แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่พิพาทโจทก์จำเลยตีราคาไว้จำนวน 100,000 บาท ดังนั้นราคาทรัพย์หรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงมีเพียง 100,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทแก่ ว.บุตรสาว ที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยได้ทำหนังสือมอบอำนาจนั้นให้โจทก์ไว้เพราะไม่มีการมอบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านและโฉนดที่ดินให้โจทก์ตามเหตุผลที่ยกขึ้นอ้างในฎีกาข้อ 2 นั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง
โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญายกที่พิพาทให้แก่บุตร 2 คน ตามบันทึกหลังทะเบียนหย่า โจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาจึงมีฐานะเป็นลูกหนี้ที่จะต้องโอนที่พิพาทให้แก่บุตรทั้งสอง จำเลยได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ไปดำเนินการโอนที่พิพาทให้แก่บุตรแทนจำเลย ถือได้ว่าการที่จำเลยทำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวให้โจทก์ไว้เป็นการกระทำใด ๆ อันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามบันทึกหลังทะเบียนหย่า อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 172 เดิม เมื่อหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 4 สิงหาคม 2524 อายุความจึงสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2524 และเริ่มนับใหม่ต่อไป โจทก์ฟ้องคดีวันที่4 กรกฎาคม 2533 ยังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ
บันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนหย่าระหว่างโจทก์จำเลยระบุยกที่พิพาทแก่บุตรทั้ง 2 คน โดยมิได้มีเงื่อนไขกำหนดให้สัญญาสิ้นความผูกพันหากเหลือบุคคลที่จะเป็นผู้รับทรัพย์นั้นเพียงผู้เดียว และเมื่อ พ.บุตรคนหนึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว จำเลยยังทำหนังสือมอบอำนาจเป็นการรับสภาพหนี้ที่มีความผูกพันที่จะโอนที่พิพาทให้แก่ ว.บุตร ซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่ายังคงเหลืออยู่เพียงผู้เดียวโดยระบุชื่อ ว.เป็นผู้รับโอนไว้อย่างชัดแจ้ง ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยว่า จุดประสงค์ที่แท้จริงในการยกที่พิพาทนั้น ต้องการยกให้แก่บุตรเท่านั้นโดยมิได้คำนึงถึงจำนวนบุตรว่าจะอยู่ครบทั้งคู่หรือเหลือเพียงคนเดียว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่พิพาทแก่ ว. ตามสัญญาและศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่พิพาททั้งแปลงแก่ ว. ได้
การที่จำเลยระบุผู้รับโอนที่พิพาทเป็น ว.เพียงคนเดียวในหนังสือมอบอำนาจแตกต่างไปจากสัญญาเดิม ก็หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญาเดิม ซี่งต้องห้ามตามประมวล-กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ตามที่จำเลยอ้างไม่