แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินระหว่างโจทก์กับเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาซึ่งคู่สัญญาต่างโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้กันและกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 518 อันมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งมาตรา 519 ระบุให้นำบทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะซื้อขายมาใช้ถึงการแลกเปลี่ยนด้วย เมื่อฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยที่ 1 ได้เจรจาต่อรองกันมาตลอด แม้ที่ดินที่จำเลยที่ 1 นำมาแลกเปลี่ยนจะเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ แต่จำเลยที่ 1 ก็ตกลงที่จะดำเนินการให้สามารถโอนที่ดินสาธารณประโยชน์นั้นแลกเปลี่ยนกับที่ดิน ส.ค. 1 ของ ก. ปู่โจทก์ซึ่งต่อมาเป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินของโจทก์ได้ และจำเลยที่ 1 ก็ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการออกพระราชบัญญัติเพื่อโอนที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นให้แก่โจทก์จนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ดให้ความเห็นชอบในการออกพระราชบัญญัติโอนที่ดินสาธารณประโยชน์สระสิมให้แก่โจทก์ แต่ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้ถอนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่อาจดำเนินการโอนที่ดินนั้นให้โจทก์เพื่อแลกเปลี่ยนกับที่ดินของโจทก์ได้ แสดงว่าการตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินดังกล่าวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิใช่การแลกเปลี่ยนที่ดินเสร็จเด็ดขาด แต่เป็นการแลกเปลี่ยนที่ดินโดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยที่ 1 จะดำเนินการเกี่ยวกับการออกพระราชบัญญัติเพื่อโอนที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้แก่โจทก์เพื่อแลกเปลี่ยนกับที่ดินของโจทก์ จึงเป็นสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดิน เมื่อปรากฏว่า ก. ได้ตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินของตนกับจำเลยที่ 1 และได้ยอมให้จำเลยที่ 1 เข้าทำถนนในที่ดินดังกล่าวจึงเท่ากับมีการชำระหนี้บางส่วน ย่อมฟ้องร้องบังคับคดีกัน ตามสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินนั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 519 ประกอบมาตรา 456 วรรคสอง
การที่จำเลยที่ 1 เข้าครอบครองที่ดิน ส.ค. 1 ของ ก. และทำเป็นถนนสาธารณะจึงเป็นการยึดถือแทน ก. จ. บิดาโจทก์ และโจทก์ผู้มีสิทธิครอบครอง มิใช่ยึดถือในฐานะเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครอง และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินนั้น ไปยัง ก. หรือ จ. หรือโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาจะยึดถือที่ดินนั้นแทน ก. หรือ จ. หรือโจทก์ต่อไป อันจะถือเป็นการแย่งการครอบครองที่ดินดังกล่าว เมื่อถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้แย่งการครอบครองที่ดินดังกล่าว กรณีจึงยังไม่อาจเริ่มนับระยะเวลาที่ฝ่ายโจทก์ถูกแย่งการครอบครองที่ดินนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสองได้
เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อาจโอนที่ดินสาธารณประโยชน์สระสิมโดยออกพระราชบัญญัติโอนที่ดินนั้นแก่โจทก์ตามสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินอันเป็นสัญญาต่างตอบแทนได้ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิได้รับโอนที่ดินของโจทก์จากโจทก์ และจำเลยที่ 1 ต้องคืนที่ดินนั้นแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อาจคืนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ราคาที่ดินนั้นแก่โจทก์ได้
เมื่อการแลกเปลี่ยนที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินกับที่ดิน ส.ค. 1 ระหว่างฝ่ายจำเลยที่ 1 กับฝ่ายโจทก์เป็นสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินโดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยที่ 1 จะดำเนินการเกี่ยวกับการออกพระราชบัญญัติเพื่อโอนที่ดิน สาธารณสมบัติของแผ่นดินเพื่อแลกเปลี่ยนกับที่ดินของฝ่ายโจทก์ มิใช่สัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินเสร็จเด็ดขาด สัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินดังกล่าวจึงบังคับกันได้ และหากมีพระราชบัญญัติให้โอนที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้โจทก์ ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นก็สามารถโอนให้โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1305 ดังนี้ การกระทำของนายกเทศมนตรีซึ่งเป็นผู้แทนจำเลยที่ 1 ในขณะทำสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 21569 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด ในสภาพเดิมแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ไปโอน ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 1,440,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 4,000 บาท แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบที่ดินของโจทก์ในสภาพเดิม หากไม่สามารถคืนที่ดินดังกล่าวก็ให้ จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ราคาที่ดินดังกล่าวจำนวน 13,255,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ข้อตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินของนายกิมฮงกับจำเลยที่ 1 ซึ่งตกลงกันเมื่อปี 2505 มีวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะ เพราะที่ดินสาธารณประโยชน์สระสิมเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ซึ่งประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน กฎหมายห้ามโอนและมิใช่กรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 นายกิมฮงยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินดังกล่าวไปทำเป็นทางสาธารณะถนนคหบดีอุทิศและยินยอมให้ประชาชนทั่วไปใช้เป็นทางเดินสาธารณะเป็นเวลา 30 ปีเศษแล้ว โดยโจทก์ไม่ได้ฟ้องเพื่อเอาคืนภายใน 1 ปี โจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิได้ เนื่องจากการกระทำของ นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ดที่แลกเปลี่ยนที่ดินกับนายกิมฮงที่ผ่านมาเกินอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ. 2496 จึงถือเป็นการกระทำไปส่วนตัว ไม่ผูกพันจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 8,676,000 บาท แทนราคาที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 21569 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 มกราคม 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จ ด้วยการนำเงินจำนวนดังกล่าวมาวางศาลเพื่อชำระแก่โจทก์ แต่ให้โจทก์มีสิทธิรับเงินจำนวนดังกล่าวไปเมื่อได้ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าว ให้จำเลยที่ 1 แล้ว หากโจทก์ไม่ไปดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 60,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 7,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา ร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 30,000 บาท แทนโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 3,510 บาท
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 21569 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด เนื้อที่ 48 2/10 ตารางวา ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของถนนคหบดีอุทิศ มีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เดิมที่ดินดังกล่าวเป็นที่สวนซึ่งมีหลักฐานตามทะเบียนการครอบครองที่ดินเลขที่ 909 ซึ่งมีนายกิมฮง ปู่โจทก์เป็น ผู้ครอบครอง เมื่อนายกิมฮงถึงแก่ความตาย นายจินบุ๊น บิดาโจทก์รับมรดกมา ต่อมาโจทก์ได้รับโอนที่ดินนั้น จากนายจินบุ๊น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ซึ่งขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า ในปี 2505 จำเลยที่ 1 ได้เริ่มเจรจากับนายกิมฮงขอแลกเปลี่ยนที่ดินสาธารณประโยชน์สระสิมบางส่วนกับที่ดินของนายกิมฮงโดยจะถอนสภาพที่ดินสาธารณประโยชน์ให้สามารถแลกเปลี่ยนได้ นายกิมฮงตกลง จำเลยที่ 1 จึงเข้าก่อสร้างถนนในที่ดินของ นายกิมฮง แต่ยังไม่สามารถโอนที่ดินสาธารณประโยชน์สระสิมให้แก่นายกิมฮงได้ ต่อมาปี 2508 นายกิมฮงถึง แก่ความตาย หลังจากนั้นได้มีการเจรจาต่อรองกันอีกหลายครั้ง จนกระทั่งฝ่ายทายาทนายกิมฮงยินยอมอุทิศที่ดินจำนวน 45 ตารางวา เพื่อแลกเปลี่ยนกับที่ดินสาธารณประโยชน์สระสิม จำนวน 82 5/10 ตารางวา หลังจากนั้น ในปี 2524 สำนักงานที่ดินจังหวัดร้อยเอ็ดแจ้งให้โจทก์ทราบว่ากรมที่ดินแจ้งว่าที่ดินที่จะแลกเปลี่ยนกับที่ดินสาธารณประโยชน์สระสิมมีเพียง ส.ค. 1 ขอให้โจทก์ขอออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินดังกล่าวก่อน โจทก์จึงไปยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินของนายกิมฮงดังกล่าว สำนักงานที่ดินจังหวัดร้อยเอ็ดได้ออกโฉนดที่ดินให้โจทก์เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2524 ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 21569 เนื้อที่ 48 2/10 ตารางวา เพื่อกรมที่ดินจะได้ดำเนินการในการออก พระราชบัญญัติโอนที่ดินสาธารณประโยชน์สระสิมให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ตกลงยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขยายแนวถนนออกไปให้มีความกว้างใกล้เคียงกับถนนคหบดีอุทิศ โดยโจทก์ยอมสละที่ดินเพิ่มอีกจำนวน 32 1/10 ตารางวา เห็นว่า การตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นั้น เป็นสัญญาซึ่งคู่สัญญาต่างโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สิน ให้กันและกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 518 อันมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งมาตรา 519 ระบุให้นำบทบัญญัติ ทั้งหลายในลักษณะซื้อขายมาใช้ถึงการแลกเปลี่ยนด้วย เมื่อฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยที่ 1 ได้เจรจาต่อรองกันมาตลอด แม้ที่ดินที่จำเลยที่ 1 นำมาแลกเปลี่ยนจะเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ แต่จำเลยที่ 1 ก็ตกลงที่จะดำเนินการให้สามารถโอนที่ดินสาธารณประโยชน์นั้นแลกเปลี่ยนกับที่ดิน ส.ค.1 ของนายกิมฮงซึ่งต่อมาเป็นที่ดินของโจทก์ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 21569 ได้ และจำเลยที่ 1 ก็ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการออกพระราชบัญญัติเพื่อโอนที่ดินสาธารณสมบัติของ แผ่นดินนั้นให้แก่โจทก์จนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ดเขตเลือกตั้งที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้ความเห็นชอบในการออกพระราชบัญญัติโอนที่ดินสาธารณประโยชน์สระสิมให้แก่โจทก์ แต่ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้ถอนร่าง พระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่อาจดำเนินการโอนที่ดินนั้นให้โจทก์เพื่อแลกเปลี่ยนกับที่ดินของโจทก์ได้ แสดงว่า การตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินดังกล่าวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิใช่การแลกเปลี่ยนที่ดินเสร็จเด็ดขาด แต่เป็นการ แลกเปลี่ยนที่ดินโดยมีเงื่อนไขว่า จำเลยที่ 1 จะดำเนินการเกี่ยวกับการออกพระราชบัญญัติเพื่อโอนที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้แก่โจทก์เพื่อแลกเปลี่ยนกับที่ดินของโจทก์ จึงเป็นสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดิน เมื่อปรากฏว่านายกิมฮงได้ตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินของตนกับจำเลยที่ 1 และได้ยอมให้จำเลยที่ 1 เข้าทำถนนในที่ดินดังกล่าวจึงเท่ากับมีการชำระหนี้บางส่วน ย่อมฟ้องร้องบังคับคดีกันตามสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินนั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 519 ประกอบมาตรา 456 วรรคสอง ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 เข้าครอบครองที่ดิน ส.ค. 1 ของนายกิมฮงตามทะเบียนการครอบครองที่ดินเลขที่ 909 และทำเป็นถนนสาธารณะจึงเป็นการยึดถือแทนนายกิมฮง นายจินบุ๊น และโจทก์ผู้มีสิทธิครอบครอง มิใช่ยึดถือในฐานะเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครอง และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินนั้นไป ยังนายกิมฮง หรือนายจินบุ๊น หรือโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาจะยึดถือที่ดินนั้นแทนนายกิมฮง หรือนายจินบุ๊น หรือโจทก์ต่อไป อันจะถือเป็นการแย่งการครอบครองที่ดินดังกล่าว เมื่อถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้แย่งการครอบครอง ที่ดินดังกล่าว กรณีจึงไม่อาจเริ่มนับระยะเวลาที่ฝ่ายโจทก์ถูกแย่งการครอบครองที่ดินนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสองได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อาจโอนที่ดินสาธารณประโยชน์สระสิมโดยออกพระราชบัญญัติโอนที่ดินนั้นแก่โจทก์ตามสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินอันเป็นสัญญาต่างตอบแทนได้ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิได้รับโอนที่ดินของโจทก์ ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 จากโจทก์และจำเลยที่ 1 ต้องคืนที่ดินนั้นแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อาจคืนที่ดิน ตามโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ราคาที่ดินนั้นแก่โจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นที่ว่า การแลกเปลี่ยนที่ดินระหว่างนายกิมฮงกับนายกเทศมนตรีในขณะนั้น เป็นการกระทำนอกเหนือขอบเขตอำนาจตามกฎหมายของนายกเทศมนตรีและเป็นการขัดต่อกฎหมายโดยชัดแจ้ง เพราะที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่อาจที่จะโอนหรือแลกเปลี่ยนได้นั้น เห็นว่า ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่าการแลกเปลี่ยนที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินกับที่ดินตามทะเบียนการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เลขที่ 909 ระหว่างฝ่ายจำเลยที่ 1 กับฝ่ายโจทก์เป็นสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินโดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยที่ 1 จะดำเนินการเกี่ยวกับ การออกพระราชบัญญัติเพื่อโอนที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินเพื่อแลกเปลี่ยนกับที่ดินของฝ่ายโจทก์ มิใช่สัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินเสร็จเด็ดขาด สัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินดังกล่าวจึงบังคับกันได้ และหากมีพระราชบัญญัติให้โอนที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้โจทก์ ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นก็สามารถโอนให้โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1305 ดังนี้ การกระทำของนายกเทศมนตรีซึ่งเป็นผู้แทนจำเลยที่ 1 ในขณะนั้นจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความรวม 60,000 บาท แทนโจทก์ คงให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 3,510 บาท ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4.