คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4947/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อ. ได้ที่ดินพิพาทมาโดยการรับมรดกระหว่างเป็นสามีโจทก์เมื่อปรากฏว่า อ. ได้รับมรดกที่ดินพิพาทมาก่อนวันที่ 16 ตุลาคม2519 อันเป็นวันที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มีผลใช้บังคับ ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่าง อ. กับโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิมมาตรา 1466 แม้ว่าที่ดินพิพาทจะเป็นสินสมรสระหว่าง อ. กับโจทก์ก็ตามเมื่อปรากฏว่าการที่ อ. ยกที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยด้วยนั้น โจทก์ซึ่งรู้เห็นอยู่แล้วไม่ได้คัดค้านหรือทักท้วงประการใดกลับปล่อยให้จำเลยดำเนินการไถ่ถอนการขายฝาก และจดทะเบียนโอนที่ดินยกให้เป็นของจำเลยแล้ว โจทก์จะมาใช้สิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการยกให้ซึ่งที่ดินพิพาทดังกล่าวหาได้ไม่ เพราะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของนายอินทร์บุญโชติ มีบุตรด้วยกัน 6 คน รวมทั้งจำเลยซึ่งเป็นบุตรคนที่สามระหว่างเป็นสามีภรรยากัน นายอินทร์เป็นเจ้าของที่ดิน น.ส.3 ก.เลขที่ 1376 ซึ่งได้ขายฝากที่ดินแปลงนี้ไว้กับผู้มีชื่อ ต่อมานายอินทร์ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2528 เมื่อเดือนกันยายน 2528 ขณะที่นายอินทร์กำลังป่วยหนักจำเลยได้ทำหนังสือมอบอำนาจปลอมว่า นายอินทร์ได้มอบอำนาจให้จำเลยไถ่ถอนการขายฝากและยกที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลย แล้วจำเลยได้นำหนังสือมอบอำนาจปลอมไปดำเนินการตามหนังสือมอบอำนาจนั้น ที่ดินดังกล่าวเป็นสินสมรสซึ่งเป็นของโจทก์ครึ่งหนึ่งตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยเป็นการยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดกเกินกว่าส่วนที่ตนจะได้รับ ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดก ขอให้ศาลพิพากษาว่า การจดทะเบียนที่ดิน น.ส.3 ก.ระหว่างนายอินทร์ บุญโชติ ผู้ให้ นางนวลจันทร์ บุญโชติ ผู้รับเป็นโมฆะ และพิพากษาว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายอินทร์ให้โจทก์มีกรรมสิทธิ์คนหนึ่ง ส่วนที่ดินอีกครึ่งหนึ่งเป็นมรดกของนายอินทร์ให้แบ่งกันระหว่างทายาทของนายอินทร์ กับขอให้พิพากษากำจัดจำเลยออกจากมรดกส่วนนี้
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนตัวของนายอินทร์นายอินทร์ยกให้จำเลยโดยทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยไปแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยไม่ได้ปลอมลายมือชื่อของนายอินทร์และนายอินทร์ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยด้วยขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ถึงแก่กรรม นายถวัลย์บุญโชติ ทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า โจทก์มีสิทธิในที่ดินครึ่งหนึ่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนการให้ระหว่างนายอินทร์ บุญโชติ ผู้ให้กับนางนวลจันทร์ บุญโชติ ผู้รับเฉพาะส่วนที่เป็นสิทธิของโจทก์ครึ่งหนึ่ง คำขออื่นของโจทก์ให้ยก
จำเลยฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา นายถวัลย์ บุญโชติ ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ถึงแก่กรรม นางบัวพันธุ์ บุญโชติ ทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายอินทร์หรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นของนายสุนบิดานายอินทร์ นายอินทร์ได้ที่ดินพิพาทมาโดยการรับมรดก ก่อนวันที่ 16 ตุลาคม 2519 ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่นายอินทร์ได้มาระหว่างสมรสกับโจทก์ จึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายอินทร์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 เดิม มาตรา 1466 ที่ดินพิพาทจึงเป็นของโจทก์กับนายอินทร์คนละครึ่ง แต่นายอินทร์ได้นำที่ดินพิพาทไปขายฝากผู้อื่นไว้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า นายอินทร์ซึ่งเป็นพระภิกษุป่วยเป็นอัมพาตส่วนล่างของร่างกายแต่ยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ขณะพักอยู่ที่บ้านโจทก์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยไถ่ที่ดินพิพาทและโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยกับทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้จำเลยจำเลย ญาติและคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งมาเยี่ยมเยียนนายอินทร์ที่บ้านโจทก์จริง โดยโจทก์รู้เห็นยินยอมไม่คัดค้านการที่นายอินทร์ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย ดังนั้น แม้ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนายอินทร์กับโจทก์ก็ตาม การที่นายอินทร์ยกที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยด้วย โจทก์ซึ่งรู้เห็นอยู่แล้วไม่ได้คัดค้านหรือทักท้วงประการใดปล่อยให้จำเลยดำเนินการไถ่ถอนการขายฝากและจดทะเบียนโอนที่ดินยกให้เป็นของจำเลยแล้ว โจทก์จะมาใช้สิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการยกให้ซึ่งที่ดินพิพาทดังกล่าวหาได้ไม่เพราะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง เป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share