คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5493/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่มีบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง บทใด บังคับว่าหากโจทก์ไม่นำยึดหรือผู้ที่นำยึดมิใช่ผู้แทนโจทก์แล้ว จะทำให้การยึดนั้นเป็นอันเสียไป

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3ต่อมาโจทก์ได้ขอหมายบังคับคดีจำเลยที่ 1 และที่ 2 และวันที่16 สิงหาคม 2531 นายอุดมผู้แทนโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ไว้เพื่อนำออกขายทอดตลาด
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า โจทก์จดทะเบียนเลิกบริษัทและตั้งนายมานิตเป็นผู้ชำระบัญชีตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2528กรรมการโจทก์ย่อมไม่มีอำนาจมอบให้บุคคลใดกระทำการแทนหนังสือมอบอำนาจให้นายอุดม เป็นผู้แทนโจทก์ในการยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ไม่ชอบ นายอุดมไม่มีอำนาจนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์
โจทก์คัดค้านว่า นายมานิตผู้ชำระบัญชีถึงแก่กรรมตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2528 โจทก์ยังมิได้ตั้งผู้ชำระบัญชีคนใหม่ก่อนเลิกบริษัทโจทก์มีนายประวัติและนายมานิตเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ เมื่อนายมานิตถึงแก่กรรม นายประวัติย่อมเป็นผู้ชำระบัญชีโดยตำแหน่ง นายประวัติมอบอำนาจให้นายอนุกรและนายอดุลย์ และมีการมอบอำนาจต่อไปให้นายอุดม นายอุดมจึงมีอำนาจนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่16 สิงหาคม 2531 เป็นการยึดที่มิชอบด้วยกฎหมาย อันจะทำให้ศาลต้องมีคำสั่งเพิกถอนการยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่าการที่นายอนุกรและนายอดุลย์มอบอำนาจให้นายอุดมเป็นผู้แทนโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 นั้น หาได้ทำให้การยึดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องเสียไปแต่อย่างใดไม่ทั้งนี้เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 278บัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดีไว้ว่า นับแต่วันที่ได้ส่งหมายบังคับคดีให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจที่จะยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ได้ และการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานี้ไม่มีบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบทใดบังคับว่า หากโจทก์ไม่นำยึดหรือผู้ที่นำยึดมิใช่ผู้แทนโจทก์แล้ว จะทำให้การยึดนั้นเป็นอันเสียไป การยึดทรัพย์รายนี้จึงเป็นการยึดที่ชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษายืน

Share