คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2156/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นหัวหน้าคนงาน มีหน้าที่ต้องคอยบังคับบัญชาดูแลให้คนงานทำงานให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง แต่โจทก์กลับเรียกคนงานซึ่งกำลังทำงานให้จำเลยเข้าไปในห้องพักโดยไม่ยอมให้ออกมาทำงาน ทั้งๆ ที่ยังมีงานที่คนงานจะต้องทำให้จำเลยอีกจนจำเลยต้องจัดคนงานอื่นมาทำแทน การกระทำของโจทก์ถือได้ว่าเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และการกระทำดังกล่าวถือได้ด้วยว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่อันเป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งไม่เป็นความจริง ในการเลิกจ้างจำเลยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ากับค่าชดเชย
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยโจทก์ยุยงและชักชวนคนงานซึ่งอยู่ในความดูแลของโจทก์ละทิ้งหน้าที่การงานร่วมกับโจทก์โดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นหัวหน้าคนงานควบคุมการขนย้าย มีหน้าที่ต้องคอยบังคับบัญชาดูแลให้คนงานทำงานให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกที่ควร และมิให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย แต่โจทก์กลับเรียกคนงานซึ่งกำลังทำงานให้จำเลยเข้าไปในห้องพักคนงานโดยไม่ยอมให้ออกมาทำงาน ทั้ง ๆ ที่ยังมีงานที่คนงานจะต้องทำอีกมาก จนจำเลยต้องจัดคนงานอื่นมาทำงานแทนการกระทำของโจทก์จึงถือได้ว่าเป็นการจงใจ ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายซึ่งจำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ ๔๗(๒) และการกระทำดังกล่าวถือได้ด้วยว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่อันเป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓
พิพากษายืน

Share