คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 132/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ฐานกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ภายหลังโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้ และศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้แล้ว ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องของโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) และแม้การออกเช็คอันเป็นมูลที่โจทก์ร่วมนำมาฟ้องจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวกับการใช้โฉนดที่ดินปลอมอันเป็นมูลที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยที่ 2ในคดีนี้ จะเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อฉ้อโกงโจทก์ร่วมเช่นเดียวกันแต่คดีดังกล่าวโจทก์ร่วมขอถอนฟ้องและศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตไปแล้วถือไม่ได้ว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้แล้ว ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องของโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) และการที่โจทก์ร่วมถอนฟ้องคดีดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ ไม่มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานใช้เอกสารปลอมซึ่งมิใช่ความผิดอันยอมความได้ระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องมีใจความว่า จำเลยทั้งสามกับพวกอีกหนึ่งคนซึ่งหลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้องร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งสามกับพวกดังกล่าวร่วมกันปลอมโฉนดที่ดินขึ้นทั้งฉบับ เพื่อให้นางถนอมจิตร์ สุภาสืบ หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการที่แท้จริงและโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางถนอมจิตร์ ราชการกรมที่ดินและประชาชนได้ แล้วจำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันหลอกลวงนางถนอมจิตร์ และนำโฉนดที่ดินปลอมดังกล่าวแสดงต่อนางถนอมจิตร์ว่าพวกของจำเลยคือนายมะหะหมุดนิมา เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินตามโฉนดที่ดินปลอมดังกล่าว อันเป็นความเท็จ เพราะความจริงแล้วพวกของจำเลยดังกล่าวมิได้ชื่อนายมะหะหมุด และมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าว แล้วจำเลยทั้งสามกับพวกได้ขอกู้ยืมเงินจากนางถนอมจิตร์ จำนวน 150,000 บาท โดยให้นางถนอมจิตร์ยึดโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้เป็นประกันเงินกู้ นางถนอมจิตร์หลงเชื่อจึงยอมทำสัญญากู้ยืมเงินอันเป็นเอกสารสิทธิกับชายไม่ทราบชื่อซึ่งใช้ชื่อว่านายมะหะหมุด โดยชายดังกล่าวลงชื่อเป็นลูกหนี้คนหนึ่งในสัญญากู้ยืมเงิน และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ทำให้จำเลยทั้งสามกับพวกได้เงินจากนางถนอมจิตร์จำนวน 150,000 บาทขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 265, 266,268, 341 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ริบโฉนดของกลาง และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินที่ร่วมกันฉ้อโกง 150,000 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย นับโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1223/2531 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 ที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 2 ที่ 1 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณานางถนอมจิตร์ สุภาสืบ ผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 ประกอบด้วยมาตรา 268 วรรคหนึ่ง,341, 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษจำเลยทั้งสาม ตามมาตรา 266 ประกอบด้วยมาตรา 268 วรรคหนึ่งซึ่งเป็นบทหนัก ตามมาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 6 ปี ริบโฉนดของกลาง ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินที่ร่วมกันฉ้อโกง 150,000 บาทแก่ผู้เสียหาย นับโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 ในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1223/2531 ของศาลชั้นต้นตามลำดับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ก่อนส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์สำหรับคดีที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ทุกข้อหาศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 266ให้ยกคำขอที่ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินจำนวน 150,000 บาทแก่โจทก์ร่วมเสีย และไม่นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1223/2531 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจำเลยที่ 3ขอถอนฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ 2 กับชายที่อ้างว่าชื่อนายมะหะหมุด นิมา ร่วมกันทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ร่วมตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.3 โดยมอบโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1ให้โจทก์ร่วมยึดถือไว้เป็นหลักประกัน จำเลยที่ 1 กับที่ 3ร่วมไปกับจำเลยที่ 2 และนายมะหะหมุดด้วย โดยจำเลยที่ 3 ทราบดีว่าโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นเอกสารปลอมและการกู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นวิธีการในการหลอกลวงเอาเงินจากโจทก์ร่วม ปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมในการหลอกลวงโจทก์ร่วมหรือไม่และจำเลยที่ 1 กับที่ 2 มีส่วนร่วมในการใช้เอกสารปลอมหรือไม่โจทก์มีโจทก์ร่วมเป็นพยานเบิกความว่าก่อนวันทำสัญญากู้ยืมเงินจำเลยที่ 2 พาจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไปติดต่อขอกู้เงิน จำเลยที่ 2และที่ 3 แนะนำจำเลยที่ 1 ว่าเป็นอาจารย์อยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจำเลยที่ 1 แนะนำตนเองว่าเป็นหลานของนายมะหะหมุดซึ่งจะเป็นผู้กู้และเป็นเจ้าของร่วมในโฉนดที่ดินที่จะมอบไว้เป็นหลักประกัน ในวันทำสัญญากู้ยืมเงินจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นคนแนะนำให้โจทก์ร่วมรู้จักกับชายที่อ้างว่าเป็นนายมะหะหมุด สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวทำขึ้นที่สำนักงานทนายความของนายอร่าม เทียนวงศ์จำเลยทั้งสามยืนยันกับนายอร่ามว่าที่ดินมีอยู่จริง โดยโจทก์มีนายอร่ามมาเบิกความสนับสนุนว่า ในวันทำสัญญากู้ยืมเงินจำเลยที่ 1 บอกกับพยานว่าเป็นอาจารย์อยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเป็นหลานนายมะหะหมุด จำเลยทั้งสามต่างยืนยันว่าที่ดินมีอยู่จริง เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความสอดคล้องกัน ทั้งไม่ปรากฏว่าเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาก่อนไม่มีเหตุให้ระแวงว่าจะกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยที่ 1 และที่ 2ที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่ามิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดคดีนี้เหตุที่จำเลยที่ 1 ไปกับจำเลยที่ 3 ด้วย เพราะจำเลยที่ 3 ชวนไปเป็นเพื่อนนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ประมาณ3 เดือน จำเลยที่ 2 เคยพาจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไปติดต่อขอกู้ยืมเงินจากนางละม่อม สุทธิวรรณ จำนวน 100,000 บาท โดยจำเลยที่ 3เป็นผู้กู้ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้ำประกันและจำเลยที่ 3 ได้มอบโฉนดที่ดินที่จำเลยที่ 3 ทำปลอมขึ้นให้ไว้เป็นหลักประกันด้วยซึ่งการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เคยร่วมกับจำเลยที่ 3 ในการกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่นมาครั้งหนึ่งแล้ว ย่อมแสดงว่าจำเลยทั้งสามต้องมีความสนิทสนมคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี และทำให้ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 จะเพียงแต่ไปกับจำเลยที่ 3 เพราะจำเลยที่ 3 ชวนไปเป็นเพื่อน นอกจากนี้ที่โจทก์ร่วมและนายอร่ามเบิกความว่าจำเลยที่ 1 แสดงตนเป็นหลานนายมะหะหมุดและอ้างว่าตนเองเป็นอาจารย์อยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั้น จำเลยที่ 1 เบิกความว่าจำเลยที่ 3 เป็นคนแนะนำกับโจทก์ร่วมว่าจำเลยที่ 1 เป็นหลานนายมะหะหมุด แต่ก็ยอมรับว่าตนเองมิได้ปฏิเสธซึ่งเท่ากับยอมรับว่าได้แสดงตนเป็นหลานนายมะหะหมุดจริง และจำเลยที่ 1มิได้นำสืบปฏิเสธเรื่องที่พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความว่า จำเลยที่ 1ได้อ้างว่าตนเองเป็นอาจารย์อยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กล่าวอ้างกับโจทก์ร่วมและนายอร่ามเช่นนั้นด้วย การที่จำเลยที่ 1 แสดงตนเป็นหลานนายมะหะหมุดและอ้างว่าเป็นถึงอาจารย์มหาวิทยาลัย เห็นได้ชัดว่าเป็นการกระทำเพื่อให้โจทก์ร่วมเกิดความเชื่อถือในตัวผู้กู้และโฉนดที่ดินที่นำไปเป็นหลักประกันยิ่งขึ้นนั่นเอง พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1ดังกล่าว ส่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 ต้องทราบว่าโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นโฉนดที่ดินปลอม และมีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 3 ในการนำเอกสารดังกล่าวไปใช้เพื่อฉ้อโกงโจทก์ร่วม ส่วนที่จำเลยที่ 2 นำสืบโต้แย้งว่า การที่จำเลยที่ 2 พาจำเลยที่ 1 ที่ 3 และชายที่อ้างว่า ชื่อนายมะหะหมุดไปขอกู้เงินจากโจทก์ร่วมก็เพียงต้องการค่านายหน้าหลังจากกู้เงินกันเรียบร้อยแล้วจำเลยที่ 3 ให้ค่านายหน้าแก่จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 7,500 บาท เหตุที่จำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้กู้ร่วมด้วย เพราะนายอร่ามกล่าวว่าเช็คที่จำเลยที่ 2ออกให้แก่โจทก์ร่วมไม่เป็นหลักประกันอะไร และจำเลยที่ 2 เห็นว่าที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 มีมูลค่าเพียงพอกับหนี้แล้วนอกจากนี้จำเลยที่ 3 ยังออกเช็คสั่งจ่ายเงิน 150,000 บาทแก่จำเลยที่ 2 ด้วยนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 มีการศึกษาสูงย่อมมีความรอบคอบเกี่ยวกับผลได้ผลเสียเป็นอย่างดี กลับยอมเข้าผูกพันเป็นผู้กู้ร่วมกับชายที่อ้างว่า ชื่อนายมะหะหมุดทั้ง ๆ ที่เพิ่งรู้จักกัน แล้วยังออกเช็คสั่งจ่ายเงิน 150,000 บาท เท่ากับจำนวนเงินกู้มอบแก่โจทก์ร่วมเพื่อหวังค่านายหน้าเพียง 7,500 บาทเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะหากนายมะหะหมุดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ร่วม และโจทก์ร่วมบังคับเอากับที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 ไม่ได้จำเลยที่ 2 ก็ต้องชดใช้เงินแก่โจทก์ร่วมซึ่งไม่คุ้มกับเงินที่ได้เป็นค่านายหน้าข้ออ้างของจำเลยที่ 2ไม่มีเหตุผลสมควร ฟังไม่ขึ้น นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 2 เพิ่งรู้จักกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ไม่นาน ได้พยายามพาจำเลยที่ 1 ที่ 3 ไปขอกู้เงินโจทก์ร่วมถึง 3 ครั้ง และกล่าวรับรองต่อโจทก์ร่วมว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 มีหลักฐานน่าเชื่อถือ โดยจำเลยที่ 2 ไม่เคยตรวจสอบว่าโฉนดที่ดินตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นเอกสารที่แท้จริงหรือไม่และที่ดินดังกล่าว มีราคาเพียงใด ย่อมเป็นพิรุธ ดังนั้นพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวข้างต้น ย่อมเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2รู้อยู่แล้วว่าโฉนดที่ดินตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นโฉนดที่ดินปลอมและนำไปใช้อ้างหลอกลวงโจทก์ร่วมเพื่อให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อยอมให้กู้เงินตามที่จำเลยทั้งสามต้องการ การกระทำของจำเลยที่ 1และที่ 2 จึงเป็นการร่วมกันใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก และจำเลยที่ 1ร่วมฉ้อโกงโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 ด้วยซึ่งการกระทำเฉพาะของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268วรรคแรก ซึ่งเป็นบทหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์ร่วมเคยฟ้องจำเลยที่ 2 ฐานกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1615/2529 ของศาลชั้นต้น คดีทั้งสองสำนวนเกิดจากมูลความผิดเดียวกันถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท โจทก์และจำเลยเป็นคนเดียวกัน เมื่อศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาแล้วถือได้ว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป และเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้อีกจึงเป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 นั้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏในฎีกาของจำเลยที่ 2 เองว่า โจทก์ร่วมยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีดังกล่าว เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2529ภายหลังโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้และศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้แล้ว ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องของโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) และแม้การออกเช็คอันเป็นมูลที่โจทก์ร่วมนำมาฟ้องจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวกับการใช้โฉนดที่ดินปลอมอันเป็นมูลที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยที่ 2 ในคดีนี้จะเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อฉ้อโกงโจทก์ร่วมเช่นเดียวกันแต่ข้อเท็จจริงปรากฏในฎีกาของจำเลยที่ 2 ด้วยว่า คดีดังกล่าวโจทก์ร่วมขอถอนฟ้องและศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตไปแล้ว ถือไม่ได้ว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2เป็นคดีนี้แล้ว ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องของโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4) และการที่โจทก์ร่วมถอนฟ้องคดีดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ ไม่มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานใช้เอกสารปลอมซึ่งมิใช่ความผิดอันยอมความได้ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) ด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่าศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยที่ 2 เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว แต่เนื่องจากจำเลยที่ 2 ชดใช้เงินที่ได้จากการกระทำความผิดทั้งหมดคืนแก่โจทก์ร่วมแล้ว ถือได้ว่าเป็นการบรรเทาผลร้ายแห่งความผิด จึงมีเหตุบรรเทาโทษ เห็นควรลดโทษให้จำเลยที่ 2 อนึ่ง ฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นอกจากที่วินิจฉัยมาเห็นว่าไม่มีสาระแก่คดี แม้วินิจฉัยไปก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่วินิจฉัยให้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดโทษจำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share