คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2892/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ร.ต.อ.อุทัยได้ทำการตรวจค้นบริเวณด้านหลังอู่ที่พบชิ้นส่วนเครื่องรับวิทยุของกลางภายหลังวันที่จำเลยที่ 1 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนแล้ว จึงมิใช่กรณีของการค้นที่อยู่ของผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมหรือขังอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 102 วรรคสอง แต่เป็นการค้นตามมาตรา 102 วรรคแรก และ ร.ต.อ.อุทัยก็ได้แสดงหมายค้นและค้นต่อหน้าผู้ครอบครองดูแลอู่ในขณะนั้นและได้ทำบันทึกการตรวจค้นโดยมีรายละเอียดสิ่งของที่ค้นพบรวมถึงกล่องวิทยุที่ถูกเผาให้ผู้ครอบครองดูแลอู่ลงชื่อไว้แล้ว การตรวจค้นของ ร.ต.อ.อุทัยจึงชอบด้วยมาตรา 102 จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 รับเอาทรัพย์ของกลางทั้งหมดไว้ในครอบครอง และจากพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1กับพวกได้ร่วมกันแยกเอาชิ้นส่วนออกและพ่นสีรถใหม่ รวมทั้งทำลายหลักฐานบางส่วนโดยการเผา แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 กับพวกทราบดีแล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานรับของโจร ความผิดฐานรับของโจรนั้น อาจเกิดขึ้นหลายครั้งในวันเดียวกันได้ หากจำเลยรับทรัพย์ของกลางไว้หลายคราวและต่างเวลากัน และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ยอมรับว่าจำเลยที่ 1ได้รับเอาทรัพย์ของกลางตามที่โจทก์ฟ้องทุกคดีในคราวเดียวกันอันจะเป็นความผิดกรรมเดียวแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำกับคดีอื่นที่โจทก์ได้ฟ้องจำเลยแล้ว กฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องทำบันทึกการจับกุมในสถานที่ที่จับกุมหรือตรวจค้น อีกทั้งได้ความว่าจำเลยที่ 1 กับพวกถูกจับกุมในสถานที่ต่างกันในเวลาไล่เลี่ยกัน การทำบันทึกการจับกุมที่สถานีตำรวจจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมแล้ว และเนื่องจากเป็นการบันทึกการจับกุม มิใช่บันทึกการตรวจค้น จึงไม่จำต้องบันทึกของกลางที่ตรวจพบไว้โดยละเอียด เพียงแต่บันทึกของกลางที่ตรวจพบหรือทำบัญชีของกลางไว้ก็เป็นการเพียงพอแล้ว ไม่เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 103 พนักงานสอบสวนได้นำภาพถ่ายวัตถุของกลางให้จำเลยที่ 1ดูแล้ว ทั้งจำเลยที่ 1 มิได้ร้องขอดูวัตถุของกลางโดยตรงจึงนับว่าเพียงพอและไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 242แต่อย่างใด และเนื่องจากวัตถุของกลางเป็นรถยนต์และชิ้นส่วนของรถยนต์ ย่อมไม่สะดวกที่จะบรรจุหีบห่อและตีตราไว้ แต่การที่เจ้าพนักงานตำรวจได้บันทึกภาพวัตถุของกลางดังกล่าวไว้นั้นถือได้ว่าได้ทำเครื่องหมายไว้เป็นสำคัญแก่วัตถุของกลางนั้นชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 101 แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 335, 357 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายคืนของกลางทั้งหมดแก่ผู้เสียหาย และให้นับโทษจำเลยทั้งสี่ในคดีนี้ต่อจากคดีอื่น
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็ม.พี.เอ็นจิเนียริ่งผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดฐานร่วมกันรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83ให้จำคุกจำเลยทั้งสี่คนละ 5 ปี คืนของกลางทั้งหมดแก่เจ้าของให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9574/2531ของศาลชั้นต้น และให้นับโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ต่อจากโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9673/2531ของศาลชั้นต้น ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ ต่อมาจำเลยที่ 2 ขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดมาตราส่วนโทษจำเลยที่ 3และที่ 4 ลงกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำคุกจำเลยที่ 3และที่ 4 คนละ 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาโดยอัยการสูงสุด (อธิบดีกรมอัยการ) รับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยที่ 1 ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุได้มีคนร้ายลักเอารถยนต์ตู้ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน 8 ย-2753 กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยตัวถัง เครื่องยนต์ เกียร์พร้อมอุปกรณ์เบาะนั่ง 7 ตัวเครื่องสับเปลี่ยนเครื่องรับวิทยุ 1 ตัว เครื่องรับส่งวิทยุคมนาคม3 เครื่อง แม่แรงยกรถ 1 อัน คอนโซลติดลำโพง 1 ชุดเครื่องรับวิทยุเทป 1 เครื่อง รวมราคาทั้งสิ้น 400,000 บาทของโจทก์ร่วมไป ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 กระทำความผิดฐานรับของโจรหรือไม่ฯลฯ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ส่งรถยนต์ตู้และเบาะของกลางไปให้นายพลตกแต่งโดยก่อนส่งไปได้ทำการพ่นสีบรอนซ์ทับสีขาวซึ่งเป็นสีเดิมไว้เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ร้อยตำรวจเอกอุทัยยังตรวจค้นพบชิ้นส่วนเครื่องรับวิทยุ ซึ่งถูกเผาไหม้อยู่ที่บริเวณด้านหลังอู่บุญสถิตย์ตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งจำเลยที่ 1 อ้างว่าขัดต่อมาตรา 102 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้นศาลฎีกาเห็นว่า ร้อยตำรวจเอกอุทัยได้ทำการตรวจค้นในวันภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนแล้วจึงมิใช่กรณีของการค้นที่อยู่ของผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมหรือขังอยู่ตามมาตรา 102 วรรคสอง แต่เป็นการค้นตามมาตรา 102 วรรคแรกและร้อยตำรวจเอกอุทัยก็ได้แสดงหมายค้นและค้นต่อหน้านายอนันต์เวชอภิกุล ผู้ครอบครองดูแลอู่บุญสถิตย์ในขณะนั้น และได้ทำบันทึกการตรวจค้น โดยมีรายละเอียดสิ่งของที่ค้นพบรวมถึงกล่องวิทยุที่เผาให้นายอนันต์ลงชื่อไว้ตามเอกสารหมาย จ.2 แล้ว การตรวจค้นของร้อยตำรวจเอกอุทัยจึงชอบด้วยมาตรา 102 จากพยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 รับเอาทรัพย์ของกลางตามภาพถ่ายหมาย จ.7 ทั้งหมดไว้ในครอบครอง และจากพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 กับพวกได้ร่วมกันแยกเอาชิ้นส่วนออกและพ่นสีรถใหม่รวมทั้งทำลายหลักฐานบางส่วนโดยการเผา แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1กับพวกทราบดีแล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานรับของโจร
จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำกับคดีอื่นที่โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1ต่อศาลชั้นต้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดฐานรับของโจรนั้นอาจเกิดขึ้นหลายครั้งในวันเดียวกันได้ หากจำเลยรับทรัพย์ของกลางไว้หลายคราวและต่างเวลากัน และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1ได้ยอมรับว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเอาทรัพย์ของกลางตามที่โจทก์ฟ้องทุกคดีในคราวเดียวกัน อันจะเป็นความผิดกรรมเดียวแล้วฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำ ส่วนข้อกฎหมายข้อต่อไปที่ว่าบันทึกการจับกุมตามเอกสารหมาย จ.11 มิได้ทำที่สถานที่เกิดเหตุและของกลางที่ตรวจค้นได้ในอู่รถมิได้ทำรายละเอียดไว้ในสถานที่ที่ทำการค้นเป็นการขัดต่อมาตรา 103 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งมิได้นำของกลางบรรจุหีบห่อ และตีตราหรือทำเครื่องหมายไว้ ขัดต่อมาตรา 101 และร้อยตำรวจเอกอุทัยไม่เคยนำของกลางมาให้จำเลยที่ 1 ดู ขัดต่อมาตรา 242 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าบันทึกการจับกุมตามเอกสารหมาย จ.11 มิได้มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องทำในสถานที่ที่จับกุมหรือตรวจค้น อีกทั้งได้ความว่าจำเลยที่ 1 กับพวกถูกจับกุมในสถานที่ต่างกันในเวลาไล่เลี่ยกัน การทำบันทึกการจับกุมที่สถานีตำรวจจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมแล้วเนื่องจากเป็นบันทึกการจับกุม มิใช่บันทึกการตรวจค้น จึงไม่จำต้องบันทึกของกลางที่ตรวจพบไว้โดยละเอียดเพียงแต่บันทึกของกลางที่ตรวจพบหรือทำบัญชีของกลางไว้ดังที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.12 ก็เป็นการเพียงพอแล้ว ไม่ขัดต่อมาตรา 103 สำหรับของกลางในคดีนี้นั้นปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้นำภาพถ่ายวัตถุของกลางตามภาพถ่ายหมาย จ.7ให้จำเลยที่ 1 ดู ดังปรากฏตามคำให้การเอกสารหมาย จ.18 แล้วทั้งจำเลยที่ 1 มิได้ร้องขอดูวัตถุของกลางโดยตรงจึงนับว่าเพียงพอและไม่ขัดต่อมาตรา 242 แต่อย่างใด และเนื่องจากวัตถุของกลางเป็นรถยนต์และชิ้นส่วนของรถยนต์ ย่อมไม่สะดวกที่จะบรรจุหีบห่อและตีตราไว้ แต่การที่เจ้าพนักงานตำรวจได้บันทึกภาพวัตถุของกลางดังกล่าวไว้ตามภาพถ่ายหมาย จ.7 นั้น ถือได้ว่าได้ทำเครื่องหมายไว้เป็นสำคัญแก่วัตถุของกลางนั้นชอบด้วยมาตรา 101 แล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น ฯลฯ แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสม โดยให้จำคุกจำเลยที่ 3 ที่ 4 คนละ 3 ปี ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 3 ที่ 4 คนละ 3 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share