แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เสมียนทนายจำเลยลงชื่อรับทราบข้อความที่ประทับไว้ในฎีกาว่าให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 11 ธันวาคม 2534 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบแล้ว ต่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาและให้จำเลยนำส่งสำเนาฎีกาแก่โจทก์ภายใน 7 วัน ดังนี้ ถือว่าจำเลยทราบคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้นำส่งสำเนาฎีกาภายใน 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2534 แล้ว เมื่อจำเลยมิได้นำส่งสำเนาฎีกาในกำหนด จึงเป็นการทิ้งฟ้องฎีกา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่กับพวกเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 1144/2529 ของศาลชั้นต้น รวมเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเงิน 2,580,025.80 บาท แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ยอมชำระและไม่มีทรัพย์สินจะยึดมาชำระหนี้ได้จึงเข้าข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสี่เด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ล้มละลาย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า หากโจทก์ใช้สิทธิตามกฎหมายยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดก็จะได้ทรัพย์สินเกินกว่าหนี้ตามคำพิพากษา จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 ไม่เคยได้รับคำบังคับของศาลในคดีหมายเลขแดงที่ 1144/2529 จำเลยที่ 4 มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินของโจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 4 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เด็ดขาด
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2534 ให้รับฎีกาของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 นำส่งสำเนาฎีกาแก่โจทก์ภายใน7 วัน ต่อมาวันที่ 17 มกราคม 2535 เจ้าพนักงานกรมบังคับคดีรายงานให้ศาลชั้นต้นทราบว่าจำเลยที่ 1 ไม่มานำส่งสำเนาฎีกาในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลชั้นต้นจึงส่งสำนวนมายังศาลฎีกาเพื่อพิจารณา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “นายชวลิต ดวงพัตรา เสมียนทนายซึ่งได้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยที่ 1 ให้นำฟ้องฎีกามายื่นต่อศาลและรับทราบคำสั่ง ได้ลงชื่อรับทราบข้อความที่ประทับไว้ในฎีกาว่าให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 11 ธันวาคม 2534 ถ้าไม่มา ให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้นำส่งสำเนาฎีกาแก่โจทก์ภายใน 7 วัน แล้วตั้งแต่วันที่11 ธันวาคม 2534 เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้นำส่งสำเนาฎีกาแก่โจทก์ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ถือว่าจำเลยที่ 1 ทิ้งฟ้องฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(1) ประกอบมาตรา 246, 247 และพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153”
จึงให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความของศาลฎีกา