คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5715/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ทนายจำเลยที่ 1 ที่ศาลตั้งให้ได้เสียชีวิตลงก่อนสืบพยานจำเลย และศาลชั้นต้นไม่ได้ตั้งทนายให้จำเลยที่ 1 อีกเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่มีทนายแก้ต่างจนศาลชั้นต้นสั่งตัดพยานจำเลยที่ 1 นั้น ในปัญหาข้อนี้แม้จะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตามแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งจำเลยที่ 1 หรือศาลยกขึ้นอ้างได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรรับวินิจฉัยให้ ในวันสืบพยานจำเลย จำเลยที่ 1 ได้แต่งให้ ก.ซึ่งเป็นทนายของจำเลยที่ 2 เป็นทนายของจำเลยที่ 1 ด้วยแล้วศาลชั้นต้นจึงไม่ต้องตั้งทนายให้จำเลยที่ 1 อีก และตามรายงานกระบวนพิจารณาก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 แถลงไม่ติดใจสืบพยานเอง มิใช่ศาลสั่งตัดพยานจำเลยที่ 1 กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ได้เคยยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ จริง แต่ไม่ได้เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะผู้ตายตกน้ำและถึงแก่ความตายเอง ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้ฆ่าผู้ตาย แต่จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์พ้นกำหนดเวลาและศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นที่สุดแล้ว ส่วนโจทก์อุทธรณ์ขอให้เพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคท้าย ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52(2) คงจำคุกตลอดชีวิต ข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนี้ ที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างอิงในฎีกาว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำความผิดนี้เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 289, 339 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 14,000 บาทแก่ผู้เสียหายให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1004/2535 ของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคท้าย มาตรา 289(7) เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 289 (7) อันเป็นบทหนักที่สุดตามมาตรา 90 ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1 ให้การรับสภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78ประกอบมาตรา 52(2) คงจำคุก 30 ปี ให้จำเลยที่ 1 ใช้ราคาทรัพย์จำนวน 14,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ส่วนคำขอให้นับโทษต่อให้ยกเนื่องจากศาลยังมิได้มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว สำหรับจำเลยที่ 2ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคท้าย ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52(2) คงจำคุกตลอดชีวิต ข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ทนายจำเลยที่ 1ที่ศาลตั้งให้ ได้เสียชีวิตลงก่อนสืบพยานจำเลย และศาลชั้นต้นไม่ได้ตั้งทนายให้จำเลยที่ 1 อีกเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่มีทนายแก้ต่างจนศาลชั้นต้นสั่งตัดพยานจำเลยที่ 1 นั้นในปัญหาข้อนี้แม้จะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ตามแต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งจำเลยที่ 1 หรือศาลยกขึ้นอ้างได้ศาลฎีกาเห็นสมควรรับวินิจฉัยได้ พิจารณาสำนวนแล้วปรากฏว่า ในวันสืบพยานจำเลย จำเลยที่ 1ได้แต่งให้นายกฤษฎา พูลสวัสดิ์ ซึ่งเป็นทนายของจำเลยที่ 2เป็นทนายของจำเลยที่ 1 ด้วยแล้ว ศาลชั้นต้นจึงไม่ต้องตั้งทนายให้จำเลยที่ 1 อีก และตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่14 มิถุนายน 2537 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 แถลงไม่ติดใจสืบพยานเองมิใช่ศาลสั่งตัดพยานจำเลยที่ 1 กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนปัญหาที่จำเลยที่ 1 ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า จำเลยที่ 1 มิได้กระทำความผิด ขอให้ยกฟ้องนั้นปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้เคยยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์จริงแต่ไม่ได้เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย เพราะผู้ตายตกน้ำและถึงแก่ความตายเอง ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้ฆ่าผู้ตาย แต่จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์พ้นกำหนดเวลาและศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นที่สุดแล้ว ส่วนโจทก์อุทธรณ์ขอให้เพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคท้าย ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52(2) คงจำคุกตลอดชีวิตข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนี้ ที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างอิงในฎีกาว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำความผิดนี้เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ในปัญหาข้อนี้
พิพากษายืน

Share