คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6063/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้คัดค้านที่เลือกตั้งกรรมการของบริษัทผู้คัดค้าน และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้คัดค้านซึ่งลงมติให้ ส.พ.และช. เป็นกรรมการเมื่อปรากฏตามฎีกาของผู้คัดค้านและคำแก้ฎีกาของผู้ร้องว่าได้มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านที่ประชุมลงมติให้แปรสภาพบริษัทผู้คัดค้านเป็นบริษัทมหาชน จำกัด และกรรมการของบริษัทผู้คัดค้านทุกคนหมดสภาพไปตามการลงมติเป็นบริษัทมหาชน จำกัดพร้อมทั้งที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เลือกตั้งกรรมการชุดใหม่แล้ว จึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยฎีกาของผู้คัดค้านต่อไป เพราะคำร้องของผู้ร้องไม่อยู่ในวิสัยที่จะบังคับคดีให้เป็นไปได้ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลฎีกา

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการคนหนึ่งของบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2533คณะกรรมการของบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 มีมติให้เรียกประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปีครั้งที่ 21/2533 ในวันที่ 26 เมษายน 2533 ซึ่งการประชุมตามระเบียบวาระที่ 5 เป็นการพิจารณาเลือกตั้งกรรมการใหม่แทนครบกำหนดออกตามวาระ 3 คน ผู้ถือหุ้นเสนอชื่อผู้ถือหุ้นเข้ารับเลือกรวม 4 คน การเลือกตั้งกระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ ผลการนับคะแนนประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าผู้ได้รับเลือกตั้งคือศาสตราจารย์นายแพทย์เสนอ อินทรสุขศรีนายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วิทยากร และนายแพทย์สมชาติ โลจายะแต่การนับคะแนนและการลงมติในการประชุมดังกล่าวไม่ถูกต้องและฝ่าฝืนต่อกฎหมาย กล่าวคือจำนวนผู้ถือหุ้นที่เข้าประชุมกับที่รับมอบฉันทะให้เข้าประชุม และจำนวนหุ้นของผู้ที่เข้าประชุมกับจำนวนหุ้นของผู้ที่รับมอบฉันทะให้เข้าประชุมตามบัญชีผู้ถือหุ้นที่เข้าประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 21/2533 เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 6แตกต่างจากที่ปรากฏในรายงานการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 21/2533 และกรรมการนับคะแนนได้นับคะแนนเพิ่มให้แก่ศาสตราจารย์นายแพทย์เสนอ อินทรสุขศรีนายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วิทยากร และนายแพทย์สมชาติ โลจายะดังนั้นมติของที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อระเบียบข้อบังคับ ขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 21/2533
ผู้คัดค้านทั้งแปดยื่นคำคัดค้านว่า ในการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 21/2533 ได้ดำเนินการถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายและข้อบังคับของบริษัท การนับคะแนนของกรรมการได้กระทำโดยถูกต้อง แต่เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 6 แสดงจำนวนผู้ถือหุ้นและจำนวนหุ้นที่เข้าประชุมไม่ถูกต้อง เพราะแสดงตัวเลขน้อยกว่าความเป็นจริงเหตุที่จำนวนผู้ถือหุ้นที่เข้าประชุมกับที่ได้รับมอบฉันทะให้เข้าประชุมแตกต่างจากที่ปรากฏในรายงานการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 21/2533 เพราะเป็นจำนวนที่จดแจ้งลงไว้ตามที่ประธานที่ประชุมแจ้งให้ที่ประชุมทราบขณะเปิดการประชุมเมื่อเวลา 13.30 นาฬิกา แต่หลังจากเปิดประชุมแล้วมีผู้ถือหุ้นทยอยมาร่วมประชุมอีก จึงทำให้จำนวนหุ้น ผู้ถือหุ้นและผู้รับมอบฉันทะเข้าร่วมประชุมเพิ่มมากขึ้น และความแตกต่างของจำนวนหุ้นดังกล่าว ไม่มีผลกระทบต่อการนับคะแนนในการลงมติแต่อย่างใด ผู้ร้องไม่มีเหตุร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 21/2533ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 21/2533 ระเบียบวาระที่ 5 ของบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการจำกัด ซึ่งลงมติให้ศาสตราจารย์นายแพทย์เสนอ อินทรสุขศรีนายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วิทยากร และนายแพทย์สมชาติ โลจายะเป็นกรรมการ
ผู้คัดค้านทั้งแปดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านทั้งแปดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 ครั้งที่ 21/2533 ที่เลือกตั้งกรรมการของบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 ประการเดียว ปรากฏตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งแปดและคำแก้ฎีกาของผู้ร้องว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2536และวันที่ 16 พฤศจิกายน 2536 ได้มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านที่ 1 ตามสำเนารายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 ครั้งที่ 3/2536 และครั้งที่ 4/2536เอกสารท้ายฎีกา ซึ่งปรากฏความว่าที่ประชุมลงมติให้แปรสภาพบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) และกรรมการของบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 ทุกคนหมดสภาพไปตามการลงมติเป็นบริษัทมหาชน จำกัด พร้อมทั้งที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เลือกตั้งกรรมการชุดใหม่แล้ว เมื่อกรรมการของบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 ที่ได้รับเลือกตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 ครั้งที่ 21/2533 หมดสภาพและที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เลือกตั้งกรรมการชุดใหม่แล้วเช่นนี้ จึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยฎีกาของผู้คัดค้านทั้งแปดต่อไปเพราะคำร้องของผู้ร้องไม่อยู่ในวิสัยที่จะบังคับคดีให้เป็นไปได้
จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลฎีกา

Share