คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6013/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในวันนัดไต่สวนคำร้องนัดแรกศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่าได้ตรวจคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดิน ข้อคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสองแล้ว เห็นว่าพอวินิจฉัยได้ให้งดไต่สวนพยานทั้งสองฝ่าย นัดฟังคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี เช่นนี้เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินของผู้ร้องและคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสอง มิได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 24 และคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองมิได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 153 (เดิม)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จากการสอบสวนได้ความว่าจำเลยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมกับผู้อื่นในที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 610, 612, 617 เลขที่ดิน 96, 98, 103 ตำบลบ่อวิน อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ต่อมาจำเลยได้โอนขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสอง ซึ่งเป็นการโอนทรัพย์สินในระหว่างระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย ประกอบกับผู้คัดค้านทั้งสองรู้จักสนิทสนมกันเป็นอย่างดีกับจำเลยผู้คัดค้านทั้งสองควรจะรู้ถึงสภาวะการเงินและการมีหนี้สินล้นพ้นตัวของจำเลยแต่ผู้คัดค้านทั้งสองกลับตกลงรับโอนที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนจากจำเลย แสดงว่าผู้คัดค้านทั้งสองมีเจตนาที่จะช่วยเหลือจำเลยในขณะที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว และเมื่อพิจารณาราคาซื้อขายที่ดินพิพาทปรากฏว่ามีราคาต่ำกว่าราคาประเมินของสำนักงานที่ดินเป็นเงิน 518,562.50 บาท พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้มีเจตนาที่จะซื้อขายที่ดินพิพาทกันจริง แต่มีเจตนาที่จะยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน อันถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต และถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านทั้งสองเสียค่าตอบแทน ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการโอนที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 610, 612, 617 เลขที่ดิน 96, 98, 103 ตำบลบ่อวิน อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านทั้งสอง โดยให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม และหากไม่สามารถกลับคืนฐานะเดิมได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดขอให้มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านทั้งสองร่วมกันชดใช้ราคาเป็นเงิน 3,318,562.50 บาท
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านทำนองเดียวกันว่า ผู้คัดค้านทั้งสองได้ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน มิได้มีเจตนาที่จะยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินแต่อย่างใด เมื่อปี 2531 ผู้คัดค้านทั้งสองและจำเลยได้ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทจากนายสุชาติ ปัญญาวัฒนชัย โดยผู้คัดค้านที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดังกล่าวจำนวน 2 ใน 4 ของที่ดินทั้งหมดในนามของนายอภิชาต การุณกรสกุล และนายธีรพล การุณกรสกุล ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจำนวน 1 ใน 4 ของที่ดินทั้งหมดในนามของนายไพฑูรย์ บุญคงชื่น สำหรับจำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมด้วยจำนวน 1 ใน 4 ของที่ดินทั้งหมด ต่อมาผู้คัดค้านที่ 1 ทราบจากผู้คัดค้านที่ 2 ว่า จำเลยจะนำที่ดินพิพาทในส่วนของตนนั้นออกเสนอขายแก่บุคคลภายนอกซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาในการถือกรรมสิทธิ์รวม ผู้คัดค้านทั้งสองจึงได้ตกลงร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทในส่วนของจำเลยคนละครึ่ง การซื้อที่ดินพิพาทดังกล่าวมิได้เจตนาที่จะช่วยเหลือจำเลยในขณะที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวและราคาที่ผู้คัดค้านทั้งสองร่วมกันซื้อนั้นก็เป็นราคาปกติที่ทำการซื้อขายกันในบริเวณที่ดินพิพาท อีกทั้งผู้คัดค้านทั้งสองได้ชำระเงินค่าซื้อที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยจริง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดไต่สวนพยานทั้งสองฝ่ายและมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 610, 612, 617 เลขที่ดิน 96, 98, 103 ตำบลบ่อวิน อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยให้กลับคืนฐานะเดิม หากผู้คัดค้านทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำสั่งแทนการแสดงเจตนา หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ให้ผู้คัดค้านทั้งสองชดใช้ราคาเป็นเงิน 3,318,562.50 บาท
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อปี 2531 ผู้คัดค้านทั้งสองและจำเลยร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทจากนายสุชาติ ปัญญาวัฒนชัย โดยผู้คัดค้านที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์จำนวน 2 ใน 4 ของที่ดินพิพาททั้งหมดในนามของนายอภิชาต การุณกรสกุล และนายธีรพล การุณกรสกุล ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์จำนวน 1 ใน 4 ของที่ดินทั้งหมด ต่อมาวันที่ 22 ตุลาคม 2535 จำเลยโอนที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสองในราคา 2,800,000 บาท ขณะนั้นราคาประเมินของสำนักงานที่ดินเป็นเงิน 3,318,562.50 บาท ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองประการแรกว่า ที่ศาลชั้นต้นสั่งว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วงดไต่สวนพยานทั้งสองฝ่ายและนัดฟังคำสั่งระหว่างพิจารณาหรือไม่ ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกาว่า คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ไม่จำเป็นต้องโต้แย้งคำสั่งไว้ก็สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในวันนัดไต่สวนคำร้องนัดแรกวันที่ 29 เมษายน 2545 ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่าได้ตรวจคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดิน ข้อคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสองแล้ว เห็นว่าพอวินิจฉัยได้ให้งดไต่สวนพยานทั้งสองฝ่าย นัดฟังคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีในวันที่ 24 พฤษภาคม 2545 เช่นนี้เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำร้องขอเพิกถอนการโอนที่ดินของผู้ร้องและคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสอง มิได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 และคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองมิได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 (2) ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 153 (เดิม) ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้คัดค้าน ทั้งสองในปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองประการต่อไปว่า คำสั่งให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทของศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกาว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 114 (เดิม) ที่ว่า ก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้นหมายถึงการโอนหรือการกระทำใดๆ ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลย เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดวันที่ 19 ธันวาคม 2538 จึงมิใช่การโอนภายในระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย ไม่ต้องด้วยมาตรา 114 (เดิม) นั้น เห็นว่าการกระทำในระหว่างระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้ล้มละลายตามบทบัญญัติมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 คือ ก่อนมีการฟ้องขอให้ล้มละลาย เมื่อการโอนที่ดินพิพาทในคดีนี้กระทำเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2535 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2538 จึงเป็นการโอนภายในระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้ล้มละลายซึ่งผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องให้ศาลสั่งเพิกถอนได้ ส่วนปัญหาที่ผู้คัดค้านทั้งสองรับโอนมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือไม่นั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้คัดค้านทั้งสองกับจำเลยได้ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทเมื่อปี 2531 ในลักษณะทำธุรกิจร่วมกัน ผู้คัดค้านทั้งสองน่าจะต้องรู้จักคุ้นเคยกันดีกับจำเลยและรู้ถึงสถานะการเงินของจำเลยพอสมควร และเช็คที่อ้างว่าสั่งจ่ายชำระค่าที่ดินพิพาทส่วนของจำเลยเป็นของนายอุดม การุณกรสกุล ใบรับเงินระบุว่ารับเงินจากนางสุรีย์ การุณกรสกุล ไม่ใช่ผู้คัดค้านทั้งสอง และเช็คฉบับนี้ระบุว่าเข้าบัญชีห้างทองไทยโดยไม่ปรากฏว่าเป็นบัญชีของจำเลย ทั้งเช็คสั่งจ่ายวันที่ 26 ตุลาคม 2535 หลังจากวันทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทส่วนของจำเลย 4 วัน ส่วนข้ออ้างที่ว่าผู้คัดค้านที่ 1 สั่งจ่ายเช็คดังกล่าวรวมส่วนของผู้คัดค้านที่ 2 และผู้คัดค้านที่ 2 สั่งจ่ายเช็คชำระคืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ก็ปรากฏว่าเช็คนี้สั่งจ่ายเงินเพียง 837,993.75 บาท ไม่ครบจำนวนที่ผู้คัดค้านที่ 2 ค้างชำระ และที่อ้างว่าผู้คัดค้านที่ 2 ชำระส่วนที่ค้างชำระเป็นเงินสดก็ไม่มีพยานหลักฐานใด ๆ สนับสนุนให้น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ราคาซื้อขายที่ดินพิพาทวันที่จำเลยโอนที่ดินพิพาทส่วนของจำเลยให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสองต่ำกว่าราคาประเมินเป็นเงินถึง 518,562.50 บาท ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านทั้งสองรับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ศาลจึงมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นและคำพิพากษาอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share