คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3379/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ สัญญาค้ำประกันตามเอกสารท้ายฟ้องเป็นเอกสารปลอม และไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไร หากจำเลยที่ 2จะต้องรับผิดต่อโจทก์แล้วก็จะต้องรับผิดไม่เกิน 150,000 บาท ดังนี้คำให้การจำเลยที่ 2 ตอนต้นเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงส่วนตอนหลังเป็นเรื่องปัญหาข้อกฎหมายว่าจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด หาได้ขัดกันไม่จึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหรือไม่ และจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด คำให้การของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ไม่ได้ให้การในรายละเอียดว่าลายมือชื่อผู้ค้ำประกันในเอกสารท้ายฟ้องดังกล่าวไม่ใช่ลายมือชื่อจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธินำสืบว่าลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันไม่ใช่ของจำเลยที่ 2 ข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นเรื่องนอกคำให้การ จึงรับฟังไม่ได้ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ให้ถือเอาคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2เป็นคำฟ้องฎีกาของจำเลยที่ 2 ด้วยนั้น เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งเป็นฎีกาที่ไม่ชอบจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของโจทก์ โดยทำสัญญาขายลดเช็คให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ โดยยอมผูกพันเข้ารับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2530 ถึงวันที่ 29 มกราคม2531 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายลดเช็คให้แก่โจทก์หลายฉบับ ที่โจทก์เรียกเก็บเงินไม่ได้มี 4 ฉบับ เป็นเงิน 190,600 บาท โดยมีข้อตกลงว่าถ้าเช็คที่จำเลยที่ 1 นำมาขายลดให้แก่โจทก์นั้นไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เมื่อเช็คแต่ละฉบับครบกำหนด ปรากฏว่าโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระเงินตามจำนวนในเช็คแต่ละฉบับพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาคิดถึงวันฟ้อง 26,192.05 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันรับผิดชำระเงิน 216,792.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ในต้นเงิน 55,700 บาท ร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 134,900 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2รับผิดโดยจำเลยที่ 3 รับผิดเป็นจำนวนเงิน 91,377.30 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 85,300 บาท จำเลยที่ 4รับผิดเป็นจำนวนเงิน 112,594.93 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 105,300 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 จะชำระให้แก่โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันให้ไว้แก่โจทก์ตามฟ้อง สัญญาค้ำประกันเอกสารท้ายฟ้องโจทก์เป็นเอกสารปลอมและไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม หากจำเลยที่ 2จะต้องรับผิดต่อโจทก์แล้วจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ไม่เกิน150,000 บาท เจ้าหน้าที่ของโจทก์สมคบกับจำเลยที่ 1 ปล่อยวงเงินจนเกินอำนาจและให้จำเลยที่ 1 จำหน่ายจ่ายโอนหลักประกันแห่งหนี้ไปเป็นทางให้เจ้าหนี้อื่นของจำเลยที่ 1 ต้องเสียเปรียบและเสียหายถ้าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ย่อมสิ้นสิทธิไล่เบี้ยในส่วนนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน216,792.05 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี ในต้นเงิน55,700 บาทและร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 134,900 บาท นับแต่วันฟ้อง โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดจำนวน 100,000 บาท ไม่รวมดอกเบี้ยและจำนวน 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปีในต้นเงิน 55,700 บาท ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดจำนวน 91,377.30บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 85,300 บาท นับแต่วันฟ้อง และให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดจำนวน 112,594.93 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 105,300 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินจำนวน 216,792.05 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14ต่อปี ในต้นเงิน 55,700 บาท และอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน134,900 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดเป็นจำนวนเงินจำนวน 190,600 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปีในต้นเงิน 55,700 บาท และให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ร่วมรับผิดเป็นจำนวนเงิน 91,377.30 บาท และ 112,594.93บาท ตามลำดับ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน85,300 บาท และ 105,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ฎีกาในข้อที่ 2 ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยในประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 2 ค้ำประกันหรือไม่และจะต้องรับผิดเพียงใด โดยอ้างว่า คำให้การจำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้มาเป็นการนอกประเด็นนั้นจำเลยที่ 2 ไม่เห็นพ้องด้วยเพราะคำให้การจำเลยที่ 2 ได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธไว้ชัดแจ้งแล้วจึงมีประเด็นที่ศาลอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัยตามประเด็นดังกล่าวเห็นว่า จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยที่ 2 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันให้ไว้แก่โจทก์ตามฟ้อง สัญญาค้ำประกันตามเอกสารท้ายฟ้องเป็นเอกสารปลอม และไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไร หากจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์แล้วก็จะต้องรับผิดไม่เกิน 150,000 บาท คำให้การจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารท้ายฟ้องหรือไม่ และจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาทั้งสองฉบับเพียงใด คำให้การจำเลยที่ 2 หาได้ขัดกันหรือไม่อาจเป็นไปได้ทั้งสองประการในคราวเดียวกัน ดังที่ศาลอุทธรณ์อ้างไม่เพราะข้อต่อสู้ตอนต้นเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริง ส่วนข้อต่อสู้ตอนหลังเป็นเรื่องปัญหาข้อกฎหมาย การแปลข้อสัญญาว่าจำเลยที่ 2จะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใดการที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยในประเด็นข้อนี้ให้ไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก เห็นว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันจริง จำเลยที่ 2 ให้การไว้เพียงว่า ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันไว้แก่โจทก์ตามฟ้อง สัญญาค้ำประกันตามเอกสารท้ายฟ้องเป็นเอกสารปลอม ไม่ได้ให้การในรายละเอียดเจาะจงว่าลายมือชื่อผู้ค้ำประกันในเอกสารดังกล่าวไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธินำสืบว่าลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันไม่ใช่ของจำเลยที่ 2 ข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นเรื่องนอกคำให้การจึงรับฟังไม่ได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญาทั้งสองฉบับ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อต่อไปมีว่า ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารหนังสือเดินทางของนางบุปผา กิตติเจริญพจน์ จากกระทรวงการต่างประเทศ นั้นชอบด้วยกฏหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามคำคัดค้านของจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 2 สิงหาคม 2532 นั้น จำเลยที่ 2 ประสงค์จะอ้างเอกสารดังกล่าวเพื่อพิสูจน์ว่าการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 3 ไม่ชอบ เพราะจำเลยที่ 3 ไม่ได้อยู่ในราชอาณาจักรขณะที่มีการนำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งแก่จำเลยที่ 3 มิใช่เอกสารเกี่ยวกับประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเอกสารที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี ศาลชั้นต้นมีอำนาจงดสืบพยานหลักฐานดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสองคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว เป็นการสั่งงดสืบพยานหลักฐานที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีนั้นเอง จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อสุดท้ายที่ว่า ให้ถือเอาคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เป็นคำฟ้องฎีกาของจำเลยที่ 2 ด้วยนั้น ถือเป็นคำฟ้องฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง เป็นฎีกาที่ไม่ชอบ จึงไม่มีประเด็นที่จะจะต้องวินิจฉัยอีก
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share