คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4919/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาจำนองระบุว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อัตราร้อยละ 19 ต่อปีมาตั้งแต่แรกก็ตาม แต่ตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันปรากฏว่าในวันที่ 2 เมษายน 2528 ระบุดอกเบี้ยว่า ร้อยละ 15 และร้อยละ 19 แสดงว่าในวันดังกล่าวโจทก์คิดดอกเบี้ยภายในวงเงินในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หากเกินวงเงิน โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกันมาตั้งแต่แรกและตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้น แต่ขณะที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กรกฎาคม 2536 โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี แม้ในทางปฏิบัติระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในวันทำสัญญาภายในวงเงินคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และส่วนที่เกินวงเงินคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี โดยมีดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอัตราร้อยละ 4 ก็เป็นข้อปฏิบัติในลักษณะที่โจทก์ให้ประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 นอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญาซึ่งขณะนั้นโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้ถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปีตามข้อตกลงในสัญญา จึงมิได้คิดเพิ่มขึ้นเพียงแต่แยกวงเงินออกเป็น สัดส่วนเท่านั้น อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับ ศาลไม่มีอำนาจลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 เดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ตลอดมาจนโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 เดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์อีกต่อไป จึงบอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบแล้วโดยจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 11,134,112.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 10,334,073.15 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 11,134,112.89 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 8,159,104.02 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,350,000 บาท และดอกเบี้ยไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ของต้นเงิน 6,809,104.02 บาท นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2536 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ (แต่ยอดหนี้ถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 11,134,112.89 บาท ตามฟ้อง) ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระในวงเงิน 1,350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2528 ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2536 แต่ถ้าช่วงใดของระยะเวลาดังกล่าวโจทก์คิดดอกเบี้ยลงบัญชีกระแสรายวันไว้ในอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ก็ให้คิดตามอัตราที่คิดไว้จริง และให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระแก่โจทก์แต่ละจำนวนในระหว่างนั้นทุกครั้งคิดหักออก ชดใช้เป็นค่าดอกเบี้ยหรือต้นเงินแล้วแต่กรณีของหนี้เบิกเงินเกินบัญชี ณ วันที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ด้วย คิดจนถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2536 แล้วได้ยอดเงินเท่าใด ให้เป็นต้นเงินที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระแก่โจทก์ จากนั้นให้จำเลยที่ 2 เสียดอกเบี้ยโดยให้แบ่งยอดเงินดังกล่าวออกเป็น 2 ส่วน เฉพาะส่วนต้นเงิน 1,350,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 เสียดอกเบี้ยไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ส่วนเงินที่เหลือหากมีให้จำเลยที่ 2 เสียดอกเบี้ยไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2536 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 จำนองไว้ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ที่จำเลยที่ 2 เป็นหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์จนครบ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจะระบุว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อัตราร้อยละ 19 ต่อปี มาตั้งแต่แรกก็ตาม แต่ตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันปรากฏว่าในวันที่ 2 เมษายน 2528 ระบุดอกเบี้ยว่า 15% และ 19% แสดงว่าในวันดังกล่าวโจทก์คิดดอกเบี้ยภายในวงเงิน 1,350,000 บาท ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี หากเกินวงเงินดังกล่าวโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกันมาตั้งแต่แรกและตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้น แต่ขณะที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กรกฎาคม 2536 โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี แม้ในทางปฏิบัติระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในวันทำสัญญาภายในวงเงิน 1,350,000 บาท คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และเงินส่วนที่เกินวงเงินดังกล่าวคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี โดยมีดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอัตราร้อยละ 4 ก็เป็นข้อปฏิบัติในลักษณะที่โจทก์ให้ประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 นอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญา ซึ่งขณะนั้นโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้ถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปีตามข้อตกลงในสัญญาจึง มิได้คิดเพิ่มขึ้นเพียงแต่แยกวงเงินออกเป็นสัดส่วนเท่านั้น อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับ ศาลไม่มีอำนาจลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะดอกเบี้ยไม่ทบต้นให้จำเลยที่ 2 ชำระอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,350,000 บาท นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share