คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4575/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายนั้น สิทธิในการรับเงินทดแทนตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่ตกทอดแก่ทายาท ส. ถึงแก่ความตายในวันที่ 2 กรกฎาคม 2533ซึ่งขณะนั้น ส. ยังไม่ได้รับเงินทดแทน สิทธิเรียกร้องในการรับเงินทดแทนของ ส. ย่อมยุติลงในวันที่ 2 กรกฎาคม2533 ทายาทของ ส. หรือผู้ใดจะไปเรียกร้องเงินทดแทนส่วนของ ส. อีกไม่ได้ พนักงานเงินทดแทนมีคำสั่งยกคำร้องของ ส. ที่เรียกร้องเงินทดแทนก่อน ส. ตาย ย่อมทำให้สิทธิในการอุทธรณ์คำสั่งต่อจำเลยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ข้อ 60ระงับสิ้นไปด้วย ซึ่งมีผลเท่ากับคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิจะได้รับเงินทดแทนของ ส.ถึงที่สุดนั่นเอง หาใช่สิทธินั้นยังคงมีอยู่ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายสุพจน์ รูปหล่อ ลูกจ้างของโจทก์ได้ถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตายในสถานที่ทำงานด้วยสาเหตุส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ไม่ใช่ถึงแก่ความตายเพราะการปฏิบัติหน้าที่การงานหรืออันเนื่องมาจากการทำงานหรือเพื่อป้องกันรักษาผลประโยชน์ให้แก่โจทก์ หลังจากนายสุพจน์ถึงแก่ความตาย นายสุพรรณและนางแดง รูปหล่อ บิดามารดาของลูกจ้างได้แจ้งต่อพนักงานเงินทดแทน สำนักงานกองทุนเงินทดแทนด้วยวาจา เรียกร้องเงินทดแทน พนักงานเงินทดแทนเห็นว่าการประสบอันตรายของลูกจ้างไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับหน้าที่การงานในความรับผิดชอบ และมิใช่เกิดจากการป้องกันรักษาผลประโยชน์ให้แก่นายจ้างจึงมีคำสั่งยกคำร้อง นางแดงอุทธรณ์ต่อจำเลยต่อมาจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินทดแทนแก่ผู้มีสิทธิ คือนายสุพรรณ และนางแดง เป็นรายเดือน เดือนละ 1,560 บาทมีกำหนด 5 ปี โดยให้ผู้มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งคนละเท่า ๆ กันเป็นเงินคนละ 780 บาท แต่เนื่องจากนายสุพรรณได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2533 จึงให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนครั้งเดียวแก่ นายสุพรรณ เป็นเงิน 6,240 บาท ส่วนนางแดงให้จ่ายค่าทดแทนครั้งแรกตั้งแต่เดือนที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายจนถึงเดือนที่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งรวมกัน ส่วนครั้งต่อ ๆ ไปให้จ่ายทุกวันที่ 19ของแต่ละเดือน จนกว่าจะครบตามข้อ 50 และข้อ 54(4)แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานและให้จ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างเป็นเงิน 7,800 บาทตามข้อ 52 วรรคสาม แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน คำสั่งของจำเลยดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและจำเลยไม่มีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินทดแทนคำส่งของพนักงานเงินทดแทนในส่วนที่เกี่ยวกับนายสุพรรณจึงถึงที่สุดนอกจากนี้การแจ้งขอรับเงินทดแทนของนายสุพรรณและนางแดงต่อพนักงานเงินทดแทนเป็นการแจ้งด้วยวาจา ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและวิธีการที่กำหนดไว้ ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยและคำสั่งของจำเลยที่ 41/25345 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2535เรื่อง อุทธรณ์คำสั่งพนักงานเงินทดแทน
จำเลยให้การว่า นางแดงมีสิทธิยื่นอุทธรณ์แทนได้แม้นางแดงจะมิได้ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนต่อพนักงานเงินทดแทนพนักงานเงินทดแทนและจำเลยก็มีอำนาจสั่งจ่ายเงินทดแทนแก่นายสุพรรณและนางแดงซึ่งเป็นทายาทตามกฎหมายได้ ทั้งนายสุพรรณและนางแดงได้ยื่นคำร้องตามแบบที่เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมกำหนดถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการทุกประการนายสุพรรณ์ลูกจ้างของโจทก์ประสบอันตรายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103ข้อ 2(6) คำสั่งของจำเลยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมที่ 41/2535 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2535เฉพาะที่ให้จ่ายเงินทดแทนแก่นายสุพรรณ รูปหล่อ เท่านั้นคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่าการประสบอันตรายจนถึงแก่ความของนายสุพจน์ รูปหล่อ เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน จึงต้องถือว่าทายาทของลูกจ้างผู้ตายมีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามที่กำหนดไว้ในข้อ 50 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 สิทธิในการรับเงินทดแทนของทายาทของลูกจ้างผู้ตายดังกล่าวย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ลูกจ้างประสบอันตรายจนถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานและสิทธินั้นจะสิ้นสุดเมื่อผู้นั้นถึงแก่ความตาย เมื่อสิทธิดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว แม้นายสุพรรณจะมิได้อุทธรณ์ ก็ต้องถือว่านายสุพรรณมีสิทธิได้รับเงินทดแทน การที่คำสั่งเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมที่ 41/2535 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2535 ซึ่งวินิจฉัยให้โจทก์มีหน้าที่จ่ายเงินทดแทนให้นายสุพรรณจำนวน 6,240 บาทจึงชอบด้วยกฎหมาย พิเคราะห์แล้วเห็นว่ากรณีลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายนั้น ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฉบับลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 50 วรรคแรก บัญญัติให้บิดามารดา สามีหรือภรรยามีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเงินทดแทนจากนายจ้างและในวรรคสามบัญญัติว่า ถ้าผู้ได้รับส่วนแบ่งผู้ใดตาย ให้ส่วนแบ่งของบุคคลดังกล่าวเป็นอันยุติ แสดงให้เห็นว่าสิทธิในการรับเงินทดแทนตามประกาศดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่ตกทอดแก่ทายาทเมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่านายสุพรรณถึงแก่ความตายในวันที่ 2 กรกฎาคม 2533 ซึ่งขณะนั้นนายสุพรรณยังไม่ได้รับเงินทดแทน สิทธิเรียกร้องในการรับเงินทดแทนของนายสุพรรณย่อมยุติลงในวันที่ 2 กรกฎาคม 2533 ทายาทของนายสุพรรณหรือผู้ใดจะไปเรียกร้องเงินทดแทนส่วนของนายสุพรรณ์ไม่ได้พนักงานเงินทดแทนมีคำสั่งยกคำร้องของนายสุพรรณที่เรียกร้องเงินทดแทนก่อนนายสุพรรณตาย ย่อมทำให้สิทธิในการอุทธรณ์คำสั่งต่อจำเลยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ข้อ 60 ระงับสิ้นไปด้วย ซึ่งมีผลเท่ากับคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิจะได้รับเงินทดแทนของนายสุพรรณถึงที่สุดนั่นเองหาใช่สิทธินั้นยังคงมีอยู่ดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่
พิพากษายืน

Share