คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 186/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลแขวงสั่งรับเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย ในการพิจารณาพิพากษาของศาลอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ได้หยิบยกข้อเท็จจริงบางประการที่ศาลแขวงมิได้วินิจฉัยไว้ขึ้นชี้ขาดเสียเองเพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลอุทธรณ์เช่นนี้ ไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาเพราะศาลอุทธรณ์ต้องฟังข้อเท็จจริงตามศาลแขวง ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าข้อเท็จจริงที่ศาลแขวงฟังมายังขาดตกบกพร่องหรือไม่พอเพียงศาลอุทธรณ์ก็ย่อมมีอำนาจสั่งย้อนสำนวนไปให้ศาลแขวงฟังข้อเท็จจริงใดๆ เพื่อนำมาประกอบการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายต่อไปได้ตามแต่จะเห็นสมควรแก่กรณี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(3) ข

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยหมิ่นประมาท

จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสองสำนวน

ศาลแขวงฟังว่า จำเลยกล่าวโดยมีเจตนารักษาผลประโยชน์ของตนขอความเป็นธรรมต่อผู้ใหญ่ ไม่ใช่เป็นการใส่ความ พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ ศาลแขวงสั่งรับเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย

ศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาข้อเท็จจริงบางประการเอามาวินิจฉัยเองเพื่อใช้ประกอบข้อกฎหมายแล้วพิพากษาปรับจำเลยเป็นเงินหนึ่งพันบาท

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังว่า คดีนี้ ศาลแขวงพิพากษายกฟ้องโจทก์ ครั้นโจทก์อุทธรณ์ ศาลแขวงสั่งรับเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย คดีที่ศาลยกฟ้องเช่นนี้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแขวงในปัญหาข้อเท็จจริง ไว้แต่คดีใดที่จำเลยถูกลงโทษดังที่ได้จำแนกไว้บางประการจึงจะอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงได้ ปัญหาสำหรับคดีนี้จึงมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกข้อเท็จจริงบางประการที่ศาลแขวงมิได้วินิจฉัยไว้ ขึ้นชี้ขาดเสียเองเพื่อประกอบการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามที่ศาลอุทธรณ์สั่งรับเป็นอุทธรณ์นั้นจะเป็นการชอบด้วยวิธีพิจารณาหรือไม่ ความข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงนั้น ตามกฎหมาย ปัญหาข้อเท็จจริงในคดีที่ศาลยกฟ้องนั้นให้ถือเป็นยุติตามที่ศาลแขวงฟังมาเป็นหลักในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายของศาลอุทธรณ์ แต่ในการที่จะวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายคดีใด หากปรากฏว่าข้อเท็จจริงตามที่ศาลแขวงฟังมายังขาดตกบกพร่องหรือไม่เพียงพอก็ดีศาลอุทธรณ์ก็ย่อมมีอำนาจสั่งย้อนสำนวนให้ศาลแขวงฟังข้อเท็จจริงใด ๆ เพื่อประกอบการวินิจฉัยข้อกฎหมายต่อไปได้ตามแต่จะเห็นสมควรแก่กรณ๊ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(3) ข ฉะนั้น จึงย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาที่ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยข้อเท็จจริงเสียเองแล้วพิพากษาลงโทษจำเลยเช่นนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 697, 698/2503 ผู้ว่าคดีศาลแขวงพระนครเหนือ โจทก์ นางจงใจ เทียนหอม กับพวกจำเลย อนึ่ง คดีนี้ศาลแขวงก็สั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมาย เท่านั้น เท่ากับมิให้มีการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงจึงหาใช่หน้าที่ของศาลอุทธรณ์จะพิจารณาแสวงหาข้อเท็จจริงนอกเหนือไปจากที่ศาลแขวงฟังมาแล้วอีกไม่

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์ดำเนินการพิจารณาแล้วพิพากษาคดีใหม่ตามนัยดังกล่าวมา

Share