คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2777/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่ดินของโจทก์จำเลยมีเขตติดต่อกัน ที่ดินของจำเลยเป็นที่ดินโฉนดแบบเก่า ทำการปูโฉนดสอบเขตไม่ได้ขณะจำเลยให้การ จำเลยจึงยังอาจไม่ทราบแน่ชัดว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์หรือของจำเลยดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทและจำเลยให้การว่าคันคูดินอยู่ในเขตที่ดินของจำเลยหากที่ดินบริเวณคันคูดินอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ที่ดินบริเวณดังกล่าวก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์นั้น นับว่ามีเหตุผลที่จำเลยจะให้การเช่นนั้นได้ ยังถือไม่ได้ว่าคำให้การของจำเลยขัดกันไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 7053ด้านทิศเหนือติดกับที่ดินของจำเลยโฉนดเลขที่ 7051เมื่อปลายปี 2514 จำเลยได้จ้างให้บุคคลอื่นขุดคูน้ำในที่ดินของจำเลยทางด้านทิศใต้กว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ2 เส้น แล้วทิ้งดินที่ขุดบุกรุกเข้ามาในเขตที่ดินของโจทก์ถมเป็นคันคูแนวเขต โจทก์ได้ห้ามปรามจำเลย ในที่สุดตกลงกันว่าต่างจะไปยื่นเรื่องราวต่อสำนักงานที่ดิน ให้ทำการรังวัดสอบเขตที่ดินปักเขตกันให้แน่นอน เจ้าพนักงานได้ทำการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์แล้ว ปรากฏว่าจำเลยถมดินบุกรุกเข้ามาในที่ดินโจทก์เนื้อที่ประมาณ 10 ตารางวา แต่เมื่อเจ้าพนักงานจะลงหลักหินแนวเขตที่ดินโจทก์ ฝ่ายจำเลยกลับคัดค้านขอให้ทำการรังวัดสอบเขตที่ดินของจำเลยก่อน แต่จนถึงวันฟ้องจำเลยก็มิได้ดำเนินการรังวัดสอบเขตที่ดินของจำเลย ทั้งยังปลูกต้นไม้ลงบนคันดินในเขตที่ดินของโจทก์ซึ่งได้ห้ามปรามแล้ว เป็นการแสดงเจตนาจงใจบุกรุกเพื่อยึดถือการครอบครองที่ดินของโจทก์ต่อมาระหว่างวันที่ 19 ถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2523 จำเลยได้จ้างให้บุคคลอื่นทำการขุดคูน้ำในที่ดินของจำเลยทางด้านทิศใต้ต่อจากที่ขุดไว้เมื่อปลายปี 2514 แล้วทิ้งดินถมเป็นคันคูบุกรุกเข้ามาในที่ดินของโจทก์อีกคิดเป็นเนื้อที่ 8 ตารางวา โจทก์ห้ามปรามแล้วจำเลยไม่เชื่อฟัง อ้างว่าเป็นที่ดินของจำเลย ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินโจทก์โฉนดเลขที่ 7053 เฉพาะส่วนที่จำเลยบุกรุกตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องในกรอบสีแดงเนื้อที่18 ตารางวา ห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในปี 2523 เป็นเงินปีละ 1,000 บาท และปีต่อ ๆ ไปเป็นเงินปีละ 1,000 บาท จนกว่าจะออกจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ปลายปี 2514จำเลยไม่ได้จ้างบุคคลอื่นใดขุดคูน้ำในที่ดินของจำเลยบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์เลยสำหรับคันคูดินที่อยู่ด้านติดเขตที่ดินของโจทก์เป็นคันคูดินที่อยู่ในเขตที่ดินของจำเลย มีมานาน 16-17 ปีแล้วคันคูดินนี้อยู่ห่างจากแนวเขตที่ดินโจทก์จำเลยซึ่งถือเอาแนวต้นจามจุรีเป็นแนวเขต ต้นจามจุรีมารดาโจทก์เป็นผู้ปลูกไว้เมื่อครั้งมีชีวิตอยู่ซึ่งเป็นเวลานานหลายสิบปีมาแล้ว จำเลยได้ยึดถือเอาแนวตามต้นจามจุรีเป็นแนวเขตที่ดินเรื่อยมาหากที่ดินบริเวณคันคูดินอยู่ในที่ดินของโจทก์ ที่ดินบริเวณดังกล่าวก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแล้วโดยจำเลยครอบครองที่ดินดังกล่าวมาโดยสงบ เปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี วันที่ 19 ถึง 26 กุมภาพันธ์ 2523 จำเลยไม่ได้ขุดดินหรือทิ้งดินบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ แต่จำเลยขุดในที่ดินของจำเลย และทิ้งดินไว้บนคันดินในแนวเขตกรรมสิทธิ์ของจำเลยหรือหากเกินเข้าไปในที่ดินของโจทก์ก็เป็นการเกินเข้าไปในส่วนที่จำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย โจทก์เรียกค่าเสียหายไม่ได้เนื่องจากที่ดินดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว แต่กลับตรงกันข้าม โจทก์ก็ปลูกต้นไม้ปล่อยให้กิ่งไม้และต้นไม้รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลย โดยต้นจามจุรีที่มารดาโจทก์ปลูกไว้ในการแสดงแนวเขตแผ่กิ่งก้านเข้าไปในที่ดินจำเลยโฉนดเลขที่ 7051 เป็นแนวยาว 25 เมตร ลึกเข้าไปในที่ดินจำเลย4 เมตร ทำให้ไม่สามารถปลูกต้นไม้ในที่ดินของจำเลยได้ขอให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายปี 2522 เป็นเงิน 1,000 บาทกับปีต่อไปอีกปีละ 1,000 บาท จนกว่าโจทก์จะจัดการให้ต้นไม้ของโจทก์พ้นไปจากการรบกวนการใช้ประโยชน์ของที่ดินจำเลยโฉนดเลขที่ 7051 หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจนนาของโจทก์ ตัดฟันต้นไม้ดังกล่าวด้วยค่าใช้จ่ายของโจทก์ทั้งสิ้น ให้จัดการแบ่งแยกที่ดินส่วนที่จำเลยครอบครองปรปักษ์ในที่ดินโจทก์โฉนดเลขที่ 7053 เนื้อที่ 18 ตารางวาให้แก่จำเลยหากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแบ่งแยกที่ดินของโจทก์ให้จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยเพิ่งขุดคูน้ำทิ้งดินถมเป็นคันคูบุกรุกเข้ามาในที่ดินโจทก์ ปี 2514 และ 2523 ตามฟ้อง ซึ่งเมื่อจำเลยขุดคูน้ำทิ้งดินทำเป็นคันคู โจทก์ก็ได้โต้แย้งสิทธิและคัดค้านตลอดมาการที่จำเลยบุกรุกเข้าครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์จึงมิใช่เป็นการครอบครองโดยสงบ ทั้งการครอบครองของจำเลยตามฟ้องแย้งก็ยังไม่ถึง 10 ปี จำเลยจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ต้นจามจุรีที่โจทก์ปลูกไว้มิได้ปลูกตามแนวเขตตามฟ้องแย้ง แต่โจทก์ปลูกไว้ในเขตที่ดินของโจทก์ห่างจากแนวเขตที่ดินโจทก์ จำเลยจะมาถือเอาต้นจามจุรีเป็นแนวเขตมิได้เมื่อโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดสอบเขตที่ดินโจทก์เจ้าพนักงานก็ได้รังวัดสอบเขตและปักหลักไม้ไว้และเห็นได้ชัดว่าจำเลยบุกรุกที่ดินโจทก์ ส่วนที่จำเลยว่าโจทก์ปลูกต้นจามจุรีปล่อยทิ้งกิ่งก้านสาขาบุกรุกที่ดินจำเลยโฉนดเลขที่ 7051 นั้นไม่เป็นความจริง เพราะโจทก์ตัดทอนกิ่งก้านของต้นจามจุรีตลอดมามิได้ปกคลุมที่ดินของจำเลยที่ดินจำเลยโฉนดเลขที่ 7051 ก็ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใด ๆ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
คู่ความตกลงทำแผนที่วิวาทตามแผนที่สารบาญ อันดับ 32ซึ่งคู่ความรับรองแล้ว ปรากฏว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 33 ตารางวา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 7053 ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมืองสุพรรณบุรีจังหวัดสุพรรณบุรี ตามแผนที่วิวาทท้ายฟ้องภายใต้เส้นสีแดงเนื้อที่ประมาณ 18 ตารางวา และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายปีละ500 บาท ตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นไปจนกว่าจะออกไปจากที่ดินของโจทก์ ให้ยกฟ้องแย้งจำเลย จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทนอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 7053ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรีตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 ที่ดินของโจทก์ด้านทิศเหนือติดต่อกับที่ดินของจำเลยโฉนดเลขที่ 7051 ตำบลท่าพี่เลี้ยงอำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.11 สำหรับที่ดินพิพาทในคดีนี้คือ บริเวณที่ระบุว่าเป็นเขตที่พิพาทกันในแผนที่สารบาญอันดับ 32 ในสำนวนส่วนแผนที่วิวาทตามสารบัญอันดับที่ 22 ในสำนวนนั้นโจทก์จำเลยไม่ยอมรับและได้ขอให้จัดทำขึ้นใหม่เป็นแผนที่วิวาทสารบัญอันดับ 32ที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าคำให้การของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือของจำเลย และค่าเสียหายของโจทก์หรือของจำเลยมีเพียงใด ในปัญหาแรกที่ว่าคำให้การของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ประเด็นดังกล่าวนี้แม้ศาลอุทธรณ์จะไม่วินิจฉัยให้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามประเด็นข้อนี้เสียเองโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่เห็นว่า ที่ดินของโจทก์จำเลยมีเขตติดต่อกันปรากฏตามคำเบิกความของนายสุรัตน์ แสงวิเวก เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดิน จังหวัดสุพรรณบุรีผู้รังวัดที่ดินของโจทก์จำเลยเพื่อทำแผนที่วิวาทที่ดินของจำเลยเป็นที่ดินโฉนดแบบเก่า ทำการปูโฉนดสอบเขตไม่ได้แสดงว่าขณะจำเลยให้การนั้น จำเลยก็ยังอาจไม่ทราบแน่ชัดว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์หรือของจำเลย ดังนั้นการที่จำเลยให้การว่าคันคูดินอยู่ในเขตที่ดินของจำเลย หากที่ดินบริเวณคันคูดินอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ ที่ดินบริเวณดังกล่าวก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์นั้น นับว่ามีเหตุผลที่จำเลยจะให้การเช่นนั้นได้ ยังถือไม่ได้ว่าคำให้การของจำเลยขัดกันไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง”
พิพากษายืน

Share