แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การนำสืบถึงข้อตกลงเกี่ยวกับราคาที่ดินที่ซื้อขายตามหนังสือสัญญาที่ทำกันไว้อีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจากหนังสือสัญญาขายที่ดินที่จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินย่อมทำได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 ซึ่งห้ามเฉพาะการนำพยานบุคคลเข้าสืบแทนพยานเอกสาร หรือประกอบข้ออ้างว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมหรือแก้ไขข้อความในเอกสาร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน 1 แปลง เนื้อที่ 31ไร่เศษ โจทก์ตกลงแบ่งขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยจำนวน 16 ไร่ ในราคาไร่ละ 30,000 บาท รวมเป็นเงิน480,000 บาท โดยจำเลยจะนำที่ดินแปลงดังกล่าวไปจัดสร้างหมู่บ้านคุรุสภา จังหวัดชัยภูมิ ได้ทำสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยโดยจำเลยเป็นผู้เก็บหลักฐานสัญญาซื้อขายไว้ในวันนั้นจำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ 50,000 บาท และชำระให้อีก 2 ครั้งรวมเป็นเงิน70,000 บาท ต่อมาจำเลยขอให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยเพื่อไปดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างหมู่บ้านคุรุสภาจังหวัดชัยภูมิ เมื่อขายได้แล้วจะได้นำเงินมาชำระค่าที่ดินให้แก่โจทก์มิฉะนั้นจำเลยก็ไม่มีเงินชำระค่าที่ดินได้ในวันที่13 ธันวาคม 2528 โจทก์จึงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเนื้อที่16 ไร่ 2 งานเศษ ที่ตกลงขายให้แก่จำเลย โดยกำหนดราคาในสัญญาฉบับที่ทำ ณ สำนักงานที่ดิน จังหวัดชัยภูมิเป็นเงิน 65,000 บาทเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้และค่าธรรมเนียมการขายหลังจากนั้นจำเลยชำระเงินค่าที่ดินให้แก่โจทก์อีก 20,000 บาทรวมเป็นเงินที่จำเลยชำระแล้วจำนวน 140,000 บาท คงค้าง340,000 บาท ต่อมาจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างหมู่บ้านคุรุสภาโจทก์ไปทวงถามให้จำเลยชำระค่าที่ดินที่ยังค้างชำระ แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงมีหนังสือทวงถาม แต่จำเลยก็ไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 346,375 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 340,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2537 จำเลยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการคุรุสภา จังหวัดชัยภูมิมีหน้าที่จัดให้มีหมู่บ้านคุรุสภาในจังหวัดชัยภูมิ โจทก์มาเสนอขายที่ดินจำนวน 16 ไร่ ราคาไร่ละ 30,000 บาท จำเลยได้หารือไปยังเลขาธิการคุรุสภาที่ กรุงเทพมหานคร ได้รับคำตอบว่าต้องใช้ที่ดินอย่างน้อย 45 ไร่ จำเลยจึงบอกเลิกไม่ซื้อที่ดินจากโจทก์แล้วโจทก์มาเสนอขายที่ดินให้แก่จำเลยอ้างว่ามีความจำเป็นต้องใช้เงินโดยจะขาย 16 ไร่เศษ ในราคา 100,000 บาทจำเลยต่อรองจนเหลือราคา 65,000 บาท โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาซื้อขายกันในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2537 โดยจำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ 50,000 บาทในวันทำสัญญา ส่วนที่เหลือชำระกันในวันโอนกรรมสิทธิ์ กำหนดโอนภายใน 1 ปี ต่อมาในเดือนธันวาคม 2528จำเลยชำระเงินส่วนที่เหลือ 15,000 บาท ให้แก่โจทก์โจทก์จำเลยจึงทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2528 จำเลยชำระค่าที่ดินให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 340,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดจากวันที่ 27 ตุลาคม 2531เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน6,375 บาท จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามคำฟ้อง คำให้การและที่โจทก์จำเลยนำสืบมา ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ตกลงขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 24658 และ 24659 ตำบลโพนทองอำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ ให้แก่จำเลย ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายกันเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2537 ต่อมาวันที่ 13 ธันวาคม 2528 ได้ทำหนังสือจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย ล.1 ในเอกสารดังกล่าวมีข้อความระบุว่า ผู้ขายยอมขายที่ดินให้แก่ผู้ซื้อในราคา65,000 บาท ผู้ซื้อได้ชำระราคาและผู้ขายได้รับเงินค่าที่ดินไว้เป็นการถูกต้องแล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ว่าสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย ล.1 ระบุราคาซื้อขายเป็นเงิน 65,000 บาท ผิดจากความจริง เจตนาของโจทก์เพียงแต่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย ส่วนราคาที่ดินโจทก์ถือตามหนังสือสัญญาที่จำเลยไม่ยอมคืนให้ โจทก์มิได้ตกลงให้ระบุว่าราคาที่ดินในสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเป็นเงิน 65,000 บาท เป็นเรื่องที่จำเลยให้ระบุไว้เช่นนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี จึงเป็นหนังสือสัญญาไม่สมบูรณ์โจทก์มีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบได้นั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 บัญญัติห้ามเฉพาะการนำพยานบุคคลเข้าสืบแทนพยานเอกสารหรือประกอบข้ออ้างว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมหรือแก้ไขข้อความในเอกสารในเมื่อมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง การที่โจทก์นำสืบถึงข้อตกลงเกี่ยวกับราคาที่ดินตามหนังสือสัญญาที่ทำกันเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2537 อีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจากหนังสือสัญญาขายที่ดินที่จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินนั้น จึงไม่เป็นการต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น