คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 273/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีเจตนาลักสร้อยคอซึ่งบุตรของผู้เสียหายสวมอยู่ พอใช้ตะไกรตัดสร้อยนั้นขาดตกลงยังพื้นดิน ยังมิได้เข้ายึดถือเอาสร้อยนั้นไป ก็มีคนบอกให้ผู้เสียหายรู้ตัวและเก็บเอาสร้อยไว้เสียก่อน จะถือว่าจำเลยเอาสร้อยนั้นไป(ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334)ยังไม่ได้ จำเลยย่อมมีความผิดฐานพยายามลักทรัพย์เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันเกิดเหตุ เวลากลางคืน จำเลยพกพาอาวุธสนับมือทองเหลือง ๑ อันไปในงานกาชาดสวนอัมพร อันเป็นทางสาธารณะและชุมนุมชนที่จัดให้มีขึ้นเพื่อการรื่นเริงและการกุศล โดยไม่มีเหตุสมควร แล้วทำการลักสายสร้อยคอทองคำ ๑ เส้นซึ่งมีจี้ทองคำห้อยติดอยู่ ของนางเสริมศรีซึ่งสวมอยู่ที่คอเด็กหญิงสุนิสา โดยจำเลยใช้ตะไกรตัดเล็บตัดสายสร้อยขาด ลักเอาทรัพย์ดังกล่าวไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๕(๑)(๗),๓๗๑,๔๑
จำเลยให้การรับข้อหาฐานพกสนับมือแต่ปฏิเสธฐานลักทรัพย์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานพกอาวุธตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ ให้ปรับ ๔๐ บาท รับลดกึ่ง คงปรับ ๒๕ บาท สนับมือของกลางให้ริบ ข้อหาฐานลักทรัพย์ให้ยกฟ้อง ตะไกรตัดเล็บของกลางคืนให้จำเลย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะว่า จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕(๑)ด้วย ให้จำคุกจำเลย ๒ ปี ตะไกรของกลางริบ โทษปรับที่จำเลยถูกศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษมาแล้วให้จัดการตามมาตรา ๒๙,๓๐
จำเลยฎีกา(ส่วนโจทก์มิได้ฎีกาโต้เถียงข้อที่ศาลอุทธรณ์ไม่ถือการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา ๓๓๕(๑) และ (๗))
ศาลฎีกาฟังว่า ตามวันเวลาที่โจทก์หา ผู้เสียหายอุ้มเด็กหญิงสุนิสาบุตรีไปเที่ยวงานกาชาด เด็กหญิงสุนิสาสวมสร้อยคอห้อยจี้ทองคำ ขณะเกิดเหตุสิบตำรวจเอกอุดมและสิบตำรวจโทโอษฐเห็นจำเลยเอื้อมมือไปที่คอเด็กหญิงสุนิสา พอชักมือกลับมาสร้อยก็หล่นไปที่พื้นดิน สิบตำรวจเอกอุดมร้องบอกผู้เสียหายว่าสร้อยคอตกพร้อมกับเข้าขอค้นตัวจำเลย ผู้เสียหายก้มดูที่พื้นดิน เห็นสายสร้อยตกอยู่ข้างเท้าก็หยิบขึ้นดูเห็นมีรอยถูกตัด ตำรวจค้นได้สนับมือทองเหลือง ๑ อัน และตะไกรตัดเล็บ ๑ อันอยู่ในกระเป๋ากางเกงจำเลย จำเลยเป็นคนร้ายใช้ตะไกรตัดสร้อยคอนั้นขาดและตกลงไปที่พื้นดินโดยมีเจตนาลักสร้อยคอนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยจะตัดสายสร้อยขาดตกลงยังพื้นดินแล้ว แต่จำเลยก็ยังมิได้เข้ายึดถือเอาสายสร้อยนั้นไป เพราะผู้เสียหายรู้ตัวและเก็บเอาไว้เสียก่อน จะถือว่าจำเลยเอาสายสร้อยนั้นไปยังไม่ได้ จำเลยควรมีความผิดฐานพยายามลักทรัพย์เท่านั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๕(๑)ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ ให้จำคุกจำเลย ๑ ปี ๔ เดือน นอกนั้นคงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share