คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 746/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ต้องโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำ เรือนจำมิใช่ท้องที่ที่จำเลยที่ 1 มีถิ่นที่อยู่ ไม่อาจถือได้ว่าเป็น ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ในมูลละเมิดต่อศาลชั้นต้นที่เรือนจำตั้งอยู่มิได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(2) เดิม แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีการประกาศใช้ มาตรา 4(1) โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นดังกล่าวซึ่งเป็นศาลที่มูลคดีเกิดได้ด้วย ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจรับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา จำเลยที่ 2 ต้องเสียค่าบริการให้จำเลยที่ 3 เป็นรายวันเพื่อตอบแทนการนำรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุเข้าร่วมแล่นกับจำเลยที่ 3 การเดินรถคันดังกล่าวจึงเป็นกิจการร่วมกัน การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวในขณะเกิดเหตุโดยรับจ้างจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำของลูกจ้างในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ด้วย ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 2 เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์คันที่ถูกจำเลยที่ 1 ขับชน โดยโจทก์ที่ 2 ต้องรับผิดซ่อมแซมรถด้วยโจทก์ที่ 2 ย่อมมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ แม้ต่อมาสัญญาเช่าซื้อจะเลิกกันก็ไม่เป็นเหตุให้สิทธิของโจทก์ที่ 2 ซึ่งมีอยู่แล้วระงับสิ้นไป

ย่อยาว

คดีทั้งห้าสำนวนนี้ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5
โจทก์ทั้งห้าสำนวนฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรของนายสมภาษกับนางถนอม บุญวรรณ์ โจทก์ที่ 2 เป็นภริยาของนายเจือ สงครามมีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 จำเลยที่ 2เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 10-0203นครศรีธรรมราช และได้นำเข้าประกอบการขนส่งร่วมกับจำเลยที่ 3ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยแบ่งผลประโยชน์จากการใช้รถยนต์โดยสารคันดังกล่าวซึ่งกันและกัน มีจำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างพนักงานขับรถของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่9 พฤษภาคม 2530 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวรับส่งคนโดยสารไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2และที่ 3 แซงขึ้นหน้ารถยนต์อีกคันหนึ่งเข้าไปในช่องเดินรถที่สวนมา ในขณะเดียวกันมีรถยนต์กระบะคันหมายเลขทะเบียน 20-1713 สงขลา ซึ่งขับโดยนายเจือสามีของโจทก์ที่ 2 แล่นสวนมาจึงพุ่งเข้าชนรถยนต์กระบะที่นายเจือขับสวนมาอย่างแรงเป็นเหตุให้นายเจือและผู้โดยสารมาในรถอีก 4 คน คือนายสมภาษ นางถนอม เด็กชายคณิตหรือเอียด บุญยวรรณ์และเด็กหญิงอมรรัตน์หรือแดง บุญยวรรณ์ ถึงแก่ความตายทั้งหมด การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการละเมิดในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2และที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อโจทก์ทั้งห้าดังนี้ โจทก์ที่ 1 ในฐานะเป็นบุตรของนายสมภาษกับนางถนอมและเป็นพี่ของเด็กชายคณิตหรือเอียด เด็กหญิงอมรรัตน์หรือแดง ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อการจัดงานศพของผู้ตายทั้งสี่ทั้งสิ้น 60,000 บาท โจทก์ที่ 1 ต้องขาดไร้อุปการะและขาดความอบอุ่น คิดเป็นค่าเสียหายเดือนละ 2,500 บาท เป็นเวลา 2 ปี เป็นเงิน 60,000 บาท รวมค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ที่ 1 เป็นเงินทั้งสิ้น 120,000 บาท โจทก์ที่ 2ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพของนายเจือเป็นเงินทั้งสิ้น20,000 บาท ระหว่างอยู่กินกับนายเจือผู้ตาย โจทก์ที่ 2กับผู้ตายมีรายได้จากการขับรถยนต์รับจ้างส่งคนโดยสารวันละไม่ต่ำกว่า 400 บาท และนายเจือสามีได้แบ่งให้โจทก์ที่ 2ใช้จ่ายในครอบครัววันละ 150 บาท โจทก์ที่ 2 จึงคิดค่าเสียหายในส่วนนี้เดือนละ 4,500 บาท เป็นเวลา 5 ปี เป็นเงิน 270,000บาท และโจทก์ที่ 2 เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์กระบะคันหมายเลขทะเบียน 20 – 1713 สงขลา ที่ได้รับความเสียหายโดยเช่าซื้อมาจากบริษัทอีซูซุหาดใหญ่ จำกัด เป็นเงิน 235,000 บาทได้ผ่อนชำระไปบ้างแล้ว คงค้างชำระอีกเพียง 56,800 บาทแต่หากโจทก์ที่ 2 จะขายรถยนต์กระบะคันดังกล่าวก็จะได้ราคาไม่ต่ำกว่า 160,000 บาท คิดหักเงินที่โจทก์ที่ 2 ยังค้างชำระแก่ผู้ให้เช่าซื้อออกแล้ว เป็นค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดจำนวน 103,200 บาท รวมค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ที่ 2 ได้รับเป็นเงินทั้งสิ้น 393,200 บาท โจทก์ที่ 3เป็นบุตรของนายเจือผู้ตาย ยังเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถมปีที่ 1ต้องขาดไร้อุปการะจากการที่บิดาถึงแก่ความตายคิดเป็นค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาท มีกำหนด 13 ปี จนกว่าโจทก์ที่ 2 จะบรรลุนิติภาวะเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 312,000 บาท โจทก์ที่ 4 เป็นบุตรของนายเจือผู้ตายต้องขาดไร้อุปการะจากบิดาคิดเป็นเงินค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาท มีกำหนดเวลา 19 ปี จนกว่าโจทก์ที่ 5 จะบรรลุนิติภาวะเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้น456,000 บาท โจทก์ที่ 5 เป็นบุตรของนายเจือผู้ตายยังเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถมปีที่ 2 ต้องขาดไร้อุปการะจากบิดาคิดเป็นค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาท มีกำหนดเวลา 12 ปีจนกว่าโจทก์ที่ 5 จะบรรลุนิติภาวะ เป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น288,000 บาท ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งห้าพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันทำละเมิดไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาทั้งห้าสำนวน
จำเลยที่ 2 ทั้งห้าสำนวนให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างและขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 รถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 10-0203 นครศรีธรรมราช ไม่ใช่เป็นรถของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้ประกอบการขนส่งและไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 4(2)
จำเลยที่ 3 ทั้งห้าสำนวนให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งห้าไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมประกอบการขนส่งกับจำเลยที่ 3 การขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้เส้นทางที่จำเลยที่ 3 ได้รับอนุญาต และจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาท โจทก์ที่ 2 ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่ารถยนต์เพราะโจทก์ที่ 2 ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เป็นแต่เพียงผู้เช่าซื้อเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2เป็นเงิน 240,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 100,000 บาทให้แก่โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 100,000 บาท และให้แก่โจทก์ที่ 5เป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2530 อันเป็นวันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 40,000 บาท โจทก์ที่ 2จำนวน 223,200 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 3 ฎีกาข้อแรกว่าจำเลยที่ 1ไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจรับฟ้องคดีไว้พิจารณา เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งห้าระบุว่าจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ในเรือนจำจังหวัดสงขลา เนื่องจากจำเลยที่ 1 ต้องโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำดังกล่าวมีกำหนด 2 ปี 6 เดือนเรือนจำจังหวัดสงขลามิใช่ท้องที่ที่จำเลยที่ 1 มีถิ่นที่อยู่ จึงไม่อาจถือว่าเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ขณะที่โจทก์ทั้งห้ายื่นฟ้องโจทก์ทั้งห้าจะฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นมิได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(2) เดิม โจทก์ทั้งห้าต้องฟ้องต่อศาลที่จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนา คือศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้แต่เนื่องจากขณะคดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534 ซึ่งใช้บังคับแล้วแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 4(1) บัญญัติว่า “คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”เช่นนี้จึงทำให้โจทก์ทั้งห้ามีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่มูลคดีเกิดได้ด้วย ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจรับฟ้องโจทก์ทั้งห้าไว้พิจารณา ฎีกาจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น จำเลยที่ 3ฎีกาต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ข้อนี้นายเหี้ยง ตรีวรพันธุ์ กรรมการบริษัทจำเลยที่ 3 เบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3อนุญาตให้จำเลยที่ 2 นำรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุเข้าร่วมแล่นในเส้นทางจังหวัดนครศรีธรรมราช-อำเภอท่าศาลา ตามสัญญาเอกสารหมาย ป.ล.8 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ต้องชำระค่าบริการให้จำเลยที่ 3 เป็นเงิน 40 บาทต่อวัน และจำเลยที่ 1 ให้การต่อพนักงานสอบสวนในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.9 ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 รับจ้างขับรถให้จำเลยที่ 2 โดยขับกลับจากนำแม่ค้าไปซื้อของที่อำเภอสะเดาและมีนางเชื่องภริยาจำเลยที่ 2 นั่งควบคุมไปด้วย เห็นว่าการที่จำเลยที่ 2 ต้องเสียค่าบริการให้จำเลยที่ 3 เป็นเงิน40 บาทต่อวัน เพื่อตอบแทนการนำรถเข้าร่วมแล่นกับจำเลยที่ 3การเดินรถคันเกิดเหตุจึงเป็นกิจการร่วมกันระหว่างจำเลยที่ 2และที่ 3 ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุในขณะเกิดเหตุโดยรับจ้างจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำของลูกจ้างในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ด้วย ฎีกาจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น จำเลยที่ 3 ฎีกา ต่อไปอีกว่า โจทก์ที่ 2 ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเกี่ยวกับรถยนต์กระบะคันหมายเลขทะเบียน20-1713 สงขลา เพราะสัญญาเช่าซื้อระงับไปก่อนโจทก์ทั้งห้าฟ้องคดี เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์ที่ 2 นำสืบว่าขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 2 เช่าซื้อรถยนต์กระบะคันดังกล่าวโดยต้องรับผิดซ่อมแซมรถด้วย ฉะนั้น โจทก์ที่ 2 ย่อมมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ แม้ต่อมาสัญญาเช่าซื้อจะเลิกกันก็ไม่เป็นเหตุให้สิทธิของโจทก์ที่ 2ซึ่งมีอยู่แล้วระงับสิ้นไป ฎีกาจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share