คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 748/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สิทธิของกรมศุลกากรโจทก์ที่จะเรียกเงินอากรที่ขาดเนื่องจาก การหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 10 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 จะนำอายุความสิบปีและ การนับอายุความโดยเริ่มนับจากวันที่นำของเข้ามาใช้บังคับหาได้ไม่ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167 เดิม และนับเริ่มแต่ขณะที่จะอาจบังคับสิทธิเรียกร้อง ได้เป็นต้นไป ตามมาตรา 169 เดิม เมื่อโจทก์ตรวจพบว่าราคาสินค้า ที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าต่ำกว่าราคาที่ตรวจสอบได้จากเอกสารที่ยึดมาจากจำเลยเมื่อปี 2518 แล้วเจ้าหน้าที่กองประเมินอากรของโจทก์ที่ 1 ได้ทำการประเมินเรียกเก็บภาษีอากรเพิ่มในส่วนที่ขาดที่ตรวจพบจากจำเลยและได้แจ้ง การประเมินให้จำเลยทราบแล้ว จึงเป็นกรณีที่โจทก์จะอาจบังคับ สิทธิเรียกร้องค่าภาษีอากรเพิ่มในส่วนที่ขาดจนครบถ้วนได้ นับแต่วันที่ตรวจพบซึ่งนับจากต้นปี 2518 ที่โจทก์ตรวจพบ การหลีกเลี่ยงภาษีอากรถึงวันฟ้องยังไม่เกินสิบปีจึงยัง ไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เมื่อระหว่างเดือนมกราคม 2515 ถึงเดือนมกราคม 2518 จำเลยได้นำสินค้าหลายชนิด จากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร เมื่อสินค้าต่าง ๆ ถูกนำเข้าถึงด่านศุลกากรท่าเรือกรุงเทพมหานครแล้ว จำเลยได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1ณ ด่านศุลกากรท่าเรือกรุงเทพมหานคร จำนวน 41 ฉบับ เพื่อชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล ในการนำสินค้าออกไปจากอารักขาของศุลกากรแต่จำเลยได้สำแดงราคาสินค้าที่นำเข้ามาตามใบขนสินค้าขาเข้าแต่ละฉบับดังกล่าวต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันจริง อันเป็นการสำแดงราคาสินค้าเป็นเท็จ หลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรให้เสียต่ำกว่าจำนวนที่จะต้องชำระจริง เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลโดยคิดราคาสินค้าที่จำเลยแสดงไว้ในใบขนสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าจำนวน 41 ฉบับให้จำเลยนำออกไปจากอารักขาของศุลกากรแล้วต่อมาเมื่อปี 2518 โจทก์ที่ 1 ได้ตรวจพบว่าสินค้าที่จำเลยนำเข้ามาตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 41 ฉบับ มีราคาอันแท้จริงในวันนำเข้าสูงกว่าราคาที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าดังกล่าวเจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 จึงได้ทำการประเมินเรียกเก็บภาษีอากรให้จำเลยชำระเพิ่มโดยคิดค่าอากรตามราคาอันแท้จริง ปรากฏว่าจำเลยจะต้องชำระเงินภาษีอากรเพิ่มเติมในส่วนที่ขาดอยู่สำหรับสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 41 ฉบับ โดยแยกเป็นอากรขาเข้ารวม468,732.69 บาท ภาษีการค้ารวม 127,018.55 บาทภาษีบำรุงเทศบาลรวม 12,701.82 บาทรวมเป็นค่าภาษีอากรที่จำเลยจะต้องชำระเพิ่มเติมทั้งสิ้น 608,453.06 บาทเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1 ได้แจ้งผลการประเมินให้จำเลยทราบและให้นำเงินภาษีอากรจำนวนดังกล่าวมาชำระแก่โจทก์ที่ 1จำเลยได้รับแจ้งการประเมินแล้ว ไม่ชำระภาษีอากรเพิ่มเติมให้ครบถ้วนภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมินจำเลยต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของอากรและภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 และประมวลรัษฎากร นับแต่วันที่จำเลยนำสินค้าดังกล่าวออกจากด่านศุลกากรไปคำนวณถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2527 เป็นเงินเพิ่มค่าอากรขาเข้า 492,741.28 บาท เงินเพิ่มค่าภาษีการค้า 127,018.55บาท เงินเพิ่มค่าภาษีบำรุงเทศบาล 12,701.82 บาทรวมเป็นเงินค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มที่จำเลยจะต้องชำระทั้งสิ้น 1,240,914.71บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระภาษีอากรและเงินเพิ่มรวมทั้งสิ้น1,240,914.71 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง และให้ชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ในต้นเงินภาษีอากรขาเข้าที่ขาดอยู่สำหรับอากรขาเข้า 468,732.69 บาท ภาษีการค้า 127,018.55 บาทภาษีบำรุงเทศบาล 12,701.82 บาท นับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2537จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกร้องอากรขาเข้าและเงินภาษีจากจำเลยตามใบขนสินค้าขาเข้าทุกฉบับ คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ทั้งสอง457,446.07 บาท พร้อมด้วยเงินเพิ่มร้อยละ 1 ต่อเดือนจากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2520 จนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรส่วนที่ขาดเฉพาะที่เกิดจากใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 12276 ลงวันที่8 กรกฎาคม 2517 และเลขที่ 12275 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2517แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมทั้งเงินเพิ่มร้อยละ 1 ต่อเดือน จากเงินที่ต้องรับผิดตามใบขนสินค้าขาเข้าดังกล่าว นับแต่วันที่ 9 และ 10กรกฎาคม 2517 ตามลำดับ จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2517 เจ้าหน้าที่ฝ่ายประมวลหลักฐานและตรวจสอบของโจทก์ที่ 1 ร่วมกับเจ้าพนักงานตำรวจได้ทำการตรวจค้นบริษัทของจำเลย เนื่องจากมีเหตุสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับการหลีกเลี่ยงกฎหมายศุลกากรและได้ยึดเอกสารจำนวนหนึ่งมาทำการตรวจสอบ จากการตรวจสอบเอกสารดังกล่าวกับใบขนสินค้าขาเข้าจำนวน 41 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.4ที่จำเลยนำเข้าระหว่างปี 2515 ถึง 2517 พบว่าราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าต่ำกว่าราคาที่ตรวจสอบได้จากเอกสารที่ยึดมา อันเป็นการที่จำเลยสำแดงราคาสินค้าเพื่อหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรโดยเสียค่าภาษีอากรไว้ไม่ครบถ้วนตามจำนวนที่จะต้องเสียจริง ซึ่งตรวจพบดังกล่าวเมื่อปี 2518 แต่ทางพิจารณาชั้นศาลปรากฏว่าใบขนสินค้าขาเข้าที่จำเลยสำแดงราคาสินค้าเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอากรดังกล่าวมีเพียงจำนวน 36 ฉบับเท่านั้นส่วนอีก5 ฉบับ คือ ตามใบขนสินค้าขาเข้าเอกสารหมาย จ.4 อันดับหมายเลขที่10, 22, 29, 34 และ 50 ไม่ใช่เป็นใบขนสินค้าขาเข้าที่จำเลยสำแดงราคาสินค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใดโจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกเก็บภาษีอากรส่วนที่ขาดจนครบจากจำเลยได้เพียงตามใบขนสินค้าขาเข้าจำนวน 36 ฉบับเท่านั้น เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1 ได้ทำการประเมินเรียกเก็บภาษีอากรเพิ่มในส่วนที่ขาดตามที่ตรวจพบจากจำเลยและได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบตามเอกสารหมาย จ.10 แล้วแต่จำเลยไม่ได้นำค่าภาษีอากรส่วนที่ขาดไปชำระให้โจทก์ คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์เพียงประเด็นเดียวว่า คดีโจทก์เกี่ยวกับการให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรเพิ่มในส่วนที่ขาดจนครบตามใบขนสินค้าขาเข้าจำนวน 36 ฉบับดังกล่าวนอกจากใบขนสินค้าขาเข้าฉบับเลขที่ 12275 และ 12276 ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ฎีกาโต้เถียงอ้างเหตุว่า ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความหลายประการ เห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาโจทก์ที่โต้เถียงว่าสิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องเรียกค่าภาษีอากรที่จำเลยหลีกเลี่ยงไม่ขาดอายุความเพราะไม่อยู่ในบังคับของอายุความตามมาตรา 10 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 เสียก่อน เห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร สิทธิของโจทก์ที่ 1 ที่จะเรียกเงินอากรที่ขาดจึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 10 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 ดังนั้น จะนำอายุความสิบปีและการนับอายุความโดยเริ่มนับจากวันที่นำของเข้าตามมาตราดังกล่าวมาใช้บังคับหาได้ไม่ จึงต้องใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 167 เดิม(มาตรา 193/31 ที่แก้ไขใหม่) ที่บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องของรัฐบาลเพื่อเอาค่าภาษีอากร ท่านให้มีกำหนดอายุความสิบปี”และการนับอายุความก็ต้องให้นับเริ่มแต่ขณะที่จะอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 เดิม(มาตรา 193/12 ที่แก้ไขใหม่) โจทก์ตรวจพบว่าราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าต่ำกว่าราคาที่ตรวจสอบได้จากเอกสารที่ยึดมาจากจำเลยเมื่อปี 2518 แล้วเจ้าหน้าที่กองประเมินอากรของโจทก์ที่ 1ได้ทำการประเมินเรียกเก็บภาษีอากรเพิ่มในส่วนที่ขาดตามที่ตรวจพบจากจำเลยและได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบตามเอกสารหมาย จ.10 แล้ว จึงเป็นกรณีที่โจทก์จะอาจบังคับสิทธิเรียกร้องค่าภาษีอากรเพิ่มในส่วนที่ขาดจนครบถ้วนได้ นับแต่วันที่ตรวจพบซึ่งนับจากต้นปี 2518 ที่โจทก์ตรวจพบการหลีกเลี่ยงภาษีอากรถึงวันฟ้องคดีเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2527 ยังไม่เกินสิบปี คดีโจทก์เกี่ยวกับให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรเพิ่มในส่วนที่ขาดจนครบตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 36 ฉบับ จึงยังไม่ขาดอายุความ”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรส่วนที่ขาดตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ประเมินเพิ่มขึ้น ตามใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้าทั้ง 36 ฉบับที่ระบุในคำพิพากษาศาลฎีกาให้แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมทั้งเงินเพิ่มร้อยละ 1 ต่อเดือน จากเงินที่ต้องรับผิดชอบ ตามใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้าทั้ง 36 ฉบับดังกล่าวข้างต้น นับแต่วันที่ตรวจปล่อยตามใบขนฯ แต่ละฉบับดังกล่าวเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่เฉพาะเงินเพิ่มภาษีการค้ามิให้เกินกว่าจำนวนภาษีการค้าที่ต้องชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับ

Share