั้งแรก ศาลได้กำชับไว้แล้วว่าคราวต่อไปให้เตรียมพยานให้มาให้พร้อม จะไม่ให้เลื่อนคดีอีกแต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ไม่นำพาต่อคำสั่งดังกล่าว กลับขอเลื่อนคดีด้วยเหตุอย่างเดียวกันอีกและไม่ได้เตรียมพยานอื่นมา โดยเฉพาะนัดหลังนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ก็แถลงต่อศาลด้วยว่า ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 3 ป่วยอยู่ที่ใด แสดงว่าไม่ต้องการให้ศาลมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานไปทำการตรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 41 ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 และที่ 11 กล่าวอ้างมาในฎีกาว่าหากศาลไม่เชื่อว่าจำเลยที่ 3 ป่วยร้ายแรงถึงกับมาศาลไม่ได้ก็สมควรที่จะใช้อำนาจตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว จึงเป็นข้ออ้างที่ขัดต่อเหตุผลพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ส่อชัดว่าประสงค์จะประวิงคดี คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2ถึงที่ 9 เลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยนั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share