คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1938/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ทนายจำเลยที่ 1 เคยขอเลื่อนคดีมาแล้วสองครั้ง ครั้งที่สามนัดสืบพยานโจทก์ทนายจำเลยที่ 1 มอบฉันทะให้เสมียนทนายศาล และยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ลงชื่อรับทราบเรื่องการถอนตัวไว้ในคำร้องดังกล่าวด้วยแสดงว่าจำเลยที่ 1 ทราบล่วงหน้าแล้วว่าในวันนัดนี้ตนจะไม่มีทนายความต่อสู้คดีให้ชอบที่จำเลยที่ 1 จะต้องแต่งตั้งทนายความคนใหม่เข้ามาดำเนินคดีแทน หรืออย่างน้อยตัวจำเลยที่ 1 ก็น่าจะมาศาลเพื่อแถลงขอเลื่อนคดีไปก่อน ทั้งตามคำร้องขอถอนทนายดังกล่าวก็มิได้ร้องขอเลื่อนคดีมาด้วยจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่ติดใจขอเลื่อนคดีหาใช่ว่าคำร้องขอถอนทนายเท่ากับเป็นการขอเลื่อนคดีอยู่ในตัวไม่ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ส่อไปในทางประวิงคดี ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นให้โจทก์นำพยานเข้าสืบและถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่ติดใจสืบพยานโดยสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 1 พร้อมกับมีคำพิพากษาในวันเดียวกันนั้นจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันจำนวน 163,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี ของต้นเงิน 80,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดี

วันที่ 5 กรกฎาคม 2542 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 2ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ส่วนทนายจำเลยที่ 1 มอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ลงชื่อรับทราบในคำร้องดังกล่าวแล้ว ศาลชั้นต้นอนุญาต และสืบพยานโจทก์จนหมดพยานโจทก์ โดยให้งดสืบพยานจำเลยที่ 1 และมีคำพิพากษาในวันดังกล่าว ต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้สืบพยานโจทก์และงดสืบพยานจำเลยที่ 1 ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2542

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่มีเหตุผิดระเบียบจะเพิกถอนกระบวนพิจารณาทั้งศาลได้พิพากษาคดีนี้แล้ว ข้อคัดค้านเรื่องผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ต้องกระทำก่อนศาลมีคำพิพากษา ให้ยกคำร้อง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้เพิกถอนการพิจารณาของศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ผิดระเบียบดังกล่าวข้างต้นแล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ผิดระเบียบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ทนายจำเลยที่ 1 ขอเลื่อนคดีมาแล้วสองครั้ง ซึ่งศาลชั้นต้นได้อนุญาตและศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ครั้งที่สามวันที่ 5 กรกฎาคม 2542 เวลา 9 นาฬิกา ซึ่งจำเลยที่ 1ทราบนัดโดยชอบแล้ว แต่ในวันดังกล่าวคงมีแต่ฝ่ายโจทก์มาศาล ฝ่ายจำเลยที่ 1 ปรากฏว่า ทนายจำเลยที่ 1 ได้มอบฉันทะให้เสมียนทนายมาศาล และยื่นคำร้องของทนายจำเลยที่ 1 ขอถอนตัวจากการเป็นทนายของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ลงชื่อทราบเรื่องการถอนตัวของทนายจำเลยที่ 1 ไว้ในคำร้องดังกล่าวแล้วอันเป็นการแสดงว่า จำเลยที่ 1 ทราบล่วงหน้าแล้วว่าในวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2542 จำเลยที่ 1 จะไม่มีทนายความต่อสู้คดีให้ ชอบที่จำเลยที่ 1 จะต้องแต่งตั้งทนายความคนใหม่เข้ามาดำเนินคดีแทนหรืออย่างน้อยตัวจำเลยที่ 1 เองก็น่าจะต้องมาศาลเพื่อแถลงขอเลื่อนคดีไปก่อนทั้งตามคำร้องขอถอนทนายของจำเลยที่ 1 ก็มิได้ร้องขอเลื่อนคดีมาด้วย กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ติดใจขอเลื่อนคดี หาใช่ว่าเป็นกรณีที่ถือได้ว่าคำร้องขอถอนทนายดังกล่าวเท่ากับเป็นการขอเลื่อนคดีอยู่ในตัวดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยไม่ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวส่อไปในทางประวิงคดี ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นให้โจทก์นำพยานเข้าสืบและถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่ติดใจสืบพยานโดยสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 1 พร้อมกับมีคำพิพากษาในวันเดียวกันนั้น จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาในประเด็นอื่นของโจทก์ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share