คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8328/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อการส่งสินค้าออกที่จำเลยเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเป็นสัญญาอีกอย่างหนึ่งต่างหากจากตั๋วสัญญาใช้เงินที่บริษัท ป. ออกให้ไว้แก่โจทก์ ความรับผิดของจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อการส่งสินค้าออกดังกล่าว จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องปฏิบัติตามวิธีการที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 985 ประกอบมาตรา 941 บังคับให้ผู้ทรงต้องนำตั๋วสัญญาใช้เงินไปยื่นเพื่อให้ใช้เงินในวันถึงกำหนด
ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ดังนั้น การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท ป. ซึ่งเป็นผู้ทำสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อการส่งสินค้าออกไว้ต่อโจทก์ แม้ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทดังกล่าวก็ไม่มีผลกระทบต่อความรับผิดของจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน การที่โจทก์ไม่นำหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อการส่งสินค้าออกของบริษัท ป. ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ทำให้หนี้ระงับ จึงไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน กรณีนี้ไม่อาจปรับบทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 697

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2541 บริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ได้ทำสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อการส่งสินค้าไปกับโจทก์ โดยได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ พีเค – พีพีไอ 98001 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2541 จำนวนเงิน 30,880,000 บาท กำหนดใช้เงินภายใน 106 วัน นับแต่วันที่ในตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งจะครบกำหนดใช้เงินในวันที่ 21 สิงหาคม 2541 โดยบริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด สัญญาว่าจะนำเงินไปจัดซื้อสินค้าเพื่อเตรียมส่งออกตามเลตเตอร์ออฟเครดิตหรือสัญญาซื้อขาย หรือคำสั่งซื้อสินค้าไปจำหน่ายต่างประเทศ และจะนำเอกสารการส่งออกและเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่ระบุไว้ในเลตเตอร์ออฟเครดิตมามอบให้โจทก์ภายในวันที่ครบกำหนดตามตั๋วและหากบริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ไม่ชำระหนี้คืนภายในกำหนด ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าสินเชื่อผิดนัด และยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบ จำเลยทั้งสามเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับบริษัทปัญจพล เปเปอร์ อันดัสตรี้ จำกัด เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อการส่งสินค้าออกถึงกำหนด บริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ไม่ชำระหนี้ โจทก์ทวงถามให้บริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ชำระหนี้แล้ว แต่บริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ไม่ยอมชำระ โจทก์จึงได้มีหนังสือทวงถามถึงจำเลยทั้งสามในฐานะผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบกำหนดแล้วจำเลยทั้งสามไม่ยอมชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 38,700,042.70 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 30,880,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่ได้บรรยายโดยแจ้งชัดว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดในหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินหรือให้รับผิดในหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน และมิได้บรรยายว่า โจทก์มีฐานะอะไรจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสามได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องถึงกำหนด โจทก์ไม่ได้นำตั๋วไปยื่นต่อบริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด เป็นการไม่ปฏิบัติตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 985 ประกอบมาตรา 941 บัญญัติไว้ บริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ยังไม่ได้ผิดนัดผิดสัญญาต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดในหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยทั้งสามหลุดพ้นจากความรับผิดตามหนังสือค้ำประกันแล้ว เพราะโจทก์ไม่นำหนี้ในคดีไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.8/2542 ของศาลล้มละลายกลาง ระหว่างธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ที่ 1 บริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ที่ 2 ผู้ร้อง บริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ลูกหนี้ โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากบริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/61 เป็นเหตุให้จำเลยทั้งสามไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิแทนโจทก์ทั้งหมดได้ จำเลยทั้งสามจึงหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ที่โจทก์ฟ้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 697 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้โจทก์จำนวน 38,700,042.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 30,880,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 มีนาคม 2543) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้จำนวน 60,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่า บริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ทำสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อการส่งออกไว้ต่อโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.6 และออกตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ พีเค – พีพีไอ 98001 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2541 ทำสัญญาใช้เงินจำนวน 30,880,000 บาท แก่โจทก์ในวันที่ 21 สิงหาคม 2541 ตามตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.7 โดยมีจำเลยทั้งสามเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.8 ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2542 ตามสำเนาคำสั่งคดีหมายเลขแดงที่ ฟ. 8/2542 เอกสารหมาย ล.1 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ตามสำเนาคำสั่งเอกสารหมาย ล.2 และโจทก์ไม่ได้นำหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารหมาย จ.6 ในคดีนี้ไปขอรับชำระหนี้ในคดีดังกล่าว
มีปัญหาข้อแรกต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า บริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ทำสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อการส่งสินค้าออกตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 มีจำเลยทั้งสามร่วมกันลงลายมือชื่อยอมผูกพันตนเข้าค้ำประกันบริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด โดยยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกันเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 ตามคำฟ้องแสดงให้เห็นสภาพแห่งข้อหาว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในหนี้ของบริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ที่ออกตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทนำมาขายลดกับโจทก์ตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อการส่งสินค้าออก แล้วไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์คิดดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้อง คำฟ้องของโจทก์ทั้งในส่วนมูลหนี้ที่ค้ำประกันและดอกเบี้ยฐานผิดนัดโจทก์ก็บรรยายไว้โดยละเอียดแจ้งชัด จำเลยทั้งสามผู้ค้ำประกันย่อมเข้าใจได้ว่าต้องรับผิดในหนี้เพียงใด ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการต่อไปมีว่า โจทก์มิได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทไปยื่นต่อบริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ผู้ออกตั๋วเมื่อตั๋วนั้นถึงกำหนด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.8 มีข้อความว่า จำเลยทั้งสามผู้ค้ำประกันขอทำหลักฐานเป็นหนังสือฉบับนี้ให้ไว้แก่โจทก์ว่าจำเลยทั้งสามยอมผูกพันตนเข้าค้ำประกันบริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ผู้ทำสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อการส่งสินค้าออกตามสัญญาลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2541 เห็นได้ว่า สัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อการส่งสินค้าออกตามเอกสารหมาย จ.6 ที่จำเลยทั้งสามเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.8 เป็นสัญญาอีกอย่างหนึ่งต่างหากจากตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.7 ที่บริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ออกให้ไว้แก่โจทก์ ความรับผิดของจำเลยทั้งสามในฐานะผู้ค้ำประกันสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อการส่งสินค้าออกดังกล่าว จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องปฏิบัติตามวิธีการที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 985 ประกอบมาตรา 941 บังคับให้ผู้ทรงต้องนำตั๋วสัญญาใช้เงินไปยื่นเพื่อให้ใช้เงินในวันถึงกำหนด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันและจำเลยทั้งสามได้รับหนังสือทวงถามแล้วตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.5 แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามให้ชำระเงินตามฟ้องได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามมีว่า การที่โจทก์ไม่นำหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในคดีนี้ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ. 8/2542 ของศาลล้มละลายกลาง มีผลให้จำเลยทั้งสามหลุดพ้นจากความรับผิดหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ดังนั้น การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ทำสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อการส่งสินค้าออกไว้ต่อโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.6 แม้ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทดังกล่าวตามสำเนาคำสั่งเอกสารหมาย ล.1 ก็ไม่มีผลกระทบต่อความรับผิดของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.8 การที่โจทก์ไม่นำหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อการส่งสินค้าออกตามเอกสารหมาย จ.6 ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ. 8/2542 ของศาลล้มละลายกลาง ไม่ทำให้หนี้ระงับ เมื่อหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อการส่งออกยังไม่ระงับ จึงไม่ทำให้จำเลยทั้งสามหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว กรณีนี้ไม่อาจปรับบทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 697 ดังที่จำเลยทั้งสามฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share