คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5245/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะแต่งงานกับ ส.บิดามารดาของจำเลยที่ 1 ได้ยกบ้านและที่ดินที่ถนนทรัพย์ให้จำเลยที่ 1 หนึ่งแปลง บ้านและที่ดินนั้นจึงเป็นสินเดิมของจำเลยที่ 1 เมื่อแต่งงานกันแล้วได้มาอยู่กินที่บ้านหลังนี้จนมีบุตร 3 คน ก็ขายบ้านและที่ดินที่ถนนทรัพย์นำเงินส่วนหนึ่งไปซื้อที่ดินที่ถนนสาธรเหนือและปลูกบ้านอยู่ ต่อมาได้ขายที่ดินและบ้านที่ถนนสาธรเหนือนำเงินส่วนหนึ่งไปรับซื้อฝากที่ดินแปลงพิพาท และผู้ขายฝากไม่ไถ่คืนจึงตกเป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการได้มาโดยขายสินเดิมไปและนำเงินที่ขายได้มาซื้อที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ต้องเอามาแทนสินเดิมที่ขายไป แม้ก่อนจะนำเงินมารับซื้อฝากที่พิพาท จำเลยที่ 1 ได้นำเงินทีได้จากการขายสินเดิมไปซื้อที่ดินที่ถนนสาธรเหนือไว้ชั้นหนึ่งก่อน ก็ไม่ทำให้ผลในทางกฎหมายเปลี่ยนแปลงไป เพราะที่ดินแปลงที่ถนนสาธรเหนือก็ถือว่าเป็นสินเดิมของจำเลยที่ 1 นั้นเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1465 ก่อนทำการแก้ไข แต่อาคารโรงเรียนและตึกแถวจำเลยที่ 1 ออกเงินสร้างขึ้นบนที่ดินพิพาทหลังจากที่ดินดังกล่าวตกเป็นของจำเลยที่ 1 แล้ว และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้เงินทีได้จากการขายที่ดินแปลงที่ถนนสาธรเหนือมาทำการก่อสร้างจึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466 เดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางแสร์ ศิริออร์ ก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ จำเลยที่ ๒ เป็นนิติบุคคลประเภทมูลนิธิมีจำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการ นางแสร์ ศิริออร์ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๒๑ ก่อนตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่บุตรทั้ง ๗ คน คนละส่วนเท่ากันจำเลยที่ ๑ กับนางแสร์ ศิริออร์ ต่างฝ่ายต่างมีสินเดิมมาด้วยกัน และทำมาหาได้ทรัพย์สินร่วมกันอีก รวมทั้งที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ ๗๕๖๘ แขวงสามเสนใน เขตดุสิต กรุงเทพมหานครพร้อมกับสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีอาคารโรงเรียนศิริวัฒนา และตึกแถวสามชั้น ๙ คูหา มีชื่อจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เมื่อนางแสร์ ศิริออร์ ถึงแก่กรรมไปแล้ว สินสมรสดังกล่าวนี้กึ่งหนึ่งย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมทันที แต่จำเลยที่ ๑ไม่ยอมโอนให้กลับโอนกรรมสิทธิ์ไปให้แก่จำเลยที่ ๒ ขอให้ศาลเพิกถอนชื่อของจำเลยที่ ๒ ออกจากการเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องโจทก์ ให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินและให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้โจทก์กึ่งหนึ่ง ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๑ แต่ฝ่ายเดียวมีสินเดิมที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ได้มาโดยใช้เงินที่มาจากการขายสินเดิมรับซื้อฝากไว้แล้วหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ใช้เงินที่ได้มาจากการขายสินเดิมปลูกสร้างโรงเรียนศิริวัฒนา และสร้างตึกแถวสามชั้น ๙ คูหาขึ้นบนที่ดินดังกล่าวที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดจึงเป็นสินเดิมของจำเลยที่ ๑ ไม่ใช่สินสมรส ไม่เป็นมรดกของนางแสร์ ศิริออร์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๑,๓๓๐,๓๓๓ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขออื่นของโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ มากไปกว่านี้ให้ยกให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๒
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ ๑ ได้มรณะลง นายเกษม ศิริออร์ ผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ ๑ ขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า เห็นว่าเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวกับที่ดินแปลงพิพาทนั้น ข้อเท็จจริงคงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ ๑ ว่าก่อนที่จำเลยที่ ๑ จะแต่งงานกับนางแสร์ บิดามารดาของจำเลยที่ ๑ ได้ยกบ้านและที่ดินที่ถนนทรัพย์ให้จำเลยที่ ๑ หนึ่งแปลง เมื่อแต่งงานกันแล้วให้มาอยู่กินที่บ้านหลังนี้ของจำเลยที่ ๑ จนมีบุตร ๓ คน จึงได้ขายบ้านและที่ดินที่ถนนทรัพย์แล้วนำเงินส่วนหนึ่งไปซื้อที่ดินที่ถนนสาธรเหนือและปลูกบ้านอยู่ที่นั่น ต่อมาได้ขายที่ดินและบ้านที่ถนนสาธรเหนืออีกแล้วนำเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการขายที่ดินและบ้านดังกล่าวไปรับซื้อฝากที่ดินแปลงพิพาทแล้วผู้ขายฝากมิได้ไถ่คืน ที่ดินจึงตกเป็นของจำเลยที่ ๑ ได้ความเช่นนี้ศาลฎีกาเห็นว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นที่ดินที่จำเลยที่ ๑ ได้มาโดยขายสินเดิมไปและนำเงินที่ขายได้ซื้อที่ดินแปลงใหม่ ที่ดินแปลงใหม่จึงเป็นทรัพย์สินที่ต้องเอามาแทนสินเดิมที่ขายไปแม้ก่อนจะนำเงินมารับซื้อฝากที่พิพาท จำเลยที่ ๑ จะได้เอาเงินที่ได้จากการขายที่ดินและบ้านสินเดิมแปลงแรกไปซื้อที่ดินที่ถนนสาธรเหนือไว้ชั้นหนึ่งก่อน แล้วขายที่ดินและบ้านถนนสาธรเหนือนำเงินมาซื้อฝากที่ดินแปลงพิพาท ก็ไม่ทำให้ผลในทางกฎหมายเปลี่ยนแปลงไปเพราะที่ดินแปลงที่ถนนสาธรเหนือก็ถือว่าเป็นที่ดินอันเป็นสินเดิมของ จำเลยที่ ๑ นั่นเองทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๖๕ ก่อนทำการแก้ไข และโดยนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๒๕/๒๔๙๘ คดีระหว่าง นายสนิท ควรเสนอ โจทก์ นางประคอง ชื่นจิตร์ กับพวก จำเลย ที่โจทก์อ้างว่าที่ดินแปลงพิพาทไม่เป็นสินเดิมของจำเลยที่ ๑ อีกต่อไป หากแต่เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ ๑ กับนางแสร์ ศิริออร์ โดยอ้างคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๘๒/๒๕๑๘ นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวรูปเรื่องไม่ตรงกับคดีนี้ แต่สำหรับสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินแปลงพิพาทคืออาคารโรงเรียนศิริวัฒนาและตึกแถวสามชั้น ๙ คูหา นั้น ปรากฏว่า นายเกษม ศิริออร์ พยานจำเลยที่ ๑ เบิกความว่าอาคารโรงเรียนศิริวัฒนาและตึกแถว ๙-๑๐ คูหา จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ออกเงินส่วนตัวในการก่อสร้าง จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขอออกใบอนุญาตในการก่อสร้างด้วยตนเอง แต่จำเลยที่ ๑ หาได้นำสืบไม่ว่าเงินส่วนตัวที่นายเกษมเบิกความถึงนั้น เป็นเงินที่จำเลยที่ ๑ ได้มาอย่างไร ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ ๑ นำสืบมานั้น เห็นได้ว่าอาคารโรงเรียนศิริวัฒนาและตึกแถวสามชั้น ๙ คูหา เพิ่งก่อสร้างหลังจากที่ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ แล้ว และไม่มีหลักฐานที่จะให้ฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ ได้ใช้เงินที่ได้จากการขายที่ดินแปลงที่ถนนสาธรเหนืออันเป็นที่ดินสินเดิมของจำเลยที่ ๑ ก่อสร้างอาคารดังกล่าว โจทก์เองนำสืบอยู่ว่า อาคารโรงเรียนศิริวัฒนาและตึกแถวสามชั้น ๙ คูหา ผู้ขอสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ดินของนางแสร์ซึ่งอยู่ที่ถนนสีลมเป็นผู้สร้างให้แทนการจ่ายเงินสดเป็นค่าหน้าที่ดิน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องถือว่าอาคารโรงเรียนศิริวัฒนาและตึกแถวสามชั้น ๙ คูหาบนที่ดินแปลงพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนางแสร์และจำเลยที่ ๑ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๖๖ เดิม เพราะเป็นทรัพย์สินที่บุคคลทั้งสองได้มาระหว่างสมรส ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ และนางแสร์ ศิริออร์ ต่างก็มีสินเดิมมาก่อนสมรส จำเลยที่ ๑ จึงมีสิทธิในสินสมรส ๒ ต่อ ๑ ส่วนตามหลักการแบ่งสินสมรสของกฎหมายลักษณะผัวเมีย
พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางแสร์ ศิริออร์มีกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ในอาคารโรงเรียนศิริวัฒนาและตึกแถวสามชั้น ๙ คูหาเป็นจำนวนหนึ่งในสามส่วน ให้เพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เฉพาะส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์ดังกล่าวเสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share