แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยได้ให้โจทก์เช่าสถานที่ซึ่งอยู่ที่ชั้นสองและเป็นส่วนการค้าของโรงแรมเพื่อประกอบกิจการตัดผมสุภาพบุรุษอาบ อบ นวด จำเลยปิดกิจการโรงแรมชั่วคราวเพื่อปรับปรุงและปิดประตูใหญ่ภายหลังจากที่โจทก์ปิดกิจการร้านของโจทก์แล้วแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าขณะจำเลยปิดประตูใหญ่ โจทก์ยังมีสิทธิการเช่าอยู่ก็ยังถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่โจทก์จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกิจการ “รามาโซน่า” หรือร้านบาร์เบอร์ช้อบ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งร้านค้าของโรงแรมรามาทาวเวอร์ ซึ่งประกอบเป็นห้องมีเนื้อที่ 240 ตารางเมตร โดยเช่าจากบริษัทรามาทาวเวอร์ จำกัด มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2523วันที่ 31 ธันวาคม 2524 สัญญาเช่าครบกำหนด บริษัทรามาทาวเวอร์จำกัด ให้โจทก์เช่าต่อโดยถือสัญญาเช่าเดิมตลอดมาโดยไม่มีกำหนดเวลาวันที่ 22 เมษายน 2526 บริษัทรามาทาวเวอร์ จำกัด ขายทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัทให้แก่จำเลย โดยมีข้อตกลงว่า จำเลยจะต้องรับโอนสิทธิต่าง ๆ ที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินที่ซื้อขายกันนั้นถือว่าจำเลยได้รับโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าเดิมที่โจทก์มีกับบริษัทรามาทาวเวอร์ จำกัด มาด้วย เนื่องจากข้อตกลงตามสัญญาเช่าเดิมของโจทก์มีว่า ผู้เช่ามีหน้าที่ต้องตกแต่งสถานที่ให้สวยงามตามความประสงค์ของผู้ให้เช่า ต้องเปิดไฟฟ้าในเวลากลางคืนให้สว่างไม่น้อยกว่า 60 แรงเทียน โดยค่าใช้จ่ายของผู้เช่าเอง และผู้เช่าจะต้องเอาประกันภัยจำนวน 500,000 บาท โดยให้ผู้ให้เช่าเป็นผู้รับประโยชน์ โจทก์จึงตกแต่งสถานที่เช่าเป็นเงินไม่ต่ำกว่า3,000,000 บาท และชำระเบี้ยประกันภัย ปีละ 8,712 บาท เพื่อตอบแทนในการเช่าห้องดังกล่าว เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2527 จำเลยได้ปฏิบัติผิดสัญญาเช่าโดยไม่มีการบอกกล่าวให้โจทก์ทราบมาก่อนและกระทำการอันถือว่าเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น กล่าวคือ จำเลยได้รู้อยู่ว่าลูกค้าของโจทก์ คือแขกผู้มาพักในโรงแรมและบุคคลทั่ว ๆ ไปที่ค่อนข้างมีฐานะดีเข้ามาใช้บริการของโจทก์ แต่จำเลยได้ปิดกั้นด้านหน้าของโรงแรมรามาทาวเวอร์ไม่ให้คนเข้ามาภายในบริเวณโรงแรม อันเป็นเหตุให้กิจการของโจทก์ต้องหยุดชะงักลงไป เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 3,000,000 บาทกับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับจากวันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จให้จำเลยใช้ค่าขาดรายได้ภายหน้าแก่โจทก์เดือนละ 100,000 บาทนับจากวันฟ้องจนถึงวันที่จำเลยได้ระงับการกระทำละเมิดต่อโจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดหรือกระทำการใด ๆอันจะถือว่าเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นซึ่งจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแต่ประการใด จำเลยไม่ได้ปิดกั้นด้านหน้าของโรงแรมรามาทาวเวอร์ไม่ให้คนเข้ามาใช้บริการของโจทก์ ทางเข้าโรงแรมมีหลายทาง จำเลยปิดกิจการโรงแรมชั่วคราวเพื่อซ่อมและปรับปรุงอาคารของจำเลยโดยสุจริต ได้มีการบอกกล่าวให้ผู้เช่าและโจทก์ทราบ ตามสัญญาเช่าก็มีบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาว่าถ้าจำเลยจะใช้สถานที่เช่าเพื่อขยายกิจการหรือปรับปรุงอาคารโรงแรมเมื่อใด ผู้เช่ายินดีออกเพื่อให้ดำเนินการ สัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยสิ้นสุดลงแล้วโดยก่อนที่จำเลยจะปิดกิจการโรงแรมชั่วคราวนั้นโจทก์ผิดนัดชำระค่าเช่าแก่จำเลยมาโดยตลอด ขณะนี้ค่าเช่าประจำเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 2527 เดือนละ 19,008 บาท รวม 57,024 บาทและค่าโทรศัพท์กับค่าไฟฟ้าประจำเดือนดังกล่าวอีก 9,829.60 บาท โจทก์ก็ยังไม่ชำระให้จำเลย จำเลยได้บอกเลิกการเช่ากับโจทก์แล้วตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2527 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆอันเกิดจากสัญญาเช่า โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย โจทก์ลงทุนตกแต่งห้องเช่าเพื่อกิจการของโจทก์โดยใช้เงินอย่างสูงไม่เกิน200,000 บาท กระทำมาหลายปีแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้อง กิจการของโจทก์ประสบปัญหาขาดทุน ที่อ้างว่ามีรายได้เดือนละ 100,000 บาทไม่เป็นความจริงจำเลยไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 80,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยได้ให้โจทก์เช่าสถานที่ซึ่งอยู่ที่ชั้นสองและเป็นส่วนการค้าของโรงแรมรามาทาวเวอร์เพื่อประกอบกิจการตัดผลสุภาพบุรุษ อาบ อบ นวดใช้ชื่อทางการค้าว่า รามาโซน่า หรือร้านบาร์เบอร์ช้อบ โดยมีข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาจำเลยได้ปิดกิจการโรงแรมชั่วคราวเพื่อปรับปรุงโดยทำป้ายปิดประกาศไว้ที่ประตูใหญ่ด้านหน้าโรงแรมซึ่งติดถนนใหญ่และปิดประตูใหญ่ด้านหน้าโรงแรม คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยประการแรกตามที่โจทก์ฎีกาว่าการที่จำเลยได้ปิดกิจการโรงแรมโดยปิดประตูใหม่ด้านหน้าโรงแรมขณะโจทก์ยังมีสิทธิตามสัญญาเช่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ปัญหาข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยปิดประตูใหญ่เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2527 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ปิดกิจการร้านของโจทก์แล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าขณะจำเลยปิดประตูใหญ่ โจทก์ยังมีสิทธิการเช่าอยู่ก็ยังถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่โจทก์จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ คำพิพากษาฎีกาที่ 194/2518ระหว่าง นางสำเนียง หุตะภิญโญ โจทก์ นายบักเพียวหรือฮั่วจี่แซ่อุ่ง จำเลย ที่โจทก์อ้าง ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้
ปัญหาต่อไปที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิการเช่า แต่โจทก์ไม่สามารถประกอบการค้าได้ จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ขาดรายได้ต่อไปจนกว่าจำเลยเปิดดำเนินกิจการโรงแรม มิใช่ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียง 60 วัน นั้น เห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาเช่า โจทก์จะต้องออกจากสถานที่เช่าเมื่อจำเลยบอกกล่าวแล้วไม่น้อยกว่า 60 วัน ดังนั้นเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันบอกกล่าว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิอยู่ในสถานที่เช่าอีกต่อไป จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายหลังจากนั้น หาใช่จำเลยจะต้องชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ขาดรายได้จนกว่าจำเลยจะเปิดดำเนินกิจการโรงแรมดังที่โจทก์ฎีกาไม่ คดีได้ความว่าจำเลยมีจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 9 พฤศจิกายน2527 ถึงโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.8 ขอให้ส่งมอบสถานที่เช่า แม้หนังสือดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ค้างชำระค่าเช่า แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยปิดกิจการเพื่อจะปรับปรุงโรงแรมโดยปิดประตูใหญ่ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2527 จึงอนุโลมได้ว่า จำเลยแจ้งให้โจทก์ส่งมอบสถานที่เช่าเพื่อปรับปรุงอาคารของโรงแรมตามเงื่อนไขซึ่งปรากฎอยู่ในข้อตกลงต่อท้ายสัญญาเช่า แม้ไม่ปรากฏตามทางนำสืบของทั้งสองฝ่ายถึงวันที่โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าว แต่โจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ 6 ธันวาคม 2527 โดย อ้างถึงเอกสารหมาย จ.8 และขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จึงฟังได้ว่าโจทก์ได้รับหนังสือของจำเลยที่ให้โจทก์ส่งมอบสถานที่เช่าอย่างช้าที่สุดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม2527 เพราะฉะนั้นโจทก์จะต้องย้ายออกจากสถานที่เช่าเมื่อพ้นกำหนด60 วัน นับแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2527 ซึ่งครบกำหนด 60 วัน ในวันที่4 กุมภาพันธ์ 2528 ดังนี้จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เฉพาะในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2527 ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์2528 เป็นเวลา 3 เดือน 14 วัน ที่โจทก์ฎีกาว่า ค่าเสียหายโจทก์เดือนละ 100,000 บาท โดยอ้างว่าโจทก์มีแบบแสดงรายการการค้าตามเอกสารหมาย จ.13 เป็นหลักฐานนั้น เห็นว่าโจทก์มีรายได้ตามแบบแสดงรายการการค้าตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2527 ถึงเดือนตุลาคม 2527เดือนละ 80,000 บาทเศษ ถึง 126,000 บาทเศษ ซึ่งจะต้องหักภาษีการค้าเดือนละ 5,000 บาทเศษ ถึง 9,000 บาทเศษ และจะต้องหักค่าใช้จ่ายเป็นเงินค่าจ้างพนักงานและอื่น ๆ อีก เพราะฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ขาดกำไรเดือนละ 40,000 บาท นั้นเหมาะสมแล้วคิดค่าเสียหายเป็นเวลา 3 เดือน 14 วัน เป็นเงิน 138,666.67 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 138,666.67 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์