คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 35/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 172 นั้น ในชั้นพิจารณาคดีของศาล โจทก์มีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อพิสูจน์เพื่อได้ให้ความแน่ชัดว่ามีการกระทำความผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้องของโจทก์ แต่โจทก์ไม่ได้นำพยานหลักฐานที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 5 ได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนคนใดที่สถานีตำรวจแห่งใด ด้วยข้อความว่าอย่างไรมาแสดงต่อศาลจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดดังกล่าว คำเบิกความของโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง มิใช่เป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณา และพยานเอกสารก็ส่งไว้ในชั้นไต่สวน มูลฟ้องโจทก์หาได้อ้างส่งศาลในชั้นพิจารณาไม่ จึงไม่ชอบ ที่จะรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวในชั้นพิจารณา

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันกับคดีอื่นอีกสามสำนวนซึ่งถึงที่สุดโดยคู่ความมิได้อุทธรณ์คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีสองสำนวนนี้ ซึ่งศาลชั้นต้นให้เรียกจำเลยในสำนวนดังกล่าวว่าจำเลยที่ 2 และที่ 5 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ 2 และที่ 5 กับพวกแจ้งความอันเป็นเท็จต่อร้อยตำรวจตรีศักดา พุทธสินธุ์รองสารวัตรสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอปากพนังผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาที่คนร้ายฆ่านางพิน ปรามาศ โดยจำเลยที่ 2 แจ้งความเท็จว่า เห็นโจทก์วิ่งออกจากที่เกิดเหตุไปทางทิศตะวันตกข้ามคลองที่เกิดเหตุ นั่งลงล้างมือในคลอง แล้วหันมาหาผู้กล่าวหา จำเลยที่ 5 แจ้งความเท็จว่า ได้ยินเสียงผู้ตายโต้เถียงกับโจทก์เรื่องตัดไม้สังแก ผู้ตายพูดจาทำนองท้าฟันเห็นโจทก์กระโดดข้ามแนวไม้จากทิศตะวันตก มีขวานติดมือด้วยและฟันผู้ตายด้านหลังพอดีผู้ตายหันไปดูและโจทก์เรียกผู้ต้องหาที่ 3 ให้ออกมาฟันผู้ตายอีกความจริงโจทก์ไม่เกี่ยวข้องกับการฆ่าผู้ตาย จำเลยที่ 2 และที่ 5 แกล้งใส่ความโจทก์เพื่อให้ได้รับโทษอาญา ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 2 และที่ 5 กับพวกเบิกความเท็จในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 255/2530 ของศาลชั้นต้นระหว่างพนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดปากพนังโจทก์นายทิน ภักดีบุรีจำเลย ในข้อสำคัญ โดยจำเลยที่ 2 เบิกความเท็จว่า เห็นโจทก์วิ่งออกจากที่เกิดเหตุไปทางทิศตะวันตก ข้ามคลองที่เกิดเหตุนั่งล้างมือในคลองแล้วหันมาหาผู้กล่าวหา จำเลยที่ 5เบิกความเท็จว่าได้ยินเสียงผู้ตายโต้เถียงกับโจทก์เรื่องตัดไม้สังแก ผู้ตายพูดทำนองท้าให้ฟัน เห็นโจทก์กระโดดข้ามแนวไม้จากทิศตะวันตก มีขวานติดมือมาด้วยและเข้าฟันผู้ตายทางด้านหลัง พอดีผู้ตายหันไปดู โจทก์เรียกผู้ต้องหาที่ 3ให้ออกมาฟันผู้ตาย ความจริงโจทก์ไม่เกี่ยวข้องกับการฆ่าผู้ตายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 177, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 ให้จำคุกคนละ 2 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 5 ให้หนักขึ้นจำเลยที่ 2 และที่ 5 อุทธรณ์ ขอให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 5ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 เสียด้วย นอกจาก ที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 5 มีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 หรือไม่เห็นว่าสำหรับข้อหาความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนนั้น ในชั้นพิจารณาคดีของศาลโจทก์มีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อพิสูจน์เพื่อให้ได้ความแน่ชัดว่ามีการกระทำความผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้องของโจทก์ แต่โจทก์ไม่ได้นำพยานหลักฐานที่แสดงว่า จำเลยที่ 2 และที่ 5 ได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนคนใดที่สถานีตำรวจแห่งใด ด้วยข้อความว่าอย่างไรมาแสดงต่อศาลคงมีแต่โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานมาเบิกความลอย ๆ เพียงว่าเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2528 มีคนร้อยฆ่านางพิณ ปรามาศถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ไปแจ้งต่อร้อยตำรวจตรีศักดาพนักงานสอบสวนคดีอาญาที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอปากพนังว่าเห็นโจทก์วิ่งออกจากที่เกิดเหตุที่มีการฆ่านางพินไปทางทิศตะวันตกข้ามคลองจากนั้นนั่งลงล้างมีดพร้าและมือซึ่งเป็นความเท็จความจริงโจทก์ไม่ได้ฆ่านางพิน ชั้นสอบสวนจำเลยได้ไปให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจโดยจำเลยที่ 2 ให้การว่า วันที่ 15 มกราคม2528 อันเป็นวันเกิดเหตุเห็นโจทก์วิ่ง ข้ามคลองไปทางด้านทิศตะวันตก แล้วนั่งลงล้างมีดพร้าอยู่ริมฝั่งคลอง ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงโจทก์ไม่ได้ฆ่านางพิน ส่วนจำเลยที่ 5ให้การว่า ในวันเกิดเหตุตอนเช้านางพินได้มาชวนจำเลยที่ 5ไปตัดไม้ที่ข้างบ้านนายเลียบ แต่จำเลยที่ 5 ไม่ได้ตามไปในทันทีคงรออยู่สักครู่หนึ่งจึงตามไป ได้ยินเสียงโจทก์โต้เถียงกับนางพินเรื่องไม้สังแก แล้วโจทก์เกิดโทสะใช้ขวานฟันนางพินซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงโจทก์ไม่ได้ฆ่านางพิน โจทก์ได้เห็นคำให้การของจำเลยดังกล่าวที่ให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจหลังจาก ที่ศาลตัดสินแล้ว และทนายพงศ์ศักดิ์ได้นำคำเบิกความของจำเลยดังกล่าวมาให้โจทก์ โจทก์จึงได้นำมาฟ้องคดีนี้ คำให้การชั้น การสอบสวนของจำเลยดังกล่าวตรงกับที่ระบุในคำฟ้อง พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบในชั้นพิจารณาคดีของศาลจึงรับฟังไม่ได้แน่ชัดว่า จำเลยที่ 2 และที่ 5 ได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาต่อพนักงานสอบสวนดังที่โจทก์ฟ้อง ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้อ้างคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 และที่ 5 ต่อศาลแล้ว โดยศาลได้หมาย จ.1 ดังเห็นได้จากคำเบิกความของโจทก์ที่เบิกความต่อศาลเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2531 แผ่นที่ 3 บรรทัดที่ 22 ซึ่งโจทก์ได้กล่าวถึงคำให้การชั้นสอบสวนและยื่นต่อศาล ศาลได้รับไว้เป็นพยานหลักฐานแล้ว จำเลยก็ได้ตรวจสอบแล้วเช่นกัน จำเลยจึงมีโอกาสต่อสู้คดีตามที่โจทก์กล่าวอ้างได้เต็มที่การที่จำเลยไม่ถามค้านถึงเอกสารดังกล่าวไม่ใช่ความผิดของโจทก์นั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 การพิจารณาและสืบพยานในศาลให้ทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย เว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น เช่นกรณีที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ทวิ ดังนั้นเมื่อคำเบิกความของโจทก์เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2531 เป็นคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง มิใช่เป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณา และพยานเอกสารหมาย จ.1 ก็ส่งไว้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์หาได้อ้างส่งศาลในชั้นพิจารณาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวชอบแล้ว สรุปแล้วพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบในชั้นพิจารณายังรับฟังไม่ได้แน่ชัดว่าจำเลยที่ 2 และที่ 5 กระทำผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 172 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share