คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 866/2494

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่ผู้เสียหายถูกรถยนต์ชนตาย โดยความประมาทของผู้ขับรถยนต์นั้น พี่ชายของผู้เสียหาย แม้จะเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของผู้เสียหายด้วย ก็ไม่มีสิทธิจะเป็นโจทก์หรือขอเข้าเป็นโจทก์กับอัยการฟ้องขอให้ศาลลงโทษผู้ขับรถยนต์ตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 252,259

ย่อยาว

อัยการโจทก์ ฟ้องหาว่าจำเลยขับรถยนต์ชนนายสรกิจบาดเจ็บสาหัสและถึงตาย โดยความประมาท ขอให้ลงโทษตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๒๕๒,๒๕๙
นายสรชัยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม โดยอ้างว่าเป็นพี่ผู้ตายและเป็นทายาทของผู้ตาย ทั้งศาลแพ่งได้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นให้ยกคำร้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ในมาตรา ๕(๒) แห่งวิธีพิจารณาความอาญา ระบุให้ผู้บุพพการีผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาจัดการแทนผู้เสียหายได้ และจำกัดเฉพาะความผิด ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตาย หรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ กฎหมายไม่ให้ญาติอื่นหรือทายาทเป็นผู้จัดการแทนได้เลย ฉะนั้นผู้ร้องซึ่งเป็นพี่ชาย แม้เป็นทายาทหรือผู้จัดการมรดก ก็ไม่มีอำนาจร้องขอเข้าเป็นโจทก์ และจะนำ ป.ม.วิ.แพ่งมาอนุโลมใช้ไม่ได้เพราะมีบัญญัติในข้อนี้ไว้ใน ป.ม.วิ.อาญาแล้ว
จึงพิพากษายืน

Share