คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6202/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199เป็นความผิดเกี่ยวกับการทำลายพยานหลักฐาน ไม่ใช่ความผิดต่อสาธารณชน จึงเป็นความผิดเกี่ยวกับรัฐโดยตรงแม้จำเลยทั้งห้าจะร่วมกันย้ายศพ บ. เพื่อปิดบังเหตุแห่งการตายก็ตาม โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาของบ. ก็ยังเรียกไม่ได้ว่าเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4)จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมายที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้าในข้อหาความผิดดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายบุญโชติ หนูประดิษฐ์ ผู้ตาย จำเลยที่ 1 ใช้ให้นายวาด ชัยกิจ จำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 464/2533ของศาลชั้นต้นกับพวกอีกหลายคนฆ่าผู้ตายโดยจำเลยที่ 1 พูดว่าตีให้ตาย ตีให้นาย นายวาดกับพวกจึงใช้ท่อนไม้ยาวประมาณ 2 ศอก ทุบตีผู้ตายหลายครั้งโดยมีเจตนาฆ่าถูกที่บริเวณกลางศีรษะ เหนือกกหูด้านขวา ไหล่ขวา และหน้าผากจนผู้ตายถึงแก่ความตาย ต่อมาจำเลยทั้งห้าร่วมกันซ่อนเร้นย้ายศพผู้ตายโดยช่วยกันนำศพผู้ตายจากบริเวณหน้าโรงเรียนระโนดวิทยาใส่รถเข็นแล้วนำไปทิ้งห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 700 เมตร เพื่อปิดบังการตายหรือเหตุแห่งการตายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 199, 83, 84 และ 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 83เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองเพียงว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 83 หรือไม่ เห็นว่าความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199 เป็นความผิดเกี่ยวกับการทำลายพยานหลักฐาน ไม่ใช่ความผิดต่อสาธารณชนจึงเป็นความผิดเกี่ยวกับรัฐโดยตรง แม้จำเลยทั้งห้าจะร่วมกันย้ายศพนายบุญโชติ หนูประดิษฐ์ ผู้ตายเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตายก็ตาม โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาของผู้ตายก็ยังเรียกไม่ได้ว่าเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4)จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมายที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้าในข้อหาความผิดดังกล่าวและอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกปัญหานี้ขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องในข้อหาความผิดดังกล่าว จึงต้องยกฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ยกฟ้องในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 83 เสียด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share