แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ตรวจพบว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าถูกทำการแก้ไขให้แสดงค่าหน่วยน้อยกว่าที่มีการใช้ไฟฟ้าจริงเป็นเหตุให้จำเลยในฐานะผู้ใช้ไฟฟ้าชำระเงินค่าไฟฟ้าแก่โจทก์น้อยไปกว่าที่เป็นจริงทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2525ถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2528 จำเลยชำระเงิน ค่าไฟฟ้าให้โจทก์ไม่ถูกต้องโดยชำระเพียง 74,104.64 บาท หากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าแสดงค่าหน่วยไฟฟ้าถูกต้อง จำเลยจะต้องชำระค่าไฟฟ้าให้โจทก์ในช่วงดังกล่าวเป็นเงิน 203,178.10 บาท จำเลยได้รับประโยชน์จากการใช้ไฟฟ้า ที่เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าถูกทำการแก้ไขให้แสดงหน่วยไฟฟ้า น้อยกว่าที่เป็นจริง จึงต้องรับผิดชำระเงินค่าไฟฟ้าเพิ่ม ย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2525 ถึงวันที่ 6 สิงหาคม2528 แก่โจทก์คิดเป็นเงิน 129,073.46 บาท คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายถึงสภาพแห่งข้อหารวมทั้งรายละเอียดและคำขอบังคับโดยชัดแจ้งพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดีแล้วโจทก์หาจำต้องบรรยายว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าถูกแก้ไขอย่างไรใครเป็นผู้แก้และแก้เมื่อใด รวมทั้งการอ้างสิทธิ ที่ จะ เรียกเก็บค่าไฟฟ้าเพิ่มย้อนหลัง และการคิดค่าไฟฟ้า โดยอาศัยหลักเกณฑ์ใด เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์ฟ้องเรียกค่าไฟฟ้าที่จำเลยใช้ตามที่ได้ใช้ไปจริงและจำเลยชำระขาดไป จึงเป็นการฟ้องจำเลยให้ชำระค่าไฟฟ้าที่ยังขาดอยู่ตามสัญญามิใช่ฟ้องเรียกค่าเสียหาย จาก การ ทำละเมิดอันมีอายุความ 1 ปี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าของโจทก์ที่โจทก์จำหน่ายผ่านเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่ ม/43-10529 ซึ่งติดตั้งอยู่ที่บริษัทจำเลยเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2528 โจทก์ตรวจพบว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า ซึ่งใช้สำหรับวัดจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่จำเลยใช้ไปได้ถูกแก้ไขให้แสดงค่าหน่วยน้อยกว่าที่มีการใช้ไฟฟ้าไปจริง เป็นเหตุให้จำเลยในฐานะผู้ใช้ไฟฟ้าชำระเงินค่าไฟฟ้าให้โจทก์น้อยไปกว่าที่แท้จริง ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2525 ถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2528 จำเลยชำระเงินค่าไฟฟ้าให้โจทก์ไม่ถูกต้องโดยชำระเพียง 74,104.64 บาท หากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าแสดงหน่วยไฟฟ้าถูกต้องจำเลยจะต้องชำระเงินค่าไฟฟ้าเพิ่มย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2525 ถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2528 เป็นเงิน 129,073.46 บาท และจำเลยยังค้างชำระเงินค่าไฟฟ้าประจำเดือนโจทก์อีก ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2529 ถึงวันถอดเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้ากลับวันที่ 28 มีนาคม 2529 เป็นจำนวนเงิน 1,724.15 บาท โจทก์ได้ติดต่อให้จำเลย ชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงได้โอนหักพันธบัตรค้ำประกันเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้านี้ จำนวน 10,000 บาท เพื่อชำระหนี้ค่าไฟฟ้าที่ค้างชำระบางส่วน จำเลยยังคงเป็นหนี้โจทก์จำนวน 120,797.61 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยแล้ว จำเลยเพิกเฉย เมื่อคิดถึงวันฟ้องจำเลยค้างชำระดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวเป็นเงิน 5,535.18 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นจำนวน 126,332.79 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์ได้ติดตั้งเครื่องวัดไฟฟ้าเลขที่ ม/43-10529 ที่บ้านเลขที่ 40หมู่ที่ 8 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตบางเขนกรุงเทพมหานคร ตามคำขอใช้ไฟฟ้าของนางกฤษณา ศุภโกวิทโดยมีนางเพ็ญศรี เริงประเสริญวิทย์ กรรมการบริษัทจำเลยวางพันธบัตรรัฐบาลจำนวน 10,000 บาท ของนางเพ็ญศรีเป็นประกันเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าดังกล่าว วันที่ 1 กรกฎาคม 2528 โจทก์ตรวจพบว่าตราตะกั่วที่รวบรัดตัวเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าดังกล่าวหายไป 3 ด้านโจทก์จึงนำเอาเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้ามาตรฐานของโจทก์ไปติดตั้งตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าที่ถูกต้องกับเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2528 ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2528 ปรากฏว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าดังกล่าวหมุนช้าลงไป 77.97 เปอร์เซนต์ วันที่ 21สิงหาคม 2528 โจทก์ได้ไปทำการเปิดเครื่องวัดหน่วยกระแสไฟฟ้าดังกล่าวพบว่าภายในเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า มีผลตะไบเหล็กที่ขั้วแม่เหล็กและจานเครื่องวัดมีร่องรอยขูด ทำให้จานเครื่องวัดฝืด หมุนช้าลง โจทก์คิดคำนวณค่าเสียหายจากการกระทำดังกล่าวเป็นเงิน 4,000 บาท ตามอัตราค่าธรรมเนียมการใช้กระแสไฟฟ้า โจทก์ทวงถาม จำเลยได้ชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ 4,000 บาท จากการตรวจสอบการใช้กระแสไฟฟ้าของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าเดือนสิงหาคม 2525 จำเลยใช้กระแสไฟฟ้าเดือนละ 2,093 หน่วย และตั้งแต่เดือนกันยายน 2525 จำเลยใช้กระแสไฟฟ้าต่ำกว่า 2,000 หน่วย โจทก์จึงคิดค่ากระแสไฟฟ้าย้อนหลังตั้งแต่เดือนกันยายน 2525 ถึงเดือนกันยายน 2528 เป็นเงิน 129,000 บาทเศษ และหลังจากเปลี่ยนเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าใหม่แล้ว ผู้ใช้ไม่ชำระค่ากระแสไฟฟ้าอีก 1,000 บาทเศษ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 130,000 บาทเศษ เมื่อหสักเงินประกันเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า 10,000 บาท ผู้ใช้ไฟฟ้ายังเป็นหนี้โจทก์ 120,797.61 บาท
พิเคราะห์แล้ว ในปัญหาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ตรวจพบว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่ ม/43-10529 ถูกทำการแก้ไขให้แสดงค่าหน่วยน้อยกว่าที่มีการใช้ไฟฟ้าจริงเป็นเหตุให้จำเลยในฐานะผู้ใช้ไฟฟ้าชำระเงินค่าไฟฟ้าแก่โจทก์น้อยไปกว่าที่เป็นจริง ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 4สิงหาคม 2525 ถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2528 จำเลยชำระเงินค่าไฟฟ้าให้โจทก์ไม่ถูกต้องโดยชำระเพียง 74,104.64 บาท หากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าแสดงค่าหน่วยไฟฟ้าถูกต้อง จำเลยจะต้องชำระเงินค่าไฟฟ้าให้โจทก์ในช่วงดังกล่าวเป็นเงิน 203,178.10 บาท จำเลยในฐานะผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งได้รับประโยชน์จากการใช้ไฟฟ้าที่เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าถูกทำการแก้ไขให้แสดงหน่วยไฟฟ้าน้อยกว่าที่เป็นจริง จึงต้องรับผิดชำระเงินค่าไฟฟ้าเพิ่มย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2525 ถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2528 แก่โจทก์คิดเป็นเงิน 129,073.46 บาท เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าว โจทก์ได้บรรยายถึงสภาพแห่งข้อหารวมทั้งรายละเอียดและคำขอบังคับโดยชัดแจ้งพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้แล้ว โจทก์หาจำต้องบรรยายว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าถูกแก้ไขอย่างไร ใครเป็นผู้แก้และแก้เมื่อใด รวมทั้งการอ้างสิทธิที่จะเรียกเก็บค่าไฟฟ้าเพิ่มย้อนหลัง และการคิดค่าไฟฟ้าโดยอาศัยหลักเกณฑ์ใดดังที่จำเลยฎีกาไม่ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ในปัญหาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าไฟฟ้าที่จำเลยใช้ตามที่ได้ใช้ไปจริงและจำเลยชำระขาดไปจึงเป็นการฟ้องจำเลยให้ชำระค่าไฟฟ้าที่ยังขาดอยู่หาใช่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการทำละเมิดอันมีอายุความ 1 ปีไม่ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ”
พิพากษายืน